วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
Home > Life > นิทรรศการโจเซฟีน

นิทรรศการโจเซฟีน

 

คอลัมน์ From Paris

 

นโปเลอง (Napoléon) เป็นตัวละครในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่มีคนพูดถึงมากคนหนึ่งก็ว่าได้ จากนายทหารเล็กๆ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพในการสงคราม แล้วเป็นผู้นำโดยเรียกว่า Premier Consul ต่อมาได้ปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิ (Empereur) เริ่มต้นยุคจักรวรรดิที่ 1 (Premier Empire) ของฝรั่งเศส

 

เรื่องราวของนโปเลองขาดสีสันหากไม่มีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้อง และผู้หญิงที่เต็มไปด้วยสีสันคนนั้นคือโจเซฟีน (Joséphine)

 

โจเซฟีนเป็นสาวชาวเกาะมาร์ตินิค (Martinique) เกิดในปี 1763 ครอบครัวร่ำรวย มีไร่อ้อยและข้าทาสมากมาย เคยมีหมอดูทำนายว่าเธอจะแต่งงานสองครั้ง ครั้งแรกกับชายที่จะนำเธอไปฝรั่งเศสและจะตายอย่างน่าเวทนา เขาและเธอจะมีลูกสองคน ครั้งที่สองจะแต่งงานกับคนที่ไม่เป็นที่รู้จักและยากจน แต่ในภายหลังจะประสบความรุ่งเรือง โลกจะมาสวามิภักดิ์ เขาจะนำพาเธอไปสู่ตำแหน่งสูงสุดที่ยิ่งใหญ่กว่าตำแหน่งราชินี

 

อเล็กซองดร์ เดอ โบอาร์เนส์ (Alexandre de Beauharnais) จะต้องแต่งงานกับสาวหนึ่ง แต่เธอเสียชีวิตเสียก่อน จึงมาจับคู่กับมารี โจแซฟ โรส ตาเชร์ เดอ ลา ปาเจอรี (Marie Josèphe Tascher de la Pagerie) อันเป็นชื่อเต็มของโจเซฟีน ความเจ้าชู้ของฝ่ายชาย ทำให้ทั้งสองแยกกันอยู่ เธอไปพำนักในวัด Abbaye de Penthemont ทำให้ได้รู้จักสาวจากครอบครัวดีที่ถูกส่งมาที่นี่ด้วย เมื่อออกจากวัด โจเซฟีนไปอยู่กับพ่อสามี มาร์กีส์ เดอ ลา แฟร์ตโบอาร์เนส์ (Marquis de la Ferté-Beauharnais) ที่ปราสาทฟงแตนโบล (Fontainebleau) มีโอกาสร่วมการล่าสัตว์กับคณะของกษัตริย์หลุยส์ 16 และได้พบกับทหารหนุ่มๆ หลายคน

 

ในปี 1788 โจเซฟีนกลับไปมาร์ตินิค เมื่อเกิดการปฏิวัติในปี 1789 จึงเดินทางกลับมาฝรั่งเศสในปีต่อมา

 

อเล็กซองดร์ เดอ โบอาร์เนส์ สามีของโจเซฟีนได้เป็นประธาน Assemblée constituante เมื่อสภาแห่งนี้ถูกยุบ เขาจึงกลับไปเป็นทหารในกองทัพแม่น้ำไรน์ (armée du Rhin) และถูกประหารด้วยเครื่องกีโยตีน (guillotine) ในปี 1794 โจเซฟีนถูกจำขังด้วยข้อหาปกป้องพวกนิยมสถาบันกษัตริย์ แต่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน มาร์กีส เดอ ฟงเตอะเนย์ (Marquise de Fontenay) จึงออกจากคุกมาได้ และเพื่อนอีกคนคือ ชาร์ลส์ ลา บุสซีแอร์ (Charles La Bussière) ช่วยให้หมายข้อกล่าวหาหายไปจากสารบบ

 

ความงามของโจเซฟีน ประกอบกับมีเพื่อนมากมายทำให้เธอได้กลับมาเข้าสังคมชั้นสูงอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับความเกื้อหนุนเป็นพิเศษจากวิกงต์ เดอ บาราส์ (Vicomte de Barras) ซึ่งช่วยให้ได้รับสมบัติของอเล็กซองดร์ เดอ โบอาร์เนส์คืนมา ทั้งๆ ที่เป็นเมียลับของวิกงต์ เดอ บาราส์ โจเซฟีนก็ยังเฟลิร์ตกับหนุ่มหลายคน วิกงต์ เดอ บาราส์อยากปลดเธอออกไปจากชีวิต จึงแนะนำให้รู้จักกับทหารหนุ่มคนหนึ่ง เขาคนนั้นคือ นโปเลอง โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) ซึ่งขอแต่งงานกับเธอ ให้เธอเปลี่ยนชื่อเป็น โจเซฟีน (Joséphine) อันมาจาก โจแซฟ (Josèphe) ซึ่งเป็นชื่อที่สองของเธอ

 

นโปเลองต้องไปการสงครามที่อิตาลี โจเซฟีนก็สนุกกับหนุ่มๆ เมื่อนโปเลองปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี 1804 ก็ได้แต่งตั้งให้โจเซฟีนเป็นจักรพรรดินี แม้ต่างก็มีคู่เชยอื่น แต่ทั้งสองก็ยังมั่นคงต่อกัน นโปเลองคิดอยู่เสมอว่าตนเป็นหมัน จึงไม่มีลูกกับโจเซฟีน บังเอิญให้สนมเอก กงแตส มารี วาลูว์สกา (Comtesse Marie Walewska) มีลูก จึงได้รู้ว่าตนเองไม่ได้เป็นหมัน ความอยากมีลูกทำให้นโปเลองขอหย่าจากโจเซฟีนในปี 1809 พร้อมกับยกพระราชวังเอลีเซ (Palais de l’Elysée) ปราสาทมัลเมซง (château de Malmaison) ปราสาทนาวาร์ (château de Navarre) ให้โจเซฟีน หลังการหย่าโจเซฟีนพำนักที่ปราสาทมัลเมซงจนถึงแก่กรรมในปี 1814

 

โจเซฟีนมีลูกกับอเล็กซองดร์ เดอ โบอาร์เนส์ 2 คนคือ เออแจนโรส (Eugène-Rose) ซึ่งภายหลังได้เป็นอุปราชของอิตาลี (Vice-Roi d’Italie) อีกคนคือออร์ตองส์ เออเจนี เซซีล (Hortense Eugénie Cécile) ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับหลุยส์ โบนาปาร์ต (Louis Bonaparte) น้องชายของนโปเลอง ซึ่งได้เป็นกษัตริย์ของฮอลแลนด์ และออร์ตองส์ เออเจนี เซซีลนี่เองที่เป็นแม่ของหลุยส์นโปเลอง (Louis-Napoléon) ซึ่งภายหลังคือจักรพรรดินโปเลองที่ 3 (Napoléon III)

 

โจเซฟีนเป็นผู้สร้างสไตล์ของจักรวรรดิที่ 1 ด้านการแต่งกาย เธอชื่นชอบเครื่องประดับ และมีช่างเพชรประจำคือ นิโตต์ (Nitot) ซึ่งต่อมารู้กันในชื่อห้างเพชรโชเมต์ (Chaumet) นั่นเอง โจเซฟีนชอบต้นไม้ เธอให้นำเข้าพรรณไม้แปลกๆ มาปลูกที่ปราสาทมัลเมซง และส่งไปปลูกตามสวนอื่นๆ ในโปรวองซ์ (Provence) เช่น ที่ Jardin botanique ที่เมืองนีซ (Nice)

 

2014 เป็นปีที่โจเซฟีนเสียชีวิตครบ 200 ปี Réunion des musées nationaux ร่วมกับปราสาทมัลเมซง และปราสาทบัวส์เพรโอ (château de Bois-Préau) จัดนิทรรศการ Joséphine de Beauharnais, Bicentenaire de sa mort ที่พิพิธภัณฑ์ลุกซองบูรก์ (Musée du Luxembourg) นิทรรศการเล่าเรื่องราวตั้งแต่กำเนิดของเธอในมาร์ตินิค ได้รู้ว่าชื่อเล่นของเธอคือ Yéyette มีห้องที่แสดงเครื่องเพชร เครื่องแต่งกายและเสื้อคลุมสำหรับออกงานทางการซึ่งแต่งด้วยทองหรือดิ้นเงินดิ้นทองหรือไหม มงกุฎ เครื่องเรือนที่เป็นผลงานของช่างไม้ดังในยุคนั้น เช่น Frères Jacob เครื่องถ้วยชามที่ใช้ในปราสาทราชวังต่างๆ เป็นพอร์ซเลนเมืองแซฟวร์ (Sèvres)

 

รสนิยมเลิศหรูของโจเซฟีนหมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เมื่อนโปเลองเป็นผู้นำฝรั่งเศส ราชสำนักต่างๆ ในยุโรปเฝ้าจับตามองโจเซฟีน เธอจึงเปรียบเสมือน “ทูต” ของฝรั่งเศส ความสุรุ่ยสุร่ายของเธอมีประโยชน์ตรงที่เป็นการสนับสนุนช่างฝีมือทั้งหลาย ในยุคจักรวรรดิที่ 1 นี่เองที่อุตสาหกรรมผ้าไหมเมืองลิอง (Lyon) กลับมาเฟื่องฟู รสนิยมของโจเซฟีนเป็นที่ประจักษ์ เมื่อเธอถึงแก่กรรม ซาร์อเล็กซานเดอร์แห่งรัสเซียรีบมาขอรับภาพเขียนและงานศิลป์ของโจเซฟีนหลายชิ้น

 

นิทรรศการนำงานศิลป์กว่า 120 ชิ้นมาแสดง โดยได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) พิพิธภัณฑ์ Ermitage ของเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก Victoria & Albert Museum และสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์คาร์ล XVI กุสตาฟ (Carl XVI Gustaf) แห่งสวีเดน ได้พบว่าโจเซฟีนเป็นคนที่ละเอียดอ่อนมากกว่าภาพที่นักประวัติศาสตร์วาดไว้

 

นอกจากนั้นยังมีอีกนิทรรศการหนึ่งที่กรองด์ ปาเลส์ (Grand Palais) Incomparable Joséphine นำเครื่องเพชรและเครื่องแต่งกายของโจเซฟีนมาแสดง