วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > จับตา “บ.วัฒนภักดี” การรุกเข้าคลุมสื่อของ “ฐาปน”?

จับตา “บ.วัฒนภักดี” การรุกเข้าคลุมสื่อของ “ฐาปน”?

 
 
การประกาศมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาหลักอยู่ที่การอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทขึ้นอีกจำนวน 200,000,000 บาท เป็นจำนวน 419,999,865 บาท 
 
โดยการเพิ่มทุนครั้งนี้ ดำเนินไปด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 200,000,000 หุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อจัดสรรและเสนอขายให้แก่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ที่มี ฐาปน สิริวัฒนภักดี และ ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นกรรมการบริษัท ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นมูลค่า 850,000,000 บาท ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น 47.62% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท
 
ข่าวดังกล่าวไม่เพียงแต่จะถือเป็นข่าวใหญ่ที่มีฐานะ big deal ในแวดวงธุรกิจและวงการสื่อในช่วงท้ายปีนี้เท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงยังเป็นภาพสะท้อนการรุกคืบทางธุรกิจของกลุ่มไทยเบฟ และโดยเฉพาะจังหวะก้าวของฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะที่เป็นหัวเรือใหญ่ขององค์กรที่กำลังจะก้าวเดินสู่วิสัยทัศน์ 2020 (Vision 2020) ที่เป็นประหนึ่งเข็มมุ่งและยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
 
เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ฐาปน สิริวัฒนภักดี เพิ่งนำทีมผู้บริหารของ ไทยเบฟเวอเรจ แถลงผลงาน 2 ปีแรกของ Vision 2020 ที่มีจุดหลักใจความอยู่ที่การสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่าง “มั่นคงและยั่งยืน” (Stable and Sustainable) ซึ่งดูเหมือนกลไกส่วนต่างๆ ของไทยเบฟเวอเรจ จะประสบผลสำเร็จและสามารถสร้างความเติบโตมั่งคั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย
 
นัยสำคัญของการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของอมรินทร์จำนวน 2 แสนหุ้น คิดเป็นมูลค่า 850 ล้านบาท เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัลกำลังเผชิญกับสถานการณ์แหลมคมที่ท้าทายอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่สื่อสิ่งพิมพ์หลากหลายสำนักจะประสบปัญหาขาดทุนจากการรุกเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของสื่อดิจิทัลเท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการสื่อดิจิทัลเองก็ประสบปัญหาขาดคอนเทนต์ และค่าโฆษณาสนับสนุนการลงทุนในช่วงก่อนหน้าเช่นกัน
 
อมรินทร์ถือเป็นผู้ประกอบการสื่อที่มีความแข็งแกร่งและโดดเด่นมากรายหนึ่งไม่เฉพาะในฐานะที่มีธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคหลากหลายเท่านั้น หากยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านร้านนายอินทร์ รวมถึงยังขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลผ่านอมรินทร์ทีวี ซึ่งได้มาจากการชนะประมูลช่องสัญญาณมาในช่วงก่อนหน้านี้ 
 
การมีอมรินทร์เข้ามาเพิ่มเติมเป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตโฟลิโอ ไม่ว่าจะโดยผ่านบริษัท วัฒนภักดี ที่อาจจะประเมินว่าเป็นในฐานะธุรกิจส่วนตัวของฐาปนและปณต แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่า กลุ่มเครือธุรกิจในมหาอาณาจักรของเจริญ สิริวัฒนภักดี พร้อมจะขยายแนวธุรกิจออกไปจากธุรกิจสุราเหล้าเบียร์ และธุรกิจเครื่องดื่มที่ถือเป็นธุรกิจหลักในช่วงที่ผ่านมา ไปสู่ธุรกิจที่มีเนื้อหาในเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมยิ่งขึ้นไปอีก
 
โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าของเครือข่ายร้านหนังสือชั้นนำในนาม เอเชียบุ๊คส์ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตโฟลิโอของมหาอาณาจักรที่ขยายตัวเติบโตครอบคลุมไปในหลากหลายมิติ ไม่นับรวมการเกิดขึ้นของสถาบันอย่าง C-ASEAN ที่มีฐาปนดำรงตำแหน่งประธาน และกำลังสร้างปรากฏการณ์และเป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายธุรกิจในภูมิภาคนี้อีกด้วย
 
ประเด็นที่น่าสนใจ ในห้วงเวลานับจากนี้ ในด้านหนึ่งจึงอยู่ที่ว่า หลังการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 47 ในอมรินทร์แล้ว กลุ่มสิริวัฒนภักดีจะมีการดำเนินการหรือเคลื่อนไหวอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจสื่อที่มีเพิ่มเข้ามานี้ให้กับอาณาจักรธุรกิจที่ประกอบส่วนไปด้วย ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักทางธุรกิจของกลุ่มนี้อย่างไร
 
ตลอดช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาอมรินทร์ต้องประสบปัญหาจากผลกระทบว่าด้วยเรื่องของสภาพคล่องทางการเงินที่ใช้เป็นทุนหมุนเวียน หลังจากที่การรุกเข้าสู่ทีวีดิจิทัลในช่วงเริ่มต้นนี้ เผชิญกับข้อเท็จจริงที่ว่าต้องใช้เงินทุนในการดำเนินการสูง ทั้งจากการชำระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลการชำระค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลรายเดือน การชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในดำเนินธุรกิจ ซึ่งเงินที่ได้จากการขายหุ้นครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นไป เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล และชำระหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน
 
ถ้อยแถลงจากฟากฝ่ายของอมรินทร์ก็มีนัยความหมายไม่น้อย เมื่อระบุว่า ภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจทีวีดิจิทัลในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง บริษัทจึงเห็นว่าการที่บริษัทจะมีพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ที่มีความพร้อมในด้านเงินทุนและมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมีสถานะทางการเงินและสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายจะทำให้บริษัทได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการ และยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจได้
 
ก่อนหน้านี้ กลุ่มไทยเบฟเบอเรจเคยเข้าประมูลการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก และนำเอาสิทธิ์ที่ได้นั้นมาจัดกิจกรรมผ่านบริษัท ทศภาค แต่เป้าประสงค์ของการลงทุนในครั้งนั้น ไม่ได้มีมิติที่มุ่งหมายอยู่ที่การเข้าสู่ธุรกิจสื่อมากนัก หากดำเนินไปในลักษณะที่ก้ำกึ่งระหว่างการเป็น CSR และการต่อยอดเพื่อการรับรู้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในเครือ
 
ความเป็นไปของการเข้าซื้อหุ้นอมรินทร์ แม้จะดำเนินไปด้วยวงเงินไม่มากนักหากประเมินจากมิติของกลุ่มผู้ซื้อ แต่ในทางกลับกัน นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ครั้งใหม่ในแวดวงการสื่อที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ หากหมายรวมถึงสื่อดิจิทัลที่ยังไม่มีผู้ใดสามารถประกาศและปักธงนำว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เปิดกว้างนี้ได้อย่างชัดเจน
 
ภูมิทัศน์และผู้แสดงในแวดวงการสื่อนับจากนี้ กำลังมาถึงจุดที่น่าจับตาดูอย่างยิ่งว่าจะมีผู้ใดต้องถูกสถานการณ์กดดันให้ต้องเลือนหาย ในขณะที่ผู้แสดงหน้าใหม่กำลังเบียดแทรกเข้ามาด้วย ปริมาณของเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่และความชำนาญการในทางธุรกิจ ที่อาจทำให้คำว่า วงการสื่อสารมวลชน เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนก็เป็นไป