วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > On Globalization > ผู้หญิงอินเดียถูกไล่ออกจากงานเพราะตั้งครรภ์

ผู้หญิงอินเดียถูกไล่ออกจากงานเพราะตั้งครรภ์

 
Column: Women in Wonderland
 
ประเทศอินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับที่สองของโลก และคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู (80.5%) และอิสลาม (13.4%) ซึ่งทั้งสองศาสนานี้มีกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับผู้หญิงไว้ชัดเจน ทำให้ผู้หญิงอินเดียมีสิทธิในสังคมน้อยกว่าผู้หญิงในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้นับถือสองศาสนานี้
 
อย่างที่ทราบกันดีว่าในศาสนาฮินดูนั้นมีการแบ่งระดับคนไว้ 5 วรรณะ ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ หมายถึงคนที่เป็นนักบวช ทำหน้าที่สอนศาสนา ประกอบพิธีทางศาสนา และให้คำปรึกษากับพระเจ้าแผ่นดิน วรรณะกษัตริย์ หมายถึงคนที่ทำหน้าที่เป็นนักปกครอง หรือเป็นพระเจ้าแผ่นดิน (3) วรรณะแพศย์ หมายถึงพวกเศรษฐี พ่อค้า คหบดี และเกษตรกร  วรรณะศูทร คือพวกกรรมกร และลูกจ้าง และ จัณฑาล ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดในอินเดีย และถูกรังเกียจ เหยียดหยามจากคนในสังคม 
 
จัณฑาล คือเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีวรรณะแตกต่างกัน การแบ่งชนชั้นเหล่านี้อาจจะไม่มีให้เห็นแล้วในเมืองใหญ่ๆ แต่ตามชนบทนั้นการแบ่งชนชั้นเหล่านี้ยังคงมีอยู่ และผู้หญิงอินเดียก็ได้รับผลกระทบจากการแบ่งชนชั้นวรรณะเช่นเดียวกัน
 
อย่างที่กล่าวไว้ตอนเริ่มว่า ประเทศอินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับที่สองของโลก จึงมีประชากรเป็นจำนวนมากที่มีฐานะยากจนและอยู่ในวรรณะต่ำ ผู้หญิงยากจนในวรรณะต่ำที่อาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ นอกจากจะต้องทำหน้าที่เป็นแม่บ้านตามปกติแล้ว พวกเธอยังต้องทำงานหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง ขุดแร่ ปั้นหม้อดิน หว่านข้าว และเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น 
 
ภาพที่สามารถมองเห็นได้ทั่วไปในประเทศอินเดียคือ ผู้หญิงใช้ศีรษะทูนอิฐหรืออุปกรณ์ก่อสร้างอื่นๆ ขณะเดียวกันพวกเธอก็จะอุ้มลูกไว้ที่เอวข้างหนึ่ง เดินไต่ขึ้นลงบันไดที่ค่อนข้างอันตราย เพื่อแลกกับรายได้เพียงน้อยนิด ผู้หญิงอินเดียทำงานหนักมากเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ ในช่วงอายุเดียวกัน
 
แม้จะมีผู้หญิงบางส่วนที่เกิดมาในวรรณะสูงและพวกเธอไม่ต้องทำงานหนักมากเหมือนผู้หญิงที่เกิดในวรรณะต่ำ แต่ผู้หญิงในวรรณะสูงเองก็ต้องปฏิบัติตามประเพณีที่ยึดถือกันมาเช่นกัน ประเพณีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นประเพณีที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียเปรียบ อย่างเช่นการที่ผู้หญิงต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย และการไม่ยอมรับความเป็นหญิงหม้ายในสังคม เป็นต้น
 
ทางใต้ของอินเดีย อย่างเช่นเมืองเดลี มุมไบ และกัลกัตตา ฯลฯ  ผู้หญิงและผู้ชายมีสิทธิในสังคมเกือบเท่าเทียมกัน อย่างเช่นผู้หญิงในเมืองเหล่านี้มีโอกาสทางการศึกษาเท่ากับผู้ชาย และไม่ต้องใช้ผ้าคลุมหน้า เป็นต้น
 
ผู้หญิงในอินเดียสามารถทำงานในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ได้ แต่พวกเธอจะต้องมีความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับบุคคลสำคัญมาก่อน อย่างเช่นนางอินทิรา คานธี ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศอินเดียเพราะเธอเป็นบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีศรีเยาวหราล 
 
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สิทธิของผู้หญิงอินเดียในสังคมได้เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในสังคมก็ตาม เรื่องนี้ต้องขอบคุณนางอินธิรา คานธี ที่ผลักดันให้ผู้หญิงได้รับสิทธิต่างๆ ในสังคมมากขึ้น โดยได้แก้กฎหมายบางอย่าง
 
อย่างเวลานี้ตามกฎหมายของศาสนาฮินดู อนุญาตให้ลูกสาวและลูกชายมีสิทธิในการเป็นเจ้าของบ้านเท่ากัน จากแต่เดิมลูกชายเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ และตามกฎหมายแต่งงาน ยังได้เปลี่ยนให้ผู้หญิงไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ชายเมื่อแต่งงานแล้ว และถ้าหากว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่มีความสุขในการแต่งงาน ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์ขอหย่าได้ เพราะแต่ก่อนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วถือว่าเป็นทรัพย์สินของสามี ที่สามีจะทำอะไรกับพวกเธอก็ได้ และผู้หญิงไม่สามารถขอหย่าจากสามีได้ 
 
การที่ผู้หญิงได้รับสิทธิในสังคมมากขึ้น ทำให้มีผู้หญิงจำนวนมากมีโอกาสในการประกอบอาชีพต่างๆ เหมือนกับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นหมอ นักแสดง นักกฎหมาย และการให้บริการต่างๆ ตามร้านอาหารและโรงแรม 
 
ที่ประเทศอินเดียมีบางบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ จึงเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในการทำงาน และการเลื่อนตำแหน่ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางบริษัทที่ผู้หญิงยังต้องเผชิญปัญหาการแบ่งแยกเพศในที่ทำงาน 
 
เวลาที่ผู้หญิงเข้าไปสมัครงานตามบริษัทต่างๆ พวกเธอมักจะพบคำถามเกี่ยวกับสถานะทางสังคมว่า ยังโสดหรือแต่งงานแล้ว ถ้าโสดมีแผนที่จะแต่งงานเมื่อไร หรือถ้าแต่งงานแล้ว มีแผนจะมีบุตรเมื่อไร ซึ่งคำถามเหล่านี้นายจ้างกลับไม่เคยถามผู้สมัครงานที่เป็นผู้ชายเลย 
 
นอกจากนี้ผู้หญิงอินเดียยังคงต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เมื่อพวกเธอตั้งครรภ์ หรือกลับจากลาคลอด อย่างเช่นว่า ผู้หญิงที่เพิ่งกลับมาทำงานหลังจากลาคลอดมักจะถูกปฏิเสธในการเลื่อนตำแหน่ง เพราะนายจ้างส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่า ผู้หญิงที่ต้องทำงานในตอนกลางวันและเลี้ยงลูกในเวลากลางคืนไม่สามารถทำงานให้บริษัทได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเหมือนผู้ชาย ที่ไม่ได้มีหน้าที่หลักเลี้ยงดูลูกเหมือนผู้หญิง 
 
เรื่องการตั้งครรภ์และการลาคลอด เป็นเรื่องที่ผู้หญิงอินเดียจำนวนมากต้องเผชิญ ถึงแม้ว่าอินเดียจะมีกฎหมายแรงงานอนุญาตให้ผู้หญิงลาคลอดได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายนี้
 
ตามพระราชบัญญัติ Maternity Benefit Act ของประเทศอินเดียมีใจความสำคัญอยู่ 5 ข้อ ระบุว่า (1) ผู้ว่าจ้างไม่สามารถจ้างผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรหรือทำแท้งมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ (2) ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรหรือทำแท้งมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ ทำงานใดๆ ก็ตาม (3) ลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติในวันที่เธอคลอดและหนึ่งวันหลังจากนั้น (4) ลูกจ้างจะได้รับเงินเดือนตามปกติเมื่อลาคลอดก็ต่อเมื่อทำงานที่บริษัทนี้มากกว่า 80 วันในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา และ (5) ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้เป็นเวลา 3 เดือน
 
ถึงแม้จะมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ลูกจ้างสามารถลาคลอดได้ แต่ก็ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ถูกไล่ออกเมื่อพวกเธอขอลาหยุดหลังจากคลอดบุตร ซึ่งนายจ้างได้ให้เหตุผลว่า พวกเธอไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 
 
ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ Aarti Ningoo ซึ่งทำงานในบริษัทโฆษณาที่เมืองมุมไบ เธอเข้าทำงานครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ได้เลื่อนตำแหน่งในเดือนเมษายน 2557 การทำงานของเธอทุกอย่างดูปกติและราบรื่น จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2557 Aarti  รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ เดือนตุลาคมเธอแจ้งบริษัทว่า ขณะนี้เธอกำลังตั้งครรภ์และมีความประสงค์ที่จะขอลาคลอด 
 
ตามกฎของบริษัท ลูกจ้างต้องแจ้งให้นายจ้างรู้ล่วงหน้าว่าประสงค์ที่จะขอลาคลอดได้ตามกฎหมาย และเธอไม่ได้รับการตอบรับจากนายจ้าง เดือนพฤศจิกายน Aarti ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้อำนวยการบริษัทเพื่อสอบถามเรื่องลาคลอดของเธอ แต่ผู้อำนวยการกลับปฏิเสธว่ายังไม่ได้รับรายงาน 
 
พอถึงวันเงินเดือนออก เงินเดือนของเธอยังถูกหักออกอีกส่วนหนึ่งด้วย และวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เธอก็ถูกไล่ออกด้วยเหตุผลว่า ทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน และมีความประพฤติไม่เหมาะสมในที่ทำงาน Aarti  จึงฟ้องบริษัทที่ไล่เธอออกเพราะกำลังตั้งครรภ์และต้องการลาคลอด ตอนนี้คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานในเมืองมุมไบ
 
การที่บริษัทไล่ลูกจ้างหญิงออกเพียงเพราะพวกเธอตั้งครรภ์นั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศอินเดีย แต่ก็ยังมีหลายบริษัทที่ทำเช่นนี้ เพราะผู้หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทนายจ้าง เพราะต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมาก นานกว่าจะชนะคดี ทำให้ปัจจุบันยังมีบริษัทอีกจำนวนมากในอินเดียที่ไล่ผู้หญิงออกเมื่อพวกเธอตั้งครรภ์
 
จากข้อมูลของ World Bank ในปี 2556 พบว่ามีผู้หญิงอินเดียที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปเพียงแค่ 27% เท่านั้น ที่ออกมาทำงานนอกบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างเช่นประเทศจีน ที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านถึง 64% ด้วยกัน สาเหตุหนึ่งที่น่าจะทำให้อินเดียมีผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านน้อยเป็นเพราะพวกเธอส่วนใหญ่มักจะโดนไล่ออกเมื่อพวกเธอตั้งครรภ์ หรือถูกกดดันทางอื่นแทนเมื่อพวกเธอกลับมาทำงานหลังจากลาคลอด ทำให้ตัดสินใจลาออกเอง
 
ศาสตราจารย์ Padmini Swaminathan นักวิจัยอาวุโสที่ Mumbai’s Tata Institute of Social Science ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่ยังต้องใช้เวลาอีกนานในการแก้ไขปัญหานี้ ถึงแม้จะมีผู้หญิงอินเดียที่ได้รับการศึกษาและมีงานทำเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้หญิงอินเดียก็ยังต้องปฏิบัติตามวัฒนธรรมแต่งงานเมื่ออายุน้อย การที่จะให้ผู้หญิงอินเดียปฏิเสธการแต่งงานและความเป็นแม่นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงอินเดียจำนวนมากตัดสินใจลาออกจากงาน และทำหน้าที่แม่อย่างเต็มที่เมื่อพบว่าพวกเธอไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในที่ทำงานเมื่อพวกเธอกลับทำงานหลังจากลาคลอด
 
ในเรื่องนี้รัฐบาลอินเดียยังไม่มีนโยบายหรือการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่บริษัทในอินเดียไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ศาลแรงงานจะตัดสินคดีอย่างไรในหลายๆ กรณีที่ลูกจ้างหญิงได้ไปฟ้องร้องนายจ้าง 
 
ถ้าหากศาลตัดสินให้ลูกจ้างชนะและมีการลงโทษขั้นรุนแรงกับบริษัทที่ทำผิดกฎหมาย ก็คงจะทำให้หลายบริษัทเกิดความกลัว และไม่ทำแบบนี้กับลูกจ้างผู้หญิงคนอื่นๆ อีก
 
 
 
 
ภาพผู้หญิงแบกอุปกรณ์ก่อสร้างไว้บนหัว เป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปตามเมืองในชนบทของประเทศอินเดีย
 
 
 
นางอินธิรา คานธี เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศอินเดียเป็นเวลา 15 ปี และเป็นคนผลักดันให้ผู้หญิงอินเดียมีสิทธิในสังคมมากขึ้น
 
 
 
 
เมื่อผู้หญิงอินเดียตั้งครรภ์ มีหลายบริษัทที่ไล่ผู้หญิงเหล่านี้ออก ด้วยเหตุผลว่า พวกเธอไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ