วันพุธ, เมษายน 17, 2024
Home > On Globalization > ซากุระ ร่วง

ซากุระ ร่วง

 
บรรยากาศของญี่ปุ่นช่วงเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน คงไม่มีสิ่งใดโดดเด่นไปกว่า ดอกซากุระที่เริ่มทยอยผลิบาน พร้อมๆ กับการเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
 
หลายท่านคงคิดถึงการเดินทางไป Hanami ชมความงามของดอกซากุระที่กำลังผลิบานถึงถิ่น ซึ่งสถานที่สำหรับชมดอกซากุระ แม้จะมีอยู่หลายแห่งหลายที่ แต่หนึ่งในจำนวนนั้น คงไม่พ้น Ueno park ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในกรุงโตเกียวที่คนไทยคุ้นเคย
 
ขณะที่ Aoyama Cemetery ก็ขึ้นชื่อโดดเด่นและมีความสวยงามไม่แพ้กัน แม้ชื่อและบรรยากาศโดยรอบจะให้ความรู้สึกที่แปลกแตกต่าง และละม้ายการไปเช็งเม้งในต่างแดนมากไปสักหน่อยก็ตาม 
 
แต่การเปลี่ยนผ่านใช่ว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะกับฤดูกาล เพราะชีวิตของชาวญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ก็ดำเนินไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้วย
 
เพราะในวันที่ 1 เมษายนของทุกปีจะถือเป็นวันเริ่มต้นบริบทใหม่ๆ ของชาวญี่ปุ่นแทบทุกระดับชั้น 
 
นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของปีงบประมาณใหม่ พนักงานเริ่มเข้าทำงานวันแรก โรงเรียนแต่ละแห่งจะเริ่มเปิดเทอมใหม่ในช่วงเวลานี้ด้วย
 
ผู้เขียนเคยต้องพาลูกชายเข้าเรียนชั้นประถมหนึ่งในกรุงโตเกียว ซึ่งในวันแรกของภาคเรียน โรงเรียนจัดให้มีการปฐมนิเทศและพิธีฉลองการเปิดภาคเรียนโดยเชิญผู้ปกครองเข้าร่วมพิธี ซึ่งทั้งเด็กและผู้ปกครองต่างแต่งกายสวยงาม โดยคุณแม่จำนวนไม่น้อยจะแต่งชุดกิโมโนมาร่วมในโอกาสซึ่งถือเป็นวันสำคัญของชีวิตการเป็นนักเรียนเลยทีเดียว
 
โดยมีฉากหลังของดอกซากุระเบ่งบานควบคู่กันไป นับเป็นการปฐมนิเทศ ที่มีสีสันที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยผ่านพบมาเลยก็ว่าได้
 
ขณะเดียวกันนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งเพิ่งผ่านฉลองการรับปริญญาในช่วงเดือนมีนาคมและได้รับการคัดเลือกให้เป็นพนักงานในแต่ละบริษัท จะเตรียมตัวเริ่มชีวิตการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน
 
ภาพของขบวนแถวของผู้ปกครองและเด็กประถมหนึ่งที่เข้าเรียนในวันแรก ที่เคลื่อนผ่านแถวของพนักงานใหม่ จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่เห็นได้ทั่วไปในเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นในห้วงเวลานี้เช่นกัน
 
ถามว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าหนุ่มสาวที่กำลังเดินผ่านเราเป็นพนักงานใหม่ของบริษัท
 
ขอเรียนว่ามีวิธีสังเกตได้ไม่ยากเลย
 
เพราะพนักงานใหม่ของแทบทุกบริษัทซึ่งต้องผ่านการอบรมจากบริษัทที่รับเข้าทำงาน จะต้องสวมเชิ้ตขาว กระโปรง หรือกางเกงสีดำ สวมเสื้อสูท โดยผู้ชายต้องผูกเนกไทสีดำ และพวกเขาจะต้องอยู่ในชุดที่ว่านี้ไปนานกว่า 1 เดือน จนกว่าการอบรมจะสิ้นสุด
 
ฟังดูเหมือนกลับไปเป็นนักเรียนใหม่ ใส่ยูนิฟอร์มอีกครั้ง
 
ขณะเดียวกัน ผู้เขียนเข้าใจว่าหลายท่านอาจรำลึกถึงเมื่อครั้งเป็นนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่ง ซึ่งต้องมีพิธีรับน้องใหม่ นัยว่าเพื่อเป็นการละลายพฤติกรรม
 
ในญี่ปุ่น เรื่องราวประมาณนี้ก็มีนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพนักงานใหม่นั้น ปรากฏการณ์นี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป
 
เพราะการเข้าทำงานในช่วงที่ดอกซากุระกำลังจะผลิบานนี้ ทำให้พนักงานใหม่มีหน้าที่ต้องผลัดเวรกันไปจับจองพื้นที่ในการนั่งชมดอกซากุระ ก่อนที่จะมานั่งดื่มกิน แนะนำตัวและทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานระดับต่างๆ
 
วิธีการในการจับจองพื้นที่ ก็ไม่ได้มีพิธีกรรมที่ยากเย็นแต่อย่างใด เพียงมีเสื่อหรือผ้าพลาสติกปูไว้ให้เห็นเป็นเขตอาณา ก็ถือเป็นอันใช้ได้ เพียงแต่ต้องเสียเวลาและกำลังคนมานั่งเฝ้าไว้สักหน่อยว่ามีเจ้าของแล้ว
 
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า การจับจองพื้นที่ให้ได้ทัศนียภาพที่ดีและกว้างขวางพอเหมาะกับจำนวนสมาชิกที่จะเข้าร่วม Hanami นี่สิ ถือเป็นการประเมินความสามารถและวัดกึ๋นของพนักงานใหม่ไปในตัว
 
บททดสอบในแบบที่ว่านี้ อาจทำให้พนักงานใหม่หลายคนรู้สึกลำบากใจ แต่ก็น่าจะดีกว่าการไม่ได้รับโอกาสให้เป็นพนักงานใหม่มาจับจองที่นั่งสำหรับ hanami ในปีนี้ 
 
เพราะผลสืบเนื่องของสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปี กำลังส่งให้บริษัทหลายแห่งต้องปลดพนักงานหลายอัตรา ซึ่งแทบจะไม่ต้องกล่าวถึงการรับพนักงานใหม่เลยละว่าจะอยู่ในภาวะเช่นใด
 
ความงามของดอกซากุระซึ่งทำให้กิจกรรมและความเป็นไปของ hanami ในแต่ละปีดำเนินไปท่ามกลางความรื่นรมย์ แต่ในห้วงยามที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และอุปสรรคของการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริงที่พ้นจากรั้วของมหาวิทยาลัย ซึ่งพร้อมโถมเข้าใส่ อาจทำให้หลายคนคงรู้สึกเศร้าระคนเปลี่ยวเหงา ไม่ต่างจากการเห็นซากุระปลิดกลีบดอกร่วงหล่นจากต้น ก็เป็นได้นะคะ