วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2024
Home > Life > อาหารมหัศจรรย์เพื่อสุขภาพมหัศจรรย์ (3)

อาหารมหัศจรรย์เพื่อสุขภาพมหัศจรรย์ (3)

 

อาหารป้องกันมะเร็งเต้านม
ดอกกะหล่ำ

ผลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า ดอกกะหล่ำอุดมไปด้วยสารเอนไซม์ต้านมะเร็ง “ซัลโฟราเฟน” ที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม โดยรบกวนไม่ให้เซลล์แบ่งตัว
 
ดอกกะหล่ำยังมีสารที่เรียกว่า 13C ที่มีคุณสมบัติอาจลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ เพราะเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เซลล์เนื้อเยื่อแบ่งตัวมากขึ้น
 
ข้อแนะนำคือ ให้นำดอกกะหล่ำมาย่างหรือนึ่ง แต่ห้ามต้มเด็ดขาด เพราะผลการวิจัยระบุว่า การต้มทำให้สารต่อต้านมะเร็งปนออกมาในน้ำต้มถึงร้อยละ 75

มันเทศ
Dr.La Puma แห่งสถาบันศึกษาสุขภาพสตรี มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า ในมันเทศหนึ่งหัวยาว 5 นิ้ว มีเบตา – แคโรทีน (ซึ่งเป็นสารแคโรทีนอยด์ที่ช่วยให้ร่างกายของคุณเผาผลาญฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ดีขึ้น) ถึง 11,062 ไมโครกรัม
 
ผู้หญิงที่ร่างกายมีเบตา – แคโรทีนและสารแคโรทีนอยด์อื่น ๆ ในระดับต่ำสุด มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสองเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้มีสารดังกล่าวในร่างกายในระดับสูงสุด

ซอสมะเขือเทศ
ผลการวิจัยพบว่า ไลโคปีนซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระอันทรงพลังที่พบในซอสมะเขือเทศ อาจช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ ด้วยการทำให้อนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์มีความเป็นกลาง
 
ผลการศึกษายังยืนยันว่า ไลโคปีนสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมในหลอดทดลอง รวมทั้งยับยั้งเนื้องอกในหนูด้วย
 
ไลโคปีนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าเมื่อถูกความร้อน ดังนั้น การบริโภคมะเขือเทศที่สุกแล้วจึงดีกว่าการบริโภคมะเขือเทศดิบ ไลโคปีนยังละลายในไขมัน จึงแนะนำให้เติมน้ำมันมะกอกลงไปเล็กน้อยเพื่อช่วยการดูดซึม

หลีกเลี่ยงส้มเกรปฟรุต
ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน 46,000 คนเป็นเวลา 9 ปีของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า การบริโภคส้มเกรปฟรุตเพียง 1 ใน 4 ของผลทุกวัน หรือเพียงครึ่งผลวันเว้นวัน อาจทำให้ผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนเพิ่มโอกาสพัฒนามะเร็งเต้านมได้ถึงร้อยละ 30
 
แม้แพทย์ยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่ผลการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ส้มเกรปฟรุตมีปฏิสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน และช่วยเพิ่มพลังของฮอร์โมนเอสโตรเจนได้มากจนกระทั่งคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ บังคับให้ผลิตภัณฑ์ประเภทฮอร์โมนทดแทนต้องติดป้ายเตือนเกี่ยวกับการบริโภคน้ำเกรปฟรุตด้วย

อาหารบำรุงปอด
edamame

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of the American Medical Association เปิดเผยว่า ผู้ตกเป็นเหยื่อของมะเร็งปอด มีแนวโน้มมีสารไฟโตเอสโตรเจนที่ได้จากพืชในปริมาณต่ำ ผู้หญิงที่บริโภคอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจนในปริมาณสูงสุด เช่น edamame เต้าหู้ และถั่วเลนทิลส์ สามารถลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอดได้ราวร้อยละ 34

ข้าวกล้อง
อุดมด้วยเซลิเนียมซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันการจับตัวของอนุมูลอิสระที่ทำลายปอด ผลการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์พบว่า ผู้ที่บริโภคอาหารที่มีเซลิเนียมในปริมาณสูงสุด เสี่ยงต่อการเป็นหอบหืดน้อยกว่าผู้บริโภคในปริมาณน้อยที่สุดถึงเกือบสองเท่า ดังนั้น เพียงคุณบริโภคอาหารที่อุดมด้วยเซลิเนียมในปริมาณไม่มาก เช่น ขนมปังโฮลวีท และไข่ คุณจะได้รับเซลิเนียมทันที 55 ไมโครกรัม ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันแล้ว

ลูกแพร์
เป็นผลไม้ที่มีเคอร์ซิทิน ซึ่งเป็นฟลาโวนอยด์อันทรงพลังที่อาจช่วยปกป้องปอดของคุณได้ ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 13,000 คนในประเทศเนเธอร์แลนด์พบว่า ผู้บริโภคลูกแพร์มากที่สุด (รวมถึงแอปเปิลที่มีเคอร์ซิทินเช่นกัน) จะมีปอดที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาในออสเตรเลียที่ระบุว่า การบริโภคลูกแพร์และแอปเปิลในปริมาณมาก สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงจากการเป็นหอบหืดได้อย่างมากด้วย

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสม
Dr.La Puma แนะนำว่า ถ้าคุณเป็นหอบหืด ให้หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสม ซึ่งมีส่วนผสมของสารปรุงแต่งอาหาร เช่น ผงชูรส และซัลไฟต์ ที่ทำให้อาการกำเริบรุนแรงขึ้น

อาหารบำรุงระบบข้อ
น้ำมันมะกอก

ผลการศึกษาในประเทศบราซิลระบุว่า การบริโภคน้ำมันมะกอกเพียง 2 ช้อนชาต่อวัน อาจช่วยทุเลาอาการปวดข้อและอาการข้อติดในเวลาเช้าหลังตื่นนอนได้มาก ทั้งยังยืนยันผลการวิจัยว่า การบริโภคน้ำมันมะกอกปริมาณมากอาจลดความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ถึงร้อยละ 60

ส้ม
Dr.La Puma อธิบายว่า วิตามินซีช่วยกระตุ้นการทำงานของยืนที่ช่วยการสังเคราะห์กระดูกอ่อน ผู้ที่บริโภคอาหารที่มีวิตามินซีปริมาณสูงสุด จะสูญเสียกระดูกอ่อนน้อยกว่าผู้ที่บริโภคในปริมาณน้อยที่สุดถึงร้อยละ 70 และทำให้เป็นโรคข้อเสื่อมช้าลงถึงร้อยละ 300

หลีกเลี่ยงเบียร์และสุรา
 
ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 14,000 คนของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่า ถ้าคุณมีปัญหาโรคเกาต์ ให้หลีกเลี่ยงการดื่มเบียร์ (การดื่มเบียร์เพียงวันละแก้ว ทำให้ระดับของกรดยูริกสูงขึ้นราวร้อยละ 15 ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้เป็นโรคเกาต์ได้) หรือสุรา (ทำให้กรดยูริกสูงขึ้นราวร้อยละ 12)

อาหารบำรุงผิวหนัง
ทูน่ากระป๋อง

ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ร่วม 500 คนในออสเตรเลีย ระบุว่า อาหารหลักประจำครัวนี้อุดมด้วยเซลิเนียม ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์ผิวหนังจากการทำลายของแสงแดด ผู้ที่มีเซลิเนียมในกระแสเลือดปริมาณสูงสุดจะเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด basal cell carcinoma น้อยลงร้อยละ 57 และลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด squamous cell carcinoma ลงร้อยละ 64 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้มีเซลิเนียมในกระแสเลือดปริมาณต่ำสุด ร่างกายต้องการเซลิเนียมวันละ 55 ไมโครกรัม ซึ่งพบในทูน่ากระป๋องปริมาณไม่ถึง 3 ออนซ์ด้วยซ้ำ

ช็อกโกแลตดำ
ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ผู้หญิงที่ดื่มผงโกโก้ซึ่งมีฟลาโวนอยด์สูงเพียงวันละ 2 ช้อนโต๊ะทุกวัน นาน 12 สัปดาห์ จะมีผิวหนังเรียบขึ้นมากและผิวหนังมีความชุ่มชื้นขึ้นด้วย ซึ่งผลที่ได้ใกล้เคียงกับการบริโภคช็อกโกแลตดำที่มีฟลาโวนอยด์สูงวันละหนึ่งออนซ์เช่นกัน

ชาดำกับผิวส้ม
ผลการศึกษาของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ดาร์ทมัธกล่าวว่า นักดื่มชาลดความเสี่ยงจากมะเร็งผิวหนังได้ครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่จิบชาวันละ 2 ถ้วยหรือมากกว่า อาจเป็นเพราะสารโพลีฟีนอลส์ในชาที่ช่วยปกป้องผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลต
 
ผลการวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา ให้ข้อมูลว่า ในชาดำใส่ผิวส้มจะช่วยเพิ่มพลังต่อต้านมะเร็งมากขึ้น เพราะธีอาฟลาวินส์ในชาดำกับดีไลโมนีนในผิวส้ม ออกฤทธิ์ร่วมกัน ทำให้ลดความเสี่ยงจากมะเร็งผิวหนังชนิด squamous cell carcinoma ราวร้อยละ 88

น้ำแครอต
น้ำแครอตหนึ่งถ้วย (ซึ่งเท่ากับแครอตหนึ่งปอนด์) ให้เบตา – แคโรทีน (ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระอันทรงพลังที่ผลการศึกษาหลายชิ้นยืนยันว่า สามารถปกป้องผิวหนังจากการถูกแสงแดดแผดเผาได้) 22 มิลลิกรัม ยิ่งคุณดื่มมากเท่าไร ก็ยิ่งได้รับการปกป้องมากขึ้นเท่านั้น

หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
ผลการศึกษาหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 แก้วต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด basal cell carcinoma ถึงร้อยละ 30

 

ที่มา : นิตยสาร Prevention: Big Book of Walking

Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว