วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > ศุภลักษณ์ อัมพุช “เดอะมอลล์” พร้อมรบ

ศุภลักษณ์ อัมพุช “เดอะมอลล์” พร้อมรบ

 

หลังจากซุ่มเงียบอยู่นานหลายปี ตั้งแต่ผุดบิ๊กโปรเจ็กต์ “สยามพารากอน” เพื่อจัดทัพเข้าสู่สมรภูมิค้าปลีกครั้งใหม่  ล่าสุด “ศุภลักษณ์ อัมพุช” เปิดแผนลงทุนมูลค่ามหาศาลชุดแรกของบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และประกาศผลักดันรายได้ทะลุ 1 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี โดยมีตลาดอาเซียนกว่า 600 ล้านคนเป็นเป้าหมายใหญ่ และยกระดับการเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชีย  
 
ตามแผนของศุภลักษณ์ ปี 2557 จะเป็นปีที่ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” มีการขับเคลื่อนมากที่สุด เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ “เออีซี” ในปี 2558  โดยวางหมุดในการสร้างศูนย์กลางชอปปิ้งที่เรียกว่า “District” หรือ “ย่าน” ต่อเนื่องจากการปักหมุดแรก ผุดโครงการศูนย์การค้า “สยามพารากอน” ในย่านสยามสแควร์ ซึ่งถือเป็น “Downtown”  ของกรุงเทพมหานคร
 
เป้าหมายต่อไป คือการสร้างย่านชอปปิ้งอีก 2 จุดใหญ่ คือ “Midtown” ในย่านสุขุมวิท และ “Uptown” ในย่านบางนา โดยเฉพาะย่านบางนาถือเป็นสมรภูมิใหม่ มีพื้นที่เอื้อต่อการสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และเป็นย่านชานเมืองที่เดอะมอลล์มีความถนัดในการปลุกปั้นทำเลทองให้ “ตื่น” แม้มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่าง “เมกาบางนา” เข้าไปยึดพื้นที่ รวมถึงกลุ่มคู่แข่งอย่างเครือเซ็นทรัลที่จับทำเลอยู่นานหลายปี
 
แน่นอนว่า ศุภลักษณ์สั่งสมประสบการณ์จนค้นพบ “ปัจจัย” สำคัญของการทำธุรกิจศูนย์การค้า ตั้งแต่ยุคของ ศุภชัย อัมพุช ที่ตัดสินใจเปิดธุรกิจห้างสรรพสินค้า อาศัยกำลังหลัก ลูกๆ 4 คนจากทั้งหมด 7 คน เข้ามาร่วมลุยงานยุคบุกเบิก คือ สุรัตน์ อัมพุช ศุภลักษณ์ อัมพุช กฤษณา อัมพุช และสุทธิพงษ์ อัมพุช โดยเปิดสาขาแรก เดอะมอลล์ สาขาราชดำริ จนกระทั่งปิดให้บริษัท นารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยน จำกัด เช่าดำเนินการ เป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรม
 
เส้นทางหลังจากปิดให้บริการสาขาราชดำริทำให้เดอะมอลล์ กรุ๊ป เบนเข็มเปิดศูนย์การค้าชานเมือง ลุยทำเลใหม่ย่านรามคำแหง โดยเปิด “เดอะมอลล์ 2” เมื่อปี 2526 จับกลุ่มนักศึกษาและชนชั้นกลาง ซึ่งถือเป็น “ของใหม่” ในตลาด และสร้างความตื่นเต้นให้กลุ่มนักชอปจนกวาดยอดขายเติบโตทะลุเป้า ต้องผุดศูนย์การค้าบนฝั่งถนนตรงข้าม ภายใต้แนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “เดอะมอลล์ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์” หรือ “เดอะมอลล์ 3” มีการสร้างสะพานเลื่อนลอยฟ้าเชื่อมพื้นที่ทั้งสองศูนย์
 
ห่างจากเดอะมอลล์ 3 เพียงนิดเดียว กลุ่มอัมพุชฉายวิสัยทัศน์การสร้างย่านชอปปิ้ง เปิดศูนย์ความบันเทิงและศูนย์รวมร้านอาหารนานาชนิด “เดอะมอลล์ 4” กลายเป็นศูนย์การค้าครบวงจรแห่งแรกในย่านรามคำแหง
 
ปี 2532 เปิดตัว เดอะมอลล์ สาขาท่าพระหรือ “เดอะมอลล์ 5” ซึ่งถือเป็นศูนย์การค้าครบวงจรขนาดใหญ่ที่มีสวนสนุกและสวนน้ำลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทยภายในอาคารเดียวกัน พื้นที่กว่า 150,000 ตารางเมตร
 
ปี 2534 เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ตอกย้ำแนวคิดการทำศูนย์การค้าที่เน้น “ความใหญ่” เป็นหัวใจสำคัญ พื้นที่มากกว่า 250,000 ตร.ม.
 
3 ปีต่อมา เดอะมอลล์ทุ่มทุนเปิดศูนย์การค้า 2 โครงการ 2 มุมเมืองพร้อมกัน  คือ เดอะมอลล์ สาขาบางแค   (เดอะมอลล์ 7) และสาขาบางกะปิ (เดอะมอลล์ 8) ในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 รวมพื้นที่ทั้งสองสาขากว่า 600,000 ตร.ม.เป็นศูนย์การค้าครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของเดอะมอลล์ในเวลานั้น  มีสวนน้ำ-สวนสนุก และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ รองรับการจัดงานแสดงขนาดใหญ่
 
ปี 2543 กลุ่มอัมพุชเริ่มรุกขยายสู่ต่างจังหวัด เปิดสาขาโคราช เนื้อที่ 52 ไร่ มีพื้นที่ค้าปลีกกว่า 200,000ตร.ม.
 
ขณะเดียวกัน จากธุรกิจศูนย์การค้าที่จับกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง เดอะมอลล์กรุ๊ปขยายเซกเมนต์เข้าสู่ตลาดไฮเอนด์ เปิดตัว “ดิ เอ็มโพเรียม” ในปี 2540 จับทำเลย่านสุขุมวิทเป็นโครงการแรก
 
ปี  2548 ประกาศร่วมทุนกับบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด จัดตั้งบริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด  เปิดตัวศูนย์การค้า “สยามพารากอน” มูลค่าลงทุน  15,000 ล้านบาท มีพื้นที่กว่า 500,000 ตร.ม.
 
ระหว่างนั้นกลุ่มอัมพุชพยายามขยายตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าร่วมประมูลและได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการโครงการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ประเภทสินค้า บริการ และประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ภายในอาคารผู้โดยสาร 1 ท่าอากาศยานดอนเมือง จากบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิด “ดอะมอลล์ สกายพอร์ต” อายุสัญญา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555
 
ช่วง 3 ทศวรรษกับศูนย์การค้า 12 แห่ง การก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 ภายใต้แผนลงทุนมูลค่ามหาศาลกำลังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในอาณาจักรค้าปลีกของกลุ่มตระกูลอัมพุช โดยเฉพาะแนวคิดการลงทุนธุรกิจศูนย์การค้าในรูปแบบการสร้างศูนย์กลางการชอปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในแต่ละโซน นอกเหนือจากการลงทุนรีโนเวตสาขาที่มีอยู่เดิม เพื่อยกระดับตามไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป
 
การเปิดตัวโครงการเชื่อม 3 ศูนย์การค้า คือ ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และ ดิ เอ็มสเฟียร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการรุกสงครามค้าปลีกตามยุทธศาสตร์การสร้างย่านชอปปิ้งของตัวเอง เพื่อควบคุมแนวคิดโครงการ ควบคุมกลยุทธ์การทำตลาด รวมถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ต้องการใช้ศูนย์การค้ารอบข้างเข้ามาเป็นปัจจัย ซึ่งเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญของย่านสยามสแควร์ที่มีศูนย์การค้าใหญ่อยู่ในบริเวณเดียว ต่างค่ายต่างทำ และในที่สุดกลายเป็น “จุดขาย” ซ้ำซ้อนกัน ไม่แตกต่างกัน ทั้งร้านค้าแบรนด์เนม หรือกลยุทธ์ต่างๆ
 
ไม่ว่าจะเป็นสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หรือแม้กระทั่งสยามพารากอน แต่อาจเป็นจุดแข็งของ “สยามสแควร์” ในฐานะดาวน์ทาวน์ เหมือนย่านกินซ่าในญี่ปุ่น หรือฟิฟท์อะเวนิวในนครนิวยอร์ก และเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ ที่ช่วยดึงดูดกลุ่มนักชอปจากทั่วสารทิศจนล้นทะลัก
 
นั่นทำให้ศุภลักษณ์เห็นศักยภาพมากมายในการกระจายนักชอปมาสู่บริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะถนนสุขุมวิท เพื่อสร้างย่านชอปปิ้งใหม่เหมือนย่านโอโมเตะซานโดะ และร็อปปองงิ หรือกรุงปารีส ที่มีความเป็นวัฒนธรรม ศิลปะ ไลฟ์สไตล์ และไม่ใช่การผุดศูนย์การค้ากระจัดกระจายอย่างคู่แข่ง
 
ปัจจุบันย่านสุขุมวิทมีคอนโดมิเนียมมากกว่า 40,000 ยูนิต อาคารสำนักงานมากกว่า 800,000 ตร.ม. มีโรงแรมระดับ 4-5 ดาว คิดเป็นจำนวนห้องมากกว่า 10,000 ห้อง และในอนาคตจะเติบโตอีกหลายเท่าตัว ทั้งโครงการคอนโดมิเนียมและโรงแรมหรู ขณะเดียวกันเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีทั้งกลุ่มเศรษฐีเก่าและเศรษฐีใหม่ ซึ่งถือเป็นนักจับจ่ายที่มีกำลังซื้อสูงมาก ไม่นับรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มขยายตัวจากปีละ 20 ล้านคน เป็น 40 ล้านคนภายในระยะเวลา 5 ปี
 
ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการยกระดับใจกลางสุขุมวิท หรือ The Epicenter of Sukhumvit  โดยผนึก 3 โครงการศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส ประกอบด้วย ดิ เอ็มโพเรียม (The Emporium) ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) และ ดิ เอ็มสเฟียร์ (The Emsphere)  เนื้อที่รวมกัน 50 ไร่ พื้นที่โครงการทั้งหมด 650,000 ตร.ม. งบลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ การปรับโฉมใหม่ทั้งหมดของ ดิ เอ็มโพเรียมจะเสร็จปลายปี 2557 พร้อมๆ กับการเปิดให้บริการ ดิ เอ็มควอเทียร์  ส่วนโครงการ ดิ เอ็มสเฟียร์ จะเปิดให้บริการในปี 2559 ซึ่งแต่ละศูนย์การค้าจะมีความแตกต่างกัน โดย  ดิ เอ็มโพเรียม จะเป็นที่สุดแห่งการชอปปิ้งอย่างมีระดับ หรือ “The Ultimate Shopping Complex”
 
ดิ เอ็มควอเทียร์จะเป็นมิติใหม่ของรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ธรรมดา หรือ The Extraordinary Life เช่น การสร้างสวนธรรมชาติ ขนาด 4,000 ตร.ม. น้ำตกสูง 40 เมตร เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน ฟิตเนสชื่อดังอย่างเวอร์จิ้น แอ็กทีฟ ของริชาร์ด แบรนสัน ศูนย์รวมไดนิ่งและแฮงเอาต์  โดยจะเปิดให้บริการดึกขึ้นกว่าปกติ
 
ส่วนดิ เอ็มสเฟียร์ จะเป็นความเร้าใจใหม่ของคนกรุงเทพฯ หรือ The Vibe of Bangkok has never experienced before ซึ่งศุภลักษณ์ยังไม่เปิดเผยแนวคิดและรูปแบบโครงการ แต่ยืนยันว่าจะเป็นตัวฉีกธุรกิจศูนย์การค้าให้ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
 
ด้านแผนปลุก “Uptown” ย่านบางนา จะเป็นการปักหมุดศูนย์การค้าเดอะมอลล์บางนา ชอปปิ้งมอลล์ ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมี “ความใหญ่” เป็นหัวใจสำคัญ เพื่อชนกับ “เมกาบางนา”
 
นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิด เดอะมอลล์ภูเก็ต รวมถึงโครงการ “บลูพอร์ต หัวหิน รีสอร์ท” ที่ร่วมกับพันธมิตรกลุ่มบริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด ของตระกูลลิปตพัลลภ สร้างศูนย์การค้ารูปแบบรีสอร์ตมอลล์ เนื้อที่ 25 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวม 140,000 ตร.ม. เงินลงทุน 4,000 ล้านบาท  โดยมุ่งมั่นจะเปิดบริการให้ได้ในปี 2558 เพื่อเปิดโซนชอปปิ้งแห่งใหม่ในหัวหิน
 
แน่นอนว่า เดอะมอลล์ กรุ๊ป ต้องสร้างทีมผู้บริหารครั้งใหญ่ โดยตลอด 1-2 ปี มีการดึงมือดีเข้ามาเสริมทีมอย่างต่อเนื่องและเร่งปรับโครงสร้างใหม่ครั้งสุดท้ายเพื่อรองรับนิวโปรเจ็กต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น แมทธิว กิจโอธาน อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ทอม ฮูเซล อดีตผู้บริหารจาก “อิเกีย” วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ จากซิตี้แบงก์ จักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล จากโซนี่ไทย ชัยโรจน์ ศรีเดชะรินทร์กุล จากแซมโซไนท์
 
รวมถึงการอัดหลักสูตรเร่งรัดทายาทรุ่นที่ 3 อย่างวิภา อัมพุช  ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส Corporate Image หรือฝั่ง “ภัทรประสิทธิ์” อย่างวรามาศ ภัทรประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส Food Development ซึ่งรับผิดชอบดูแลงานด้านรีโนเวตและหาร้านค้าสำหรับพื้นที่ฟู้ดฮอลล์ แม้ต้องใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกระยะหนึ่ง แต่มีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในเวลาอันใกล้
 
ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เดอะมอลล์อาจไม่มีการลงทุนโครงการใหม่ เพราะมีจุดอ่อนเรื่องคน ผู้บริหารตามโครงสร้างเดิมล้วนเป็นคนรุ่นบุกเบิก อายุมากกว่า 50 ปี ขาดช่วงต่อของคนอายุ 40 ปีและนักบริหารรุ่นใหม่  แต่การประเดิมเปิดแผนลงทุน 3 โครงการยักษ์ ย่อมเป็นการเป่านกหวีดส่งสัญญาณให้คู่ต่อสู้เตรียมรับมือการแข่งขันที่ไม่ใช่การทำธุรกิจศูนย์การค้ารูปแบบเดิมๆ อีกแล้ว