วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ทวาย: ความเคลื่อนไหวในสายลมแล้ง กลางสนามประลองของมหาอำนาจ

ทวาย: ความเคลื่อนไหวในสายลมแล้ง กลางสนามประลองของมหาอำนาจ

 
ข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย กลับมาอยู่ในความสนใจและเป็นประเด็นให้ผู้ที่ติดตามใฝ่ถามหาข้อมูลกันอย่างคึกคัก หลังจากที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวดูจะอุดมไปด้วยความคลุมเครือและไม่ปรากฏท่วงทำนองในทิศทางที่แจ่มชัด ควบคู่กับความล่าช้าที่ทำให้หลายฝ่ายกังวลและสงสัยว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อหรือไม่
 
ย้อนหลังกลับไปอภิมหาโครงการแห่งนี้ ได้รับการประเมินจากหลายฝ่ายว่าเป็นความทะเยอทะยาน และกำลังจะเป็นการวางรากฐานการรุกคืบในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาครั้งสำคัญของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประกอบส่วนกับข้อเท็จจริงที่ว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมิได้มีนัยความหมายจำกัดอยู่เฉพาะบริบทความเป็นไปในเมียนมาร์ หรือแม้แต่ประโยชน์ของเอกชนรายใดรายหนึ่งแต่เพียงลำพัง
 
หากแต่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกำลังปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทั้งด้านการค้าการลงทุน อุตสาหกรรมและการคมนาคมทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจขยายไปสู่บริบทที่กว้างขวางกว่านั้นด้วย
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ด้วยระยะทาง 160 กิโลเมตรของเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายกับด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี จะมีสถานะเป็น land bridge เชื่อมโยงการค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกที่สั้นที่สุด
 
ยังไม่นับรวมเส้นทางที่จะเชื่อมท่าเรือทวาย-กาญจนบุรี-แหลมฉบัง ในลักษณะที่จะเป็นอภิมหาโครงการที่เชื่อมโยงตะวันตก-ตะวันออกของไทย รวมถึงการต่อเชื่อมเข้ากับ Southern Corridor ที่จะมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่อยู่ในแผนพัฒนาเข้ามารองรับโครงการนี้
 
กระนั้นก็ดี ด้วยพื้นฐานและความสืบเนื่องของโครงการที่เกิดขึ้นจากรากและผลของการที่บริษัทเอกชนไทย ได้รับสัมปทานในการพัฒนาพื้นที่ ก่อสร้าง และหาแหล่งทุน ที่มีลำดับขั้นและพัฒนาการมาตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2551 ก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวายตามระยะเวลาการเช่าที่ดิน เป็นเวลามากกว่า 75 ปี ในช่วงปลายปี 2553 
 
ทำให้ความเป็นไปของโครงการที่ว่านี้ ได้รับการประเมินในมิติที่โครงการดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องราวระหว่างเอกชนไทยรายหนึ่ง ที่ได้เข้าไปเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลแห่งเมียนมาร์ โดยที่เอกชนรายที่ว่าก็คงอยู่ในตำแหน่งและบทบาทไม่แตกต่างจาก “นายหน้าที่วิ่งเร่ขายโครงการ” ให้กับผู้ร่วมทุนหรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ
 
การดำเนินการของรัฐบาลไทย เพื่อผลักดันโครงการดังกล่าวในช่วงก่อนหน้านี้ จึงถูกประเมินอย่างเคลือบแคลงว่าเป็นไปเพื่อการโอบอุ้มผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจในเครือข่ายอำนาจหรือไม่ หรือเป็นการเข้าร่วมโครงการอย่างมีวิสัยทัศน์ในเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการกำหนดบทบาทและการพัฒนาในระดับภูมิภาค
 
ซึ่งต้องยอมรับว่ากระบวนการสารนิเทศเกี่ยวกับโครงการทวายนี้มีความด้อยประสิทธิภาพและไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน หรือแม้แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมีแนวทางและกำหนดบทบาทในเชิงยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ไว้อย่างไร
 
และเมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ ก็ดูเหมือนว่าโครงการทวายจะเป็นโครงการลำดับต้นๆ ที่ คสช. ประสงค์จะดำเนินงานสานต่อควบคู่กับแนวความคิดว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) รวมถึงการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 4,500 ล้านบาทให้กับรัฐบาลเมียนมาร์ สำหรับการลงทุนก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการทวายมายังชายแดนประเทศไทย
 
ท่วงทำนองในการขับเคลื่อนของรัฐบาล คสช. ในยุคของคนดีครองเมือง ในกรณีนี้ดูเหมือนจะชัดเจนและจริงจัง อย่างที่ไม่ต้องพึ่งพากระบวนการตรวจสอบ ความเหมาะสมและเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามที่จะชักชวนญี่ปุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง
 
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวติดตามมาด้วยการระบุว่ารัฐบาลญี่ปุ่นตกลงเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการทวายระยะสมบูรณ์ โดยจะเข้าร่วมนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ร่วมกับไทยและเมียนมาร์ ที่ปัจจุบันถือหุ้นใน SPV ฝ่ายละ 50% คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่ายในเร็ววัน
 
การเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการทวายของญี่ปุ่นในด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนความน่าสนใจของโครงการ โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยยุทธศาสตร์และการพัฒนาอย่างไม่ต้องสงสัย หากแต่ในบริบทที่กว้างขวางออกไป ในห้วงยามที่เหล่ามหาอำนาจกำลังต่อสู้กันว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ที่ริเริ่มและมีจีนเป็นผู้ถือธงนำ โครงการที่ทวายอาจเป็นสนามประลองที่อุดมด้วยสีสันอย่างยิ่ง
 
เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนสามารถเปิดตัว AIIB อย่างอลังการ หลังจากที่สามารถระดมสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียหรือ AIIB ได้ถึง 57 ประเทศในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน โดยที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งพยายามรักษาบทบาทนำใน ADB (Asian Development Bank) ได้แต่เฝ้ามองอยู่ในฐานะคนนอก
 
แนวความคิดว่าด้วย AIIB ธนาคารน้องใหม่แห่งนี้ถือกำเนิดในปักกิ่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ภายใต้เป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนด้านการขนส่ง พลังงาน โทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในเอเชีย จึงถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นดำรงสถานะครอบงำอยู่
 
แต่ทางการจีนพยายามยืนยันว่าธนาคาร AIIB จะไม่ใช่คู่แข่งของธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB ดังที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นกังวล และพร้อมยินดีต้อนรับทั้งสองประเทศนี้เข้าเป็นสมาชิกได้ตลอดเวลา
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของ AIIB ก็คือนอกจากเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าปีละ 800,000 ล้านดอลลาร์ โดย AIIB จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ ทางด่วน หรือโครงการด้านพลังงาน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นการเติมเต็มยุทธศาสตร์ในภาพใหญ่ของมหาอำนาจแต่ละแห่ง ที่จะเข้ามากำหนดและจัดวางเงื่อนไขในแต่ละพื้นที่เลยทีเดียว
 
กลไกของ AIIB ที่มีจีนเป็นผู้นำนี้กำลังท้าทายและเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์ทั้งในมิติทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคต โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของชาติชั้นนำของยุโรปได้สะท้อนความกระตือรือร้นที่จะร่วมเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับจีน ซึ่งกำลังเดินหน้าอย่างมีพลวัต และสะท้อนความเสื่อมลงของสหรัฐอเมริกาไปโดยปริยาย
 
กระนั้นก็ดี ชาติชั้นนำในยุโรปที่ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับจีนใน AIIB พยายามสงวนเงื่อนไขบางประการไว้เพื่อทัดทานอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยการบริหารงานอย่างมีมาตรฐาน และมีแนวทางปฏิบัติที่มีธรรมาภิบาล มีมาตรการด้านปกป้องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคม รวมทั้งนโยบายหนี้และการจัดซื้อ
 
แต่นั่นดูเหมือนจะเป็นเพียงข้อต่อรองเพื่อเปิดโอกาสให้ชาติยุโรปเหล่านี้สามารถแทรกตัวเข้าไปในโครงการที่ AIIB จะดำเนินการเท่านั้น เพราะในห้วงปัจจุบันยุโรปก็จำเป็นต้องแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อฉุดรั้งไม่ให้ความถดถอยทางเศรษฐกิจในยุโรปส่งผลร้ายแรงมากไปกว่านี้
 
ความท้าทายสำคัญของจีนนอกจากเรื่องการจัดหาเงินทุนให้กับโครงการเหล่านั้นแล้ว ยังรวมถึงการแบ่งปันภาระหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับสมาชิกทั้ง 57 ประเทศอย่างเท่าเทียม เพราะทุกประเทศต่างต้องการมีส่วนร่วมในธนาคารแห่งใหม่นี้ให้เหมาะสมกับเงินที่ลงทุนไป
 
ดุลยภาพแห่งอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงในระดับนานาชาตินี้ สมควรที่ผู้นำในประเทศจะให้ความสนใจและพิจารณาเป็นพิเศษ ไม่ใช่การประเมินในมิติของการเพิ่มขึ้นของแหล่งเงินทุนที่จะเปิดโอกาสให้เลือกได้มากขึ้นเท่านั้น 
 
เพราะในความเป็นจริง ทุกภาคีที่เข้าร่วมใน AIIB หรือแม้การดำรงอยู่ของ ADB IMF และองค์กรอื่นๆ ต่างมีผลประโยชน์สาธารณะแห่งชาติ ที่ต้องดูแลและแสวงหาด้วยกันทั้งสิ้น 
 
ความเป็นไปของโครงการทวายและความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้านับจากนี้ จึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการวางเป้าหมายพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเฟสแรกบนพื้นที่ 1.7 หมื่นไร่ ด้วยเงินลงทุน 1.7-2 หมื่นล้านบาท เพื่อวางระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค สถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โรงไฟฟ้า ท่าเรือขนาดเล็ก รองรับนักลงทุนที่สนใจใช้พื้นที่ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น
 
หากแต่ควรประเมินว่าจะพัฒนาโครงการทวาย ที่มีสถานะเป็นข้อต่อสำคัญในยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ด้วยพลวัตของการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายนี้อย่างไร และรัฐไทยรวมถึงเอกชนไทยจะสามารถรักษาสถานภาพและเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันที่กำลังทวีความหนักหน่วงขึ้นนี้ด้วยวิธีการเช่นไร
 
ความสำคัญของโครงการทวายและโครงข่ายคมนาคมที่เกี่ยวเนื่องจากโครงการดังกล่าว ซึ่งหลายฝ่ายพยายามโหมประโคมว่าจะเป็นการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน ให้เกิดเป็น ASEAN Corridore อาจกำลังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะมีการประลองสรรพกำลังและแย่งชิงบทบาทนำ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเสนอตัวที่จะเป็นแหล่งเงินทุนในการปล่อยกู้แบบ soft loan ให้กับรัฐบาลของแต่ละประเทศในการยกระดับมาตรฐานโครงข่ายถนนนี้ด้วย
 
แต่ข้อเสนอของญี่ปุ่นในห้วงยามและบริบทปัจจุบันไม่ได้เป็นไปอย่างโดดเดี่ยว หรือเป็นทางเลือกเดียวที่ประเทศในอาเซียนต้องรีบด่วนตัดสินใจ ซึ่งญี่ปุ่นเคยประสบผลสำเร็จในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศผ่าน ODA: Official Development Assistance เหมือนในอดีตอีกแล้ว
 
ตลอดช่วงเวลากว่า 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา จีนพยายามเร่งสร้างบทบาทและขยายอิทธิพลเข้าสู่อาเซียนในฐานะที่เป็นสนามหลังบ้าน และขยายผลประโยชน์ไกลออกไปตามแนวความคิดว่าด้วย 21st Century Silk Route และ String of Pearls ที่มีผลเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง
 
การเกิดขึ้นของ AIIB ในด้านหนึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยหนุนนำให้จีนสามารถบรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ และเป็นการแสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศที่มีส่วนในผลประโยชน์ร่วม อย่างยากจะปฏิเสธ
 
โครงการพัฒนาที่ทวายซึ่งยืดเยื้อและปราศจากความชัดเจนบนหนทางที่ดำเนินไป แม้สังคมไทยพยายามผลักดันด้วยหวังจะขยายโอกาสให้กับเอกชนไทยท่ามกลางบรรยากาศที่ดูเหมือนจะอยู่ในอาการสิ้นหวังในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ก็มิได้อยู่ห่างไกลจากบริบทที่อาจมีผู้แสดงรายใหม่ปรากฏกายขึ้นมามีบทบาทนำในการแสดงแทนแต่อย่างใด
 
แม้ในบริบทของสังคมไทย ทวายอาจเป็นโครงการในความหวังความฝันของใครหลายคน เป็นประหนึ่งหน้าต่างที่จะส่งผ่านให้ไทยได้ออกมามีที่อยู่ที่ยืนในสังคมโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทวายเป็นเพียงข้อต่อขนาดเล็กในห่วงโซ่ขนาดใหญ่ที่มีมหาอำนาจคอยถือและยึดโยงอยู่แล้ว
 
การเกิดขึ้นของ AIIB ซึ่งมีนัยความหมายมากกว่าการเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการกู้ยืม กำลังจะเปิดให้เห็นยุทธศาสตร์ร่วมและ Grand Strategy ที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ความสัมพันธ์และการจัดสรรแบ่งหน้าที่ในระดับนานาชาติอย่างมีนัยสำคัญครั้งใหญ่ และอาจเป็นมาตรฐานใหม่ที่สังคมไทยจำเป็นต้องเร่งเรียนรู้ ก่อนที่จะถูกห้วงเวลาประวัติศาสตร์บดขยี้ให้จมอยู่ในรอยทางของการพัฒนา