วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > CRC ขยับทัพ หนุน Family Mart ชิงส่วนแบ่ง

CRC ขยับทัพ หนุน Family Mart ชิงส่วนแบ่ง

 

ขณะที่ผู้บริหารของกลุ่ม CP ALL เคยตั้งเป้าหมายในการขยายร้าน 7-11 ให้ครบ 1 หมื่นร้านในปี 2560 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่กลุ่ม ‘เซ็นทรัล’ เจ้าของร้านสะดวกซื้อแบรนด์ Family Mart ตั้งเป้าขยายร้านให้ได้ 3 พันร้าน แม้จะเป็นแค่ 30% ของจำนวนร้านของคู่แข่ง แต่ในแง่ของมูลค่าตลาด นั่นหมายถึงยอดขายหลายหมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน สาขาร้าน 7-11 มีประมาณ 7,500 สาขา ขณะที่แฟมิลี่มาร์ทเพิ่งประกาศครบ 1 พันสาขาเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา จากต้นปีที่มีจำนวนสาขาเพียง 800 สาขา ‘เครื่องทุ่นแรง’ ที่ทำให้แฟมิลี่มาร์ทก้าวสู่ 1 พันสาขาก่อนสิ้นปี คือการปรับซูเปอร์มาร์เก็ตไซส์เล็กสุดอย่าง “ท็อปส์เดลี่” มาเป็นร้านแฟมิลี่มาร์ท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา
 
อันที่จริง หลังการเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่าง ‘เซ็นทรัล รีเทล คอปอร์เรชั่น’ หรือ CRC กับบริษัท แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 กันยายน ปีที่ผ่ามา ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้กล่าวไว้แต่แรกว่า CRC จะเพิ่มศักยภาพในการบุกตลาดร้านสะดวกซื้อด้วยการทยอยปรับร้านท็อปส์เดลี่มาเป็นแฟมิลี่มาร์ท ซึ่งถือเป็นหนึ่งสัญญาณความเอาจริงในธุรกิจร้านสะดวกซื้อของผู้บริหาร CRC

จากวันนั้น ก็เป็นเวลาปีกว่า ณัฐ วงศ์พาณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท มองว่า แม้เป็นความตั้งใจแต่ต้น และถึงจะเป็น ‘ดีล’ ของบริษัทเครือเดียวกัน แต่ในกระบวนการทำให้ดีลลงตัวจำเป็นต้องใช้เวลา

สำหรับเฟสแรก ร้านท็อปส์เดลี่ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 250 ตร.ม. จะถูกปรับมาเป็นร้านแฟมิลี่มาร์ททั้งสิ้น 74 สาขา โดยจะเริ่มทยอยเปลี่ยนป้ายและปรับร้านให้เสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2557 โดยคาดว่าจะใช้งบไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการถ่ายโอนสินทรัพย์ที่เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท ต้องจ่ายให้กับเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล เจ้าของท็อปส์เดลี่

ความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัทในเครือ CRC ครั้งนี้ ยังทำให้อยู่ๆ แฟมิลี่มาร์ทก็มีร้านในทำเลสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งที่เชียงใหม่ ตรัง พังงา นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ เป็นต้น และทำให้มีร้านแฟมิลี่มาร์ทที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น โดยใหญ่สุดคือ 250 ตร.ม.

ร้านที่ปรับมาจากท็อปส์เดลี่ที่มีขนาดใหญ่กว่าร้านทั่วไปจะรองรับสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 4,500 รายการ จากที่เคยขายแค่ 3,500 รายการ นี่จะทำให้ร้านเหล่านี้มีสินค้าที่ไม่เคยมีขายในแฟมิลี่มาร์ท เช่น ผัก ผลไม้ อาหารพร้อมปรุง และสินค้าที่ขายแพ็กใหญ่ขึ้น เช่น ข้าวสาร ผงซักฟอก เป็นต้น 

ในทำเลที่ดี ร้านแฟมิลี่มาร์ทที่มีขนาดใหญ่บางร้านจะถูกปรับให้มีบรรยากาศที่ ‘พรีเมี่ยม’ ขึ้น มีสินค้าและขนมจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น และมีมุมกาแฟสด “เซกาเฟรโด” แบรนด์ร้านกาแฟของกลุ่มเซ็นทรัล มุมขนมอบ (pastry) มุมอาหารพร้อมปรุง (กึ่งครัวเปิด) และมุมทานอาหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นโมเดลร้านรูปแบบใหม่

‘แฟมิลี่มาร์ท พรีเมี่ยม’ เป็นร้านรูปแบบใหม่ที่นำคอนเซ็ปต์ร้าน Famima (แฟมิมะ) ในญี่ปุ่นมาประยุกต์ โดยจุดยืนของโมเดลนี้ คือเป็นร้านระดับพรีเมี่ยม จับกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนัก พิถีพิถัน โดยมีสินค้า อาหาร และขนมนำเข้าจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ร้านโมเดลนี้เปิดแล้วที่คอนโด Rhythm รัชดา และ Aspire พระรามสี่

นอกจากนี้ แฟมิลี่มาร์ทยังจะได้รับโอกาสไปเปิดในปั๊มคาลเท็กซ์เป็นรายแรกๆ เนื่องจากคาลเท็กซ์เป็นพันธมิตรกับท็อปส์เดลี่มาก่อน ยุทธศาสตร์ปรับร้านครั้งนี้ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของกลุ่ม CRC เพราะช่วยลดความสับสนและซ้ำซ้อนระหว่างแฟมิลี่มาร์ทกับร้านท็อปส์เดลี่ไซส์เล็กลงไป เนื่องจากก่อนเป็นเจ้าของ Family Mart กลุ่ม CRC ได้ใช้ท็อปส์เดลี่เป็นหมากรุกในตลาดร้านสะดวกซื้อมาก่อน

“เราบริหารท็อปส์เดลี่มานาน ก่อนนี้เนื่องจากร้านมีหลายขนาด ทำให้ต้องบริหารแต่ละร้านไม่เหมือนกัน จึงเกิดความไม่เด่นชัดเรื่องของแบรนด์และทำให้ลูกค้าสับสน แต่จากนี้ไป ท็อปส์เดลี่กับแฟมิลี่มารท์อาจอยู่พื้นที่ใกล้กันได้ เพราะรูปแบบและเซกเมนต์ลูกค้าของเราจะต่างกันชัดเจน”

อลิสเตอร์ เทย์เลอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ยืนยันว่า บริษัทจะยังคงขยายร้านท็อปส์เดลี่ต่อไป โดยจะเน้นคอนเซ็ปต์ ‘มินิซูเปอร์มาร์เก็ต’ เป็นการตอบโจทย์การช้อปปิ้งเพื่อ “รีฟิล” สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ทุกวัน 

ปัจจุบัน ร้านท็อปส์เดลี่เหลือ 12 สาขา ก่อนสิ้นปีจะเปิดอีก 2 สาขา ส่วนปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 24 สาขา สำหรับร้านท็อปส์ทุกรูปแบบ ปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 60 สาขา คาดว่าต้องใช้งบลงทุนกว่า 1.5 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ ณ สิ้นปีนี้ ของกลุ่มท็อปส์ คาดว่าจะแตะ 3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่แฟมิลี่มาร์ทจะจบสิ้นปีนี้ด้วย 1,040 ร้าน ในปีหน้าน่าจะเปิดร้านเพิ่มไม่ต่ำกว่า 200 สาขา และภายในสิ้นปี 2560 ตั้งเป้าไปถึง 3 พันร้าน ส่วนรายได้ ณ สิ้นปี คาดว่าจะอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท

“ก้าวนี้สะท้อนว่าเรารุกจริงจังในตลาดร้านสะดวกซื้อ แต่เราก็ไม่หวังว่าจะแซง ‘เบอร์หนึ่ง’ ได้เพราะเขาไปไกลแล้ว เพียงแต่เราอยากมีจุดยืนในตลาด เพราะตลาดนี้ใหญ่มาก ในปี 2560 ถ้าเรามี 3 พันร้าน ผู้นำตลาดอาจมีเป็นหมื่นร้าน เราก็เป็นแค่ 30% แต่ในแง่มูลค่าตลาด มันหมายถึงยอดขายหลายหมื่นล้านบาท” ณัฐกล่าว

ข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า ในปี 2555 กลุ่มร้านสะดวกซื้อมีรายได้รวมประมาณ 2.1 แสนล้านบาท โดย 92.55% หรือราว 1.95 แสนล้านบาท เป็นรายได้ของร้าน 7-11 ขณะที่รายได้รวมของกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งหมดราว 4.07 หมื่นล้านบาท ผู้นำกลุ่มอย่าง ‘Tops’ มีรายได้เกือบ 2.77 หมื่นล้านบาท หรือ 67% นี่ก็ชี้ให้เห็นว่าตลาดร้านสะดวกซื้อนั้นเย้ายวนใจมากกว่านัก

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเซ็นทรัลจึงทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อผลักดันแฟมิลี่มาร์ทในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ทั้งการพัฒนาสินค้าร่วมกับบริษัทในเครือ การใช้ระบบ Logistic และ Merchandise ร่วมกัน ฯลฯ โดยเฉพาะการนำเครื่องมือ CRM ที่เป็นจุดแข็งของกลุ่มเซ็นทรัล คือ SPOT Reward และ The One Card มาใช้ในร้าน รวมถึงการเปิดร้านในศูนย์การค้าหรืออาคารสำนักงานของกลุ่ม CPN เป็นต้น 

ขณะที่แฟมิลี่มาร์ทเองก็มีหลากกลยุทธ์เพื่อสร้างความต่าง โดยเฉพาะการมีร้านรูปแบบใหม่ให้เหมาะสมกับและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทำเล นอกจากรูปแบบพรีเมี่ยม ก็ยังมีรถจำหน่ายสินค้า, ‘คิออส’ และตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น ส่วนจะมีกี่รูปแบบบ้าง ณัฐบอกว่ายังอยู่ในการพิจารณา

ความเย้ายวนของตลาดร้านสะดวกซื้อดึงดูด ‘ผู้เล่น’ ให้เข้ามากราย กลายเป็นเชื้อปะทุยิ่งทำให้การแข่งขันดุเดือด เพราะไม่เพียงปะทะ ‘เบอร์หนึ่ง’ แฟมิลี่มาร์ทยังต้องฝ่าฟันกับหลากผู้ท้าชิง ‘สายแข็ง’ ที่ต่างก็หวังชิงตำแหน่ง ‘เบอร์สอง’ 

อาทิ ‘ลอว์สัน108’ คู่แข่งจากค่ายสหพัฒน์ฯ ที่ชูคอนเซ็ปต์ร้านสะดวกซื้อระดับพรีเมี่ยม อันเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ ‘แฟมิลี่มาร์ท พรีเมี่ยม’ และมี ‘สองยักษ์’ จากกลุ่ม Discount Store อย่างเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ที่ลดไซส์และปรับร้านเพื่อลงมาเล่นตลาดร้านสะดวกซื้อและมินิซูเปอร์ฯ อย่างจริงจัง

ส่วน ‘ผู้นำตลาด’ ก็หาได้ทำแค่ขยายร้านไปเรื่อย แต่ยังหาโอกาสชิงตลาดกลับคืนทุกเมื่อ โดยล่าสุด ร้าน 7-11 ได้สกัดแฟมิลี่มาร์ทจนหลุดจากโครงการคอนโดของ LPN ด้วยการเข้าเป็นพันธมิตรแทนที่แฟมิลี่มาร์ท นอกจากนี้ยังมีการแย่งชิงเป็นพันธมิตรกับค่ายปั๊มน้ำมัน เพื่อชิงโอกาสในการเปิดร้านในปั๊ม ฯลฯ 

แม้การแข่งขันจะรุนแรง แต่ตราบที่ร้านสะดวกซื้อยังเปิดใหม่ตลอดเวลา ก็หมายความว่า ‘Red Ocean’ แห่งนี้ยังมี ‘โอกาส’ เพียงแต่อาจต้องระดม ‘สรรพกำลัง’ และ ‘สายป่าน’ มากหน่อยเพื่อแย่งชิงมา ซึ่งปรากฏการณ์คราวนี้ของ CRC ก็คือภาพสะท้อนดังกล่าว