วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Life > 100 ปีรถประจำทางกรุงปารีส

100 ปีรถประจำทางกรุงปารีส

RATP (Régie autonome des transports parisiens) เป็นองค์กรขนส่งมวลชนกรุงปารีส หากดูแลทั้งรถประจำทางในเมืองหลวงและชานเมือง รถไฟใต้ดินที่เรียกว่า métro และรถไฟที่วิ่งระหว่างปารีสและชานกรุงที่เรียกว่า RER รถประจำทางที่ใช้ส่วนใหญ่มีความยาว 12เมตร และที่มีความยาวพิเศษ 18 เมตรมีประมาณ 100 คันอย่างไรก็ตาม มีรถประจำทางขนาดเล็กเพื่อวิ่งในถนนสายเล็กๆ แคบๆ ดังกรณีสาย Montmartrobus ซึ่งวิ่งในย่านมงต์มาร์ทร์ (Montmartre)

 

รถประจำทางที่ใช้เครื่องยนต์ของกรุงปารีสกำเนิดวันที่ 10 มิถุนายน 1906 จึงมีอายุครบ 100 ปีในปี 2006ในโอกาสนี้ RATP จัดงานรำลึกที่หน้าอาคารเทศบาลเขต 18 (18ème arrodissement ) ของกรุงปารีส ผู้ชมอาจได้รับแจก “หนังสือพิมพ์” ซึ่งผู้โดยสารในครั้งนั้นอาจนำไปอ่านบนรถประจำทาง

 

รถประจำทางสายแรก AM วิ่งระหว่างมงต์มาร์ทร์ (Montmartre) และแซงต์แจร์แมงเดส์แพรส์ (Saint-Germain-des-Prés) เป็นระยะทาง 5.8 กิโลเมตร ในวันนั้น RATP นำรถเมล์เก่า รุ่น Brillié-Schneider P2 มาแสดงและให้ผู้ประสงค์นั่งรถเมล์ยุคแรก ขึ้นได้ 30 คน Brillié-Schneider P2 เป็นรถเมล์สองชั้น ชั้นหนึ่งอยู่ข้างล่าง ส่วนชั้นบนถือเป็นชั้นสอง บรรจุที่นั่ง 14 ที่นั่ง หลังจากนำมาวิ่งไม่นานก็ต้องยุบชั้นบนทิ้ง ด้วยว่าเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำที่จตุรัสเอตวล (Place de l’Etoile)

 

สมัยนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบการเดินรถในกรุงปารีสคือ Compagnie générale des omnibus ต้องเผชิญกับการแข่งขันของรถรางที่เรียกว่า tramway และรถม้าอีกนับพันคัน ที่เรียกว่า omnibus hippomobiles

 

รถประจำทาง autobus นั้น แต่เดิมเรียกว่า omnibus automobile ให้ความสะดวกในการเดินทาง รถม้าจึงค่อยๆ หายไป รถม้าสายสุดท้ายวิ่งระหว่าง Villette – Saint Sulpice เลิกไปในปี 1913 ส่วนรถรางสายสุดท้ายยกเลิกในปี 1937ชนกรุงปารีสเลิกในปีถัดมา

 

รูปแบบของรถประจำทางพัฒนาไปเรื่อยๆ ในปี 1911 รถประจำทางมีชานพักท้ายรถซึ่งอำนวยความสะดวกในการขึ้นลง หลายคนสนุกกับการกระโดดขึ้นรถประจำทางหรือยืนรับลมเย็น ต่อมาในปี 1971 จึงยุบชานพักนี้ทิ้ง

 

การขนส่งมวลชนพัฒนาไม่หยุดยั้ง เมื่อท้องถนนเนืองแน่นด้วยรถยนต์ จึงเกิดรถไฟใต้ดิน ซึ่งเรียกว่า Métropolitain เรียกย่อๆว่า Métro ผู้คนจึงนิยมใช้รถไฟใต้ดินมากกว่า กล่าวคือประมาณ 1,300 ล้านคนต่อปี ถึงกระนั้นรถประจำทางก็ยังมีความจำเป็น และบรรทุกผู้โดยสารปีละ 997 ล้านคนต่อปีด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ารถไฟใต้ดินจะสะดวกต่อการสัญจร ด้วยว่าต้องเดินขึ้นลงบันไดหรือเดินเป็นระยะยาวหากจำเป็นต้องเปลี่ยนรถ ผู้สูงอายุที่ข้อเข่าไม่ดีหรือคนพิการที่นั่งรถเข็นไม่อาจใช้บริการได้ บ่อยครั้งสาวที่เข็นรถลูกอ่อนพะว้าพะวงอยู่หัวบันไดหรือเชิงบันได จนต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นให้ช่วยยกรถเข็น หรือผู้พบเห็นเสนอตัวให้ความช่วยเหลือ จึงไม่แปลกที่เห็นผู้ขึ้นรถประจำทางส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ รถประจำทางที่ต่อใหม่จะคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกแก่คนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้ผู้ที่นั่งรถเข็นสามารถขึ้นรถประจำทางได้

 

นับตั้งแต่มาใช้ชีวิตในเมืองเทศ เคยขึ้นรถประจำทางนับครั้งได้ และขึ้นไม่เป็นอีกต่างหาก ไม่ทราบว่าขึ้นฝั่งนี้แล้วรถจะวิ่งไปถึงจุดหมายหรือวิ่งไปคนละทาง แม้จะดูเส้นทางเดินรถที่ติดตามป้ายรถประจำทางแล้วก็ตาม อาจเป็นเพราะเคยชินกับการใช้รถไฟใต้ดินอันแสนสะดวก ดูแผนที่เส้นทางที่ต้องการไป และดูชื่อต้นทางและปลายทางของรถสายที่จะนั่ง เป็นอันจบเรื่อง การต่อรถก็ใช้เทคนิคเดียวกัน เสียตั๋วใบเดียว อยู่ในสถานีรถไฟใต้ดินได้ทั้งวัน ในทางตรงข้าม ทุกครั้งที่มีการต่อรถประจำทาง ต้องใช้ตั๋วใบใหม่ เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

 

ในทศวรรษ 1960 รถรางหายไปจากชีวิตประจำวันของชาวฝรั่งเศส ใครเลยจะคิดว่าสองทศวรรษต่อมา รถรางกลับมาเป็นพาหนะของชาวเมืองในหลายเมือง เช่น สตราสบูรก์ (Strasbourg) นองต์ (Nantes) เกรอะโนบล์ (Grenoble) เป็นต้น เฉพาะที่เมืองเกรอะโนบล์ การใช้รถยนต์ส่วนตัวลดน้อยลง ในกรุงปารีสเองมีการก่อสร้างเส้นทางรถรางขึ้นใหม่หลายสาย

 

ผู้ประกอบการรถรางคือ Transdev เป็นผู้บริหารรถรางในเมลเบิร์น นอตติงแฮม และในอนาคตอันใกล้ที่เอดินเบอเรอะ และเทเนริฟ บริษัทอัลสตอม (Alstom) เป็นผู้สร้างระบบราง อันว่า Alstom ครองส่วนแบ่งตลาดโลก 27 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2000-2005 นับว่าใหญ่เป็นอันดับสองรองจากซีเมนส์ (Siemens) ของเยอรมนี ส่วนอันดับสามคือ Bombardier ของแคนาดา

 

รถรางกำเนิดในปี 1832 ในสหรัฐอเมริกา รถรางในเมืองนองซี (nancy) ติดเครื่องยนต์ดีเซลและใส่ยางที่ล้อด้วย เพื่อว่าหากระบบขัดข้อง รถรางสามารถวิ่งบนถนนได้เฉกเช่นรถยนต์ หรือรถรางเมืองนีซ (Nice) ที่ติดแบตเตอรี่ไว้ด้วยเพื่อจะสามารถแล่นได้ด้วยตนเองเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตรด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง