วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > “เอสเอฟ” รุกธุรกิจคอมเพล็กซ์ ดัน “MAYA” สร้างฐานกลางเชียงใหม่

“เอสเอฟ” รุกธุรกิจคอมเพล็กซ์ ดัน “MAYA” สร้างฐานกลางเชียงใหม่

 

“เป้าหมายไม่ใช่เบอร์ 1 ทุกอย่างต้องเติบโตอย่างมีทิศทาง อย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ใช่อะไรที่ฉาบฉวยแล้วหายไป”
 
จากจุดเริ่มต้น โรงหนัง “ศรีตราดราม่า” หน้าตลาดสดในจังหวัดตราดเมื่อ 40 กว่าปีก่อน 
 
วันนี้ เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ สร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มีโรงภาพยนตร์ชั้นนำกระจายอยู่ทั่วประเทศ 32 สาขา จำนวนมากกว่า 200 โรง และล่าสุดขยายอาณาจักรเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดโครงการศูนย์การค้า “เม-ญ่า” (MAYA) ไลฟ์สไตล์ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ ที่เรียกว่า “The Art of Retailtainment” บนถนนนิมมานเหมินท์ ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ประธานบริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด ถือเป็นจังหวะและโอกาสที่จะนำประสบการณ์และจุดแข็งที่สั่งสมมาตลอดชีวิต เพื่อสร้างฐานธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่มั่นคงที่สุด 
 
ตามแผน “เมญ่า” จะเปิดให้บริการภายในปลายปี 2556  และต้องการเป็น “แลนด์มาร์ค” ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก เป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับ 2 ของประเทศไทย และอันดับ 1 ของภาคเหนือ มีเงินหมุนเวียนในจังหวัดมากกว่า 39,000 ล้านบาท จำนวนประชากร 1.7 ล้านคน มีกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อจาก 5 จังหวัดข้างเคียง คือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และตาก จำนวนกว่า 2 ล้านคนต่อปี และมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเฉลี่ยมากกว่า 5 ล้านคนต่อปี 
 
ในอนาคต ความเป็นเกตเวย์ของเชียงใหม่ยังเชื่อมโยงไปประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียน และจีน รวมทั้งการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ล้วนส่งเสริมให้กำลังซื้อมีแนวโน้มเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง  ซึ่งเม-ญ่าถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับใบอนุญาตใบสุดท้ายในเขตเทศบาลเมือง 
 
ขณะที่ศูนย์การค้าที่มีอยู่ของค่ายเซ็นทรัลและศูนย์ที่กำลังก่อสร้าง ทั้งเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ หรือโครงการโพรเมนาดา เชียงใหม่ ของ “อีซีซีกรุ๊ป” กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์จากเนเธอร์แลนด์ จะอยู่นอกเมืองห่างออกไป
 
“การขยายธุรกิจใหม่ถือเป็นช่วงจังหวะที่เราขยายโรงภาพยนตร์ในระดับหนึ่ง บวกกับสิ่งที่มองมาตลอด คือ ช่องทางและโอกาส อย่างที่นี่ เชียงใหม่ใหญ่มากแต่มีศูนย์การค้า 2  แห่ง โรงหนังแห่งเดียว เราไม่ได้มีความขัดแย้งกับศูนย์การค้าที่เป็นพันธมิตร เราแยกธุรกิจ ถ้าในส่วนโรงภาพยนตร์จะขยายควบคู่ไปกับศูนย์การค้า ส่วนจุดหรือจังหวัดไหนที่มีกำลังซื้อแต่ยังไม่เกิดศูนย์ เราพร้อมทำ เหมือนเชียงใหม่ เพื่อตอบโจทย์กำลังซื้อ ตอบโจทย์ทำเลทอง  ถ้าให้เซ็นทรัลมาทำตรงนี้ก็ทำไม่ได้ เพราะเซ็นทรัลต้องใช้ที่ 50-60 ไร่ สเกลใหญ่ เราทำตรงนี้ได้เพราะไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้นและไม่ได้เล็กด้วย คอมแพคอยู่ในตัวมัน มีแองเคอร์ โรงหนัง ร้านค้า ร้านอาหาร ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนตรงนี้ มิกซ์แอนด์แมทช์ ลงตัว”
 
สำหรับ “เม-ญ่า” สาขาแรกที่เชียงใหม่มีเนื้อที่รวม 9 ไร่ พื้นที่กว่า 80,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ร้านค้าปลีก 35,000 ตร.ม. 220 ร้านค้า จำนวน  6 ชั้น เริ่มจาก Strolling Mart เป็นพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและแผนกTake Home, Cosmo Boullevard ศูนย์รวมแฟชั่นและผลิตภัณฑ์ความงามแบรนด์ดังระดับเวิลด์คลาสจากทั่วทุกมุมโลก, Stylish Avenue รวมสินค้าเทรนด์แฟชั่นและเครื่องประดับแบรนด์ดังระดับโลก, Digitech Street รวมสินค้าเทคโนโลยีและGadgetธนาคาร และร้านหนังสือ, Food Bazaar รวมอาหารนานาชาติ และร้านอาหารไลฟ์สไตล์ ฟู้ด วิลเลจ
อีก 2 ชั้น ซึ่งเป็นไฮไลต์ คือ Cinematic Arena เป็นพื้นที่ของโรงภาพยนตร์ระดับเวิลด์คลาสSFX Cinemaและ Nimman Hill เป็นจุดชมวิวเมืองเชียงใหม่แบบพาโนราม่า 
 
แน่นอนว่าทุกรายละเอียดของเม-ญ่าถือเป็นบททดสอบทางธุรกิจครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่โมเดลต้นแบบที่จะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ  หรือการเอื้อให้เอสเอฟปูพรมสาขาโรงภาพยนตร์ได้เร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องรอการลงทุนของพันธมิตรศูนย์การค้าที่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ค่ายหลัก “เซ็นทรัล-เดอะมอลล์” แต่ยังเป็นก้าวย่างที่สุวัฒน์ย้ำแล้วย้ำอีกว่า เป็นไปด้วยความมั่นใจตามแนวทางที่เอสเอฟเดินมาตลอด ไม่ผลีผลามหรือเห่อตามกระแส
 
แม้กระทั่งการรุกตลาดอาเซียนที่ดูเหมือนเป็นทิศทางของทุกธุรกิจ รวมถึงคู่แข่งอย่างเมเจอร์ ซินีเพล็กซ์ เพิ่งประกาศจับมือกับกลุ่ม “อิออนมอลล์” ประเทศญี่ปุ่น ผุดโครงการแรกในประเทศกัมพูชา 
 
แต่เอสเอฟซึ่งมีกลุ่มทุนท้องถิ่นและกลุ่มทุนข้ามชาติเสนอตัวเป็นพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง กลับชะลอแผน เพื่อศึกษาความพร้อมและเงื่อนไขต่างๆ อีกระยะหนึ่ง เนื่องจากการทำโรงภาพยนตร์ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ คือ คอนเทนต์หรือหนัง และเงื่อนไขด้านกฎหมายต่างๆ การเซ็นเซอร์ รวมถึงศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ของแต่ละประเทศ
 
“เราไม่ได้ปิดตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ความเหมาะสมในการลงทุน อย่างริมแม่น้ำโขง มีทุนท้องถิ่นวางโครงการแล้ว ไม่เชื่อว่าลาว ใหญ่มาก เขาเสนอร่วมทุนกับเอสเอฟ  มีเยอะ เวียดนาม ลาว พม่า เขมร รอบบ้านมาหมด ทั้งเจ้าของศูนย์การค้าที่อยากทำโรงหนังและเจ้าของโรงหนังที่อยากขยายรูปแบบเดียวกับไทย เป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าตอบโจทย์เราได้ อย่างเขมรให้พื้นที่ฟรีเลย แต่ถ้าไม่มีหนัง ไม่มีคอนเทนต์ก็อยู่ไม่ได้ ปัจจัยคือ ต้องมีหนัง ดูเงื่อนไขการเซนเซอร์ บางประเทศมีเรื่องศาสนา ถ้าเราเลือกได้ เราอยากลงทุนเองเพราะคล่องตัวมากกว่า”
 
เมื่อ “คอนเทนต์” เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์สามารถเติบโตได้อย่างแท้จริง สุวัฒน์เองมีแนวคิดอยากทำธุรกิจผลิตคอนเทนต์ หรือเป็นเจ้าของค่ายหนังเสียเองด้วย เพราะในอนาคตซอฟต์แวร์หรือคอนเทนต์ของหนังจะตอบโจทย์ทั้งหมด โรงหนังดีแต่หนังไม่ดีก็เหนื่อย โรงหนังแย่แต่หนังดีก็เหนื่อย  การมีซอฟต์แวร์หรือคอนเทนต์ที่มีคุณภาพจะทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์เติบโตแข็งแรงต่อไปได้
 
แต่สำหรับเป้าหมายในปัจจุบันของธุรกิจในเครือ ไม่ว่าจะเป็นเอสเอฟเอ็กซ์ เอสเอฟเวิลด์ เอสเอฟซี สไตร์คโบลว์ เอสเอฟมิวสิคซิตี้ และเม-ญ่า ยังโฟกัสตลาดในประเทศ โดยเป้าหมายใกล้ที่สุด คือการนำหุ้นเอสเอฟเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และบริหารธุรกิจอย่างยั่นยืนมากกว่าการเป็นเบอร์ 1 ในตลาด  
 
“เป้าหมายผมไม่ใช่เบอร์ 1 ผมอยากทำทุกอย่างเติบโตอย่างมีทิศทาง  เป้าก็คือทำอย่างไรก็ได้ให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน มากกว่าการประกาศจะต้องขึ้นเป็นเบอร์ 1 ภายใน 3 ปี ผมเป็นคนอย่างนี้ เมื่อทุกอย่างที่ทำสมบูรณ์ มั่นคง แข็งแรง ที่เหลือจะตามมาเอง ผมจะเปิดปีละ 20หรือ 50 โรงก็ได้ หรือแม้กระทั่งพวกดิสเคาต์สโตร์ทั้งหลายมาเสนอเอสเอฟ แต่เอสเอฟไม่ไป เราจะไปกับศูนย์การค้าที่แข็งแรง เพราะผ่านไปอีก 5 ปี 10 ปี อีก 20 ปี ยังอยู่ ไม่ใช่อะไรที่ฉาบฉวยแล้วหายไป”
 
ในแง่ผลประกอบการของปี 2556 บริษัทคาดการณ์รายได้ประมาณ 3,600 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้เกือบ 3,000 ล้านบาท โดยเตรียมเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท เปิดโรงหนังใหม่อีก 8-10 สาขา ไม่รวมการลงทุนที่เม-ญ่า เชียงใหม่ อีกกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อเป็นโปรเจกต์ชิ้นโบแดงที่จะโชว์ตัวตนและประสบการณ์กว่า 40 ปีของกลุ่ม “ทองร่มโพธิ์”
 
เป็นตัวตนที่เกิดและเติบโตจากธุรกิจในวงการมายา  MAYA ที่อ่านบิดเป็น “เม-ญ่า” ในภาษากรีก มีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษ  “Wealth” ความมั่งคั่ง ความมั่นคง ซึ่งก็คือความคิดที่ตกผลึก เป็นทุกย่างก้าวของ “สุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์” และเอสเอฟ ซีเนม่าซิตี้ นั่นเอง
 

ธุรกิจและแบรนด์ในเครือเอสเอฟ

แบรนด์

บุคลิกและตำแหน่งทางการตลาด

จำนวนสาขา

เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้

โรงภาพยนตร์ที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษา คนทำงาน

24

เอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า

โรงภาพยนตร์ “แฟลกชิป” ที่มีโรงหนังต้นแบบทุกประเภท

1

เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า

โรงภาพยนตร์ในทำเลระดับพรีเมียม กลุ่มคนมีกำลังซื้อสูง

6

เอสเอฟ สไตร์ค โบว์ล

โบว์ลบาร์สำหรับพบปะสังสรรค์ กลุ่มคนสนุกสนาน รักสุขภาพ

8

เอสเอฟมิวสิคซิตี้

คาราโอเกะ กลุ่มคนรักเสียงเพลง

1

เมญ่า

ไลฟ์สไตล์ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ที่มีเอกลักษณ์ตามทำเลที่ตั้ง

นำร่อง 1 สาขา