วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > On Globalization > ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก

 
Column: AYUBOWAN
 
 
“อาโรคฺยปรมา ลาภา” ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นพุทธปรัชญาที่เชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงตระหนักและเข้าใจเป็นอย่างดี ซึ่งในสังคมศรีลังกาที่ถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักก็คงถือคตินี้ไม่แตกต่างกัน
 
หากแต่ช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่ได้รับมรสุมจนเกิดเหตุน้ำท่วมและดินถล่มในหลายพื้นที่ สิ่งที่ติดตามมาก็คือปริมาณน้ำที่ท่วมขังในแต่ละจุดกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเฉพาะยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำพาโรคไข้เลือดออก หรือ Dengue fever อีกด้วย
 
ภาวะการระบาดของไข้เลือดออกในศรีลังกาโดยปกติจะดำเนินเป็นประหนึ่งวงรอบที่มีการระบาดชุกชุมในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่เริ่มมีการระบาดหนาแน่นตั้งแต่เดือนตุลาคมต่อเนื่องมาจนถึงกุมภาพันธ์ โดยมีเดือนธันวาคมและมกราคมเป็นช่วงที่มีการรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยไข้เลือดออกมากที่สุด
 
จากสถิติของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขศรีลังการะบุว่า ในช่วงปี 2014 พบว่ามีผู้ป่วยด้วยไข้เลือดออกสูงมากถึง 47,500 ราย โดยในจำนวนที่ว่านี้เป็นผู้ป่วยในเขตกรุงโคลัมโบมากถึง 15,000 ราย เรียกได้ว่าผู้ป่วยจำนวนกว่า 1 ใน 3 เป็นผู้ป่วยในเขตเมือง
 
ความจริงในเรื่องดังกล่าวนี้อาจแยกพิจารณาได้เป็นสองกรณีคือเขตเมืองเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดกับอีกด้านหนึ่งก็คือผู้คนในเขตเมืองมีโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาลมากกว่าผู้คนในเขตห่างไกล ทำให้สถิติเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประชากรชาวโคลัมโบ
 
อย่างไรก็ดี การควบคุมโรคไข้เลือดออกของศรีลังกาในช่วงปีถัดมานับว่าประสบผลสำเร็จพอสมควรเพราะในปี 2015 จำนวนผู้ป่วยด้วยไข้ dengue ลดลงเหลือเพียง 30,000 รายหรือลดลงจากปีก่อนหน้ามากกว่าร้อยละ 30 เลยทีเดียว
 
กระบวนการในการติดตามโรคของศรีลังกานับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เพราะนอกจากจะติดตามความคืบหน้าอาการป่วยของผู้ติดเชื้อแต่ละรายผ่านโครงข่ายโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขแล้ว หน่วยงานเทศบาลในพื้นที่ก็ทำงานประสานเพื่อป้องกันการระบาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในพื้นที่เสี่ยงด้วย
 
แต่สำหรับปี 2016 ดูเหมือนว่าสถานการณ์ไข้ Dengue ในศรีลังกาจะกลับเข้าสู่ภาวะที่ต้องวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อปรากฏว่าเพียงระยะเวลา 6 เดือนของครึ่งปีแรกก็มีจำนวนผู้ป่วยไข้ Dengue เข้ารับการรักษาพยาบาลแล้ว รวมกว่า 25,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากการป่วยนี้รวม 44 ราย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานราชการอื่นๆ ของศรีลังกาพยายามกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาเหตุนี้อย่างเร่งด่วน
 
มาตรการหนึ่งที่น่าสนใจมากอยู่ที่การใช้ข้อกำหนดทางกฎหมายดำเนินคดีกับเจ้าของพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยในช่วงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ รวมกว่า 64,000 แห่ง และดำเนินคดีกับเจ้าของพื้นที่รวมกว่า 1 พันรายในข้อหาที่ละเลยและปล่อยให้พื้นที่ในการครอบครองเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
 
กรณีที่น่าสนใจมากรายหนึ่งอยู่ที่การควบคุมตัวผู้อำนวยการโครงการ ผู้รับผิดชอบพื้นที่เขตงานก่อสร้างโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวที่กำลังก่อสร้างอยู่ริมทะเลใจกลางกรุงโคลัมโบ ไปดำเนินคดี พร้อมกับมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้เกี่ยวข้องจัดการกับพื้นที่โดยด่วน รวมถึงการบังคับให้เสียค่าปรับ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามคำเตือน อาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างไปโดยปริยาย
 
มาตรการเชิงรุกอย่างจริงจังของศรีลังกาในมิติที่ว่านี้ น่าสนใจและโพ้นไปจากการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้และขอความร่วมมือจากแต่ละครัวเรือนในการร่วมกันป้องกันการระบาดของโรคไปไม่น้อยเลย 
 
แต่หากพิจารณาผ่านบริบทของสังคมไทย มาตรการเช่นว่านี้ นอกจากจะสุ่มเสี่ยงต่อการบังคับใช้กฏหมายในการจัดการกับพื้นที่ของเอกชนแต่ละราย ทั้งในมิติของการละเลยหรือการใช้อำนาจโดยมิชอบเรียกรับผลประโยชน์แล้ว
 
ประเด็นที่น่ากังวลมากอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ พื้นที่สาธารณะรวมถึงสถานที่ราชการจำนวนไม่น้อยกลับมีสภาพเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคร้ายนี้เสียเอง แล้วเราจะจัดการเก็บกวาดหรือสร้างสุขลักษณะที่ดีให้สังคมได้อย่างไร
 
หรือเราต้องรอให้สังคมไทยเป็นไข้เลือดออก แบบที่เลือดไหลไม่หยุดกันไปจนถึงแก่ชีวิตกันเสียก่อน