วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว: ความเชื่อเรื่องสัตว์ และความอัปมงคล

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว: ความเชื่อเรื่องสัตว์ และความอัปมงคล

 
เหตุการณ์สะเทือนใจจากกรณีแผ่นดินไหวในเนปาล ซึ่งได้รับการเรียกขานว่า Himalayan Earthquake เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่าอาจมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 1 หมื่นราย และคิดเป็นความสูญเสียที่มีมูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่นับรวมถึงผลสืบเนื่องที่จะเกิดและเกี่ยวเนื่องไปสู่โอกาสและอนาคตของเนปาลนับจากนี้
 
เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ซึ่งสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง เกิดขึ้นเมื่อเวลา 11.56 น. ของช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 25 เมษายน และถือเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศเนปาล นับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเนปาล-รัฐพิหาร เมื่อ พ.ศ. 2477 ที่พรากชีวิตผู้คนไปหลายหมื่นชีวิต
 
ผลกระทบที่กำลังติดตามมาจากเหตุวิบัติภัยครั้งนี้ ส่งผลให้นานาชาติต่างส่งมอบและยื่นมือเข้าช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ความห่วงใยและน้ำใจไมตรีที่หลั่งไหลไปช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยในเนปาล แผ่กว้างทั้งในระดับรัฐ เอกชน และที่ดูเหมือนจะขาดไม่ได้ในยุคสมัยปัจจุบันก็คือ การใช้สื่อสังคมสมัยใหม่ เป็นจักรกลในการเชื่อมโยงและแสดงความรู้สึกผ่าน hashtag หลากหลายเพื่อสื่อสารร่วมแสดงความเสียใจต่อความสูญเสีย
 
ขณะเดียวกัน ความกังวลใจในเรื่องผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในสังคมไทย ได้รับการอธิบายจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในสาขาอาชีพต่างๆ อย่างหลากหลาย ถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเกิดเหตุวิปโยคเช่นนี้ และจะเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้อย่างไร
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ เหตุแผ่นดินไหวในหิมาลัยครั้งนี้ เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ภูเขาไฟคัลบูโกทางตอนใต้ของประเทศชิลี กำลังปะทุและระเบิด ปล่อยพ่นหมอกควันและเถ้าลาวาสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินและภาวะเศรษฐกิจของชิลี ไม่น้อยเช่นกัน
 
เถ้าถ่านและหมอกควันที่ถูกปล่อยออกมาจากแรงภูเขาไฟระเบิดได้ปกคลุมพื้นที่อาณาบริเวณกว้าง ซึ่งครอบคลุมแหล่งน้ำและพื้นที่เพาะปลูกและทุ่งหญ้าปศุสัตว์ ซึ่งมีการประเมินว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากภูเขาไฟระเบิดต่ออุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในครั้งนี้ มีมูลค่ารวมกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 20,000 ล้านบาท
 
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโคนมของชิลี ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมใหญ่และหล่อเลี้ยงผู้คนในทวีปอเมริกาใต้กว่าร้อยละ 50 จะเผชิญกับภาวะขาดแคลนการผลิต เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมปลาแซลมอนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกก็จะได้รับผลกระทบจากภูเขาไฟระเบิดในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
 
แม้กรณีแผ่นดินไหวจะได้รับการอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ว่าเกิดขึ้นจากผลของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา และเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติชนิดหนึ่ง แต่ความเป็นไปของโลกโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นประหนึ่งช่องทางในการแสดงออกทางความคิด ความเชื่อ และรสนิยม ของแต่ละปัจเจก อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้
 
เพราะท่ามกลางความเศร้าเสียใจและห่วงกังวล หลังจากเกิดเหตุได้ไม่นาน การ์ตูนนิสต์ชื่อดังของเมืองไทย ก็โพสต์ข้อความผ่าน facebook ระบุเสียดายที่ไม่ได้จัดส่งใครบางคนให้ไปประสบเหตุที่เนปาล ซึ่งแค่ได้คิดก็รู้สึกดียิ่งแล้ว จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์ต่อเนื่องประหนึ่งอาฟเตอร์ช็อกบนโลกออนไลน์ ก่อนที่การ์ตูนนิสต์จะโพสต์ข้อความสำทับอีกว่า นี่เป็นเรื่องส่วนตัว 
 
เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลกครั้งนี้ เลยกลายเป็นปัจจัยให้ผู้คนในสังคมได้เปลือยเปลือกเผยธาตุแท้กันอย่างล่อนจ้อน ภายใต้ข้อสงวนที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว หรือความคิดเห็นส่วนตัวกันอย่างน่าพิจารณา
 
เช่นเดียวกับความวูบไหวที่เกิดขึ้นจากแนวความคิดว่าด้วยบุญกรรม ที่สะท้อนออกมาเป็นความพยายามที่จะให้คำอธิบายปรากฏการณ์เหตุแผ่นดินไหว ด้วยการเชื่อมโยงเข้ากับพิธีกรรมบูชายัญของฮินดูเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2014 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นเพราะเนปาลมีการกระทำที่เป็นอัปมงคลและโหดร้ายจึงถูกลงโทษในลักษณะที่เป็นกฏแห่งกรรม พร้อมกับเผยแพร่ภาพสัตว์ที่ถูกเซ่นสังเวยเจ้าแม่ Gadhimai อย่างเอิกเกริก
 
เหตุการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดในสังคมออนไลน์นี้ เป็นพิธีกรรมของชาวฮินดูในเมือง Bariyarpur เพื่อถวายแด่เจ้าแม่ Gadhimai ซึ่งถือเป็น Goddess of Power หรือเจ้าแม่แห่งพลังอำนาจ ที่ทรงฤทธานุภาพสามารถบันดาลความสุข และมั่งคั่งให้กับผู้ที่บูชา
 
การเซ่นสังเวยชีวิตสัตว์นับพันนับหมื่นชีวิตเพื่อเจ้าแม่ Gadhimai ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่สืบเนื่องมาหลายร้อยปีนี้ กลายเป็นพิธีกรรมสังเวยชีวิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และจะประกอบพิธีกรรมกระทำขึ้นทุกๆ 5 ปี แม้ว่าได้รับเสียงคัดค้านต่อต้านจากกลุ่มปกป้องสิทธิสัตว์มากขึ้นเป็นลำดับก็ตาม
 
ทัศนะที่ว่านี้ ดูจะเข้ากันได้ดีกับสังคมไทยที่เป็นเมืองพุทธและเชื่อมั่นยึดถือในกฏแห่งกรรม แต่อาจจะลืมไปว่าบนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์แต่ละแห่งนี้ ย่อมมีการเข่นฆ่า ทั้งชีวิตสัตว์และชีวิตผู้คน ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์การสร้างสังคมบ้านเมืองมาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
 
ความอัปมงคลแห่งแผ่นดินที่ได้รับการถ่ายทอดและผูกโยงเข้ากับเหตุสลดใจในเนปาล ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์ถึงความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม อย่างกว้างขวาง รวมถึงการหยิบยกกระบวนการผลิตอาหารในประเทศไทย ซึ่งย่อมมีการฆ่าสังเวยชีวิตสัตว์มาเป็นอาหาร และอาจมีจำนวนรวมในแต่ละปีมากกว่าจำนวนสัตว์ที่เข้าประกอบพิธีกรรมของชาวฮินดูในเนปาลแต่ละครั้งนั่นเสียอีก
 
ความเชื่อว่าด้วยกฏแห่งกรรมและความอัปมงคลที่เกิดขึ้นจากเหตุภัยพิบัติที่มีต่อมนุษยชาติ จึงเป็นประหนึ่งภาพสะท้อนมิติมุมมองต่อโลกที่กว้างใหญ่ผ่านเลนส์ม่านตาของแต่ละปัจเจก ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่งว่า ในบริบทที่โลกกำลังดำเนินอยู่บนศตวรรษที่ 21 ซึ่งก้าวหน้าและอุดมด้วยศิลปะ วิทยาการหลากหลายนี้
 
ความเชื่อที่สังคมไทยพึงมีควรจะเป็นอย่างไร และจะสร้างความเป็นมงคลล้างอัปมงคลที่เกาะกุมอยู่ได้มากน้อยเพียงไรหรือไม่