วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > On Globalization > กีฬาสี…ญี่ปุ่น

กีฬาสี…ญี่ปุ่น

 
ท่านผู้อ่านรู้สึก เหมือนผู้เขียนบ้างไหมคะว่า การจะหยิบจับเสื้อผ้าอาภรณ์มาใส่ในแต่ละวัน ในช่วงที่ผ่านมาดูจะลำบากและอึดอัดคับข้องกันเหลือเกิน
 
เนื่องเพราะไม่ต้องการให้ถูกจับไปอยู่ฝั่งฟากของความขัดแย้งในมหกรรมกีฬาสีระดับชาติที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 3-4 ปี
 
เรื่องราวของการแบ่งสีในสังคมไทย ไม่ได้จำกัดขอบเขตการรับรู้อยู่เฉพาะในบ้านเมืองเราเท่านั้น หากยังแพร่กว้างออกไปสู่การรับรู้ของต่างชาติ บางแห่งถึงกับออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการให้หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อบางสี หากจะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
 
Travel Advisory ดังกล่าว คงบ่งบอกนัยบางอย่างให้สังคมไทยบ้างไม่มากก็น้อย
 
ในทางกลับกัน เรื่อง “สี” สำหรับสังคมญี่ปุ่นนั้น หากจะคิดถึงในเชิง “สัญญะ” ก็คงจะไม่พ้นสีขาวและสีแดง ซึ่งเป็นสีธงชาติของญี่ปุ่นนั่นเอง
 
“สี” เช่นที่ว่า ก็เป็นอุดมคติของสังคมไทย ที่ต้องการเห็นคนไทยสำนึกในสีของธงชาติไทยร่วมกัน แต่สิ่งเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเรียกร้องกันอย่างหนาหูเพิ่มขึ้น เหมือนกับว่าความสำนึกดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่ 
 
หากจะมองประเทศญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษา ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอยู่ที่ ความสำนึกในเรื่องดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นท่ามกลางการกล่าวอ้าง หรือเกิดขึ้นจากการรณรงค์ร้องขอกันเป็นห้วงๆ
 
เพราะการปลูกฝังในเรื่องของความเป็นหมู่คณะ หรือการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคมญี่ปุ่น เป็นดอกผลของรูปการณ์จิตสำนึก จากการฟันฝ่าความทุกข์ยากของชาติ และเรียนรู้พัฒนาจากสิ่งเหล่านั้นร่วมกันอยู่เสมอ
 
แม้ว่าโศกนาฏกรรม และความเห็นแก่ตัวในสังคมญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เหมือนกับทุกๆ สังคมในโลก แต่กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ของญี่ปุ่น ซึ่งปลูกฝัง “สิทธิ” และ “หน้าที่” อย่างชัดเจน แทบทุกระดับในสังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะการเน้นการมีส่วนร่วม และการทำงานเป็นหมู่คณะ
 
ขณะที่ ยังคงเคารพ “สิทธิ” ความเป็นปัจเจก หรือความเป็นคนส่วนน้อยอยู่เสมอ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นพัฒนาไปมาก
 
การเรียกร้อง “สิทธิ” ใดๆ ของคนญี่ปุ่น ไม่เคยตัดขาดจากความมี “หน้าที่”
 
เมื่อครั้งที่ลูกชายของผู้เขียนมีโอกาสเรียนชั้นอนุบาลและประถมในโรงเรียนญี่ปุ่น ทำให้ผู้เขียนเข้าใจเรื่องดังกล่าวนี้ดียิ่งขึ้น
 
เพราะเด็กๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลของญี่ปุ่น จะได้เรียนรู้และเข้าใจการเป็นหัวหน้าชั้น และการเป็นเวรรับผิดชอบ สลับผลัดเปลี่ยนในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งทำให้เด็กๆ ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้หน้าที่ที่จะให้บริการและรับผิดชอบต่อผู้อื่นอย่างเท่าๆ กัน
 
ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองในญี่ปุ่น ต้องสลับผลัดเปลี่ยนมาเป็นเวรดูแลเส้นทางการสัญจรเข้าสู่โรงเรียนของเด็กร่วมกับคุณครู หรือเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนอยู่เป็นระยะ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองญี่ปุ่น ถือเป็นหน้าที่ และไม่มีใครละเลยที่จะเข้าร่วมกับกิจกรรมของโรงเรียน
 
ที่น่าสนใจก็คือ กีฬาสีของเด็กๆ ประถมญี่ปุ่น ไม่ได้แบ่งเป็นสารพัดสีเหมือนที่เราคุ้นเคยกันในมืองไทย เพราะกีฬาสีของเด็กญี่ปุ่นทั่วประเทศ จะมีแต่สีแดงและสีขาวในทุกโรงเรียน 
 
โรงเรียนญี่ปุ่นไม่ได้มีจุดเน้นอยู่ที่กองเชียร์โป๊งๆ ชึ่ง ที่เน้นการใช้เสียงโหวกเหวกโวยวายหรือมีเชียร์ลีดเดอร์ซึ่งแต่งตัวแต่งหน้าทาปากกันแบบแข่งขันในเวทีประกวดดารา แต่เด็กๆ ผู้ซึ่งนับได้ว่าเป็นเชียร์ลีดเดอร์ญี่ปุ่น ก็จะใส่ชุดแข่งกีฬาสีเดียวแบบเดียวกับนักกีฬาโดยมีเลือดฝาดจากการฝึกฝนทางด้านกีฬาและมีพลังเสียงในการเป็นต้นเสียงสร้างความฮึกเหิม รุกรบให้กับเพื่อนร่วมทีม
 
การแข่งกีฬาแต่ละประเภท จะเวียนให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่กำหนดอยู่แต่นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะไม่กี่คน หากแต่นักเรียนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสร้างคะแนนให้กับทีม เช่น หากมีกีฬาวิ่งแข่ง นักเรียนก็จะแบ่งไปตามชั้นปี และทุกคนมีโอกาสวิ่งทุกคน โดยผลแพ้ชนะจะอยู่ที่ผลคะแนนรวม หลังจากที่ทุกคนทุกชั้นปี ได้มาวิ่งร่วมกันหมดแล้ว
 
กีฬาสีในญี่ปุ่น จะเน้นการแข่งกีฬาที่ต้องดำเนินเป็นหมู่คณะ ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองและเด็กๆ ก็มักจะมีส่วนร่วมด้วย ตั้งแต่การช่วยจัดการ และการอำนวยการต่างๆ ร่วมกับครู รวมไปถึงการร่วมแข่งขันทีมผสม ระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และครู เพื่อกระชับมิตรไมตรี และเสริมสร้างความเป็นหมู่คณะ ภายใต้ “สีแดง” หรือ “สีขาว” เท่านั้น
 
วิธีคิดและวิถีปฏิบัติ อันเป็นสามัญและดูเหมือนเล็กน้อยหากแต่สะท้อนคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของสังคมญี่ปุ่นนี้ หากจะนำมาขบคิดกันต่อ ก็คงจะมีคุณูปการต่อการข้ามพ้นเรื่อง “สี” ในสังคมไทยได้ไม่มากก็น้อยนะคะ