วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > จาก “ศรีตราดราม่า” สู่ธุรกิจบันเทิงครบวงจร

จาก “ศรีตราดราม่า” สู่ธุรกิจบันเทิงครบวงจร

 

ปี 2512 สมาน ทองร่มโพธิ์ ตัดสินใจลาออกจากราชการที่กรุงเทพฯ พาครอบครัวย้ายมาอยู่ จ.ตราด เริ่มต้นกิจการ “ศรีตราดราม่า” หน้าตลาดสดขนาดใหญ่ในเมือง ด้วยใจรักและมองเห็นช่องทางธุรกิจที่ยังไม่มีคู่แข่ง สมานสร้างศรีตราดราม่าให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์ทันสมัยแห่งแรกของจังหวัดตราด
 
13 ปีต่อมา ในขณะที่ธุรกิจโรงหนังกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สมานประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทิ้งภรรยาและลูกๆ อีก 5 คน  สุวัฒน์ ซึ่งเป็นลูกชายคนโต อายุเพียง 17 ปี ตัดสินใจรับหน้าที่ดูแลกิจการของพ่อ เพราะเห็นความรัก ความผูกพันของพ่อกับโรงหนังที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่าไร่ครึ่ง ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวด้วย รวมถึงพนักงานอีกกว่า 100 ชีวิต 
 
การจับธุรกิจในวัยไม่ถึงยี่สิบ เขาโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากลูกน้องเก่าและพรรคพวกเพื่อนฝูงของพ่อจนสามารถขยายสาขาโรงหนังครอบคลุมทั้งภาคตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก และสระแก้ว พร้อมกับกิจการสายหนัง ซึ่งสมานฟิล์มเป็นตัวแทนจากค่ายหนังทุกค่ายจวบจนทศวรรษ2530 กิจการโรงหนังอยู่ในยุคซบเซา กระทั่งปี 2537 การมาของค่ายอีจีวีและเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ทำให้ธุรกิจนี้คึกคักอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็เป็นคู่แข่งทุนใหญ่ที่น่ากลัวด้วย
 
ปี 2542 สุวัฒน์และสุวิทย์ พี่น้องที่วงการเรียกขาน “สองสิงห์หน้าหยก” ตัดสินใจบุกกรุงเทพฯ ครั้งแรก โดยจับมือกับสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือเสี่ยเจียง เจ้าของค่ายหนัง “สหมงคลฟิล์ม” ตั้งบริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ซึ่งชื่อเอสเอฟมาจาก “สมานฟิล์ม” โดยเริ่มต้นพัฒนาโรงภาพยนตร์แห่งแรกในรูปแบบ “มัลติเพล็กซ์” บนชั้น 7 ของศูนย์การค้ามาบุญครองภายใต้แนวคิด “One Floor Entertainment”  พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร โดยรวมความบันเทิง ทั้งโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ร้านอาหารและร้านค้า ได้รับความนิยมมากและเริ่มขยายสาขาในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง
 
ปัจจุบันอาณาจักรของเอสเอฟมีเครือข่ายโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ  31 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 14 สาขาและต่างจังหวัด 17 สาขา โดยปีนี้วางแผนเปิดอีก 8-10สาขา หรือถึงสิ้นปี 2556 จะมีจำนวนโรงหนังมากกว่า 300 โรง