วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Cover Story > ฐาปน สิริวัฒนภักดี “แม่โขง” เจเนอเรชั่นใหม่

ฐาปน สิริวัฒนภักดี “แม่โขง” เจเนอเรชั่นใหม่

“ช่วงเวลา 10 ปี เป็นช่วงที่ได้ความรู้มากมาย เปลี่ยนจากวัยเรียนเป็นวัยทำงาน ความคิดต่างๆ เหมือนเรียนจบแล้วไปสมัครงานบริษัท มีเลิร์นนิ่งเคิร์ฟ เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ปรับตัวรับสิ่งใหม่ๆ ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา มองย้อนกลับไป ผมสนุกกับการทำงาน ผ่านเรื่องราวมาพอสมควร ได้ทำงานใกล้ชิดกับคุณพ่อ ใกล้ชิดกับผู้บริหารอาวุโสหลายท่านร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับคุณพ่อจนมาถึงผู้บริหารยุคใหม่ที่ผมมีโอกาสเชิญชวนได้ทำงานร่วมกัน ได้โอกาสเรียนรู้มากมาย เป็นคุณค่าของชีวิตของผมในช่วง 10 ปี”

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ ผู้จัดการ 360 ํ ด้วยบุคลิกอ่อนน้อม สุภาพ ซึ่งได้รับถ่ายทอด “ยีน” จากเจริญ สิริวัฒนภักดี แบบ 100%

วันนี้ฐาปนกลายเป็นนักธุรกิจหนุ่มวัยไม่ถึงสี่สิบที่มีภาระบริหารบริษัทในเครือมากที่สุดถึง 106 บริษัท ดูแล 4 กลุ่มธุรกิจหลักคือ กลุ่มธุรกิจสุรา ทั้งสุราขาว สุราผสม สุราสมุนไพรจีน สาเก และสุราสี มากกว่า 30 แบรนด์ กลุ่มธุรกิจเบียร์ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มธุรกิจอาหาร ซึ่งสัดส่วนรายได้รวมกว่า 132,186 ล้านบาท เมื่อปี 2554 มาจากกลุ่มธุรกิจสุรา 64% ธุรกิจเบียร์ 25% ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 8% และธุรกิจอาหาร 3%

ในวันแรกของการทำงานหลังจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจสาขา Finance และปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาเศรษฐศาสตร์การเงิน จาก Boston University ฐาปนถูกเจริญส่งไปที่บริษัท สุรากระทิงแดง (1998) จำกัด ดูแลทั้งกระบวนการผลิตและตลาดส่งออกเหล้าหลายยี่ห้อ

จนกระทั่งปี 2546 เจริญตั้งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ” เพื่อรวมกิจการผลิตเบียร์และสุราเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ท่ามกลางกระแสการคัดค้านธุรกิจเหล้าเบียร์ในไทย ทำให้ไทยเบฟตัดสินใจย้ายไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 และสามารถระดมทุนได้ถึง 1,570 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือ 38,000 ล้านบาท

ฐาปน แม้เป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้อง 5 คน คือ อาทินันท์ วัลลภา ฐาปน ฐาปนี และปณต แต่ในฐานะลูกชายคนโตจึงได้รับมอบหมายให้จับงานชิ้นใหญ่ที่ไทยเบฟฯ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของครอบครัวในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ต้องเรียนรู้และฝึกวิทยายุทธ์จากผู้เป็นพ่ออย่างใกล้ชิด รวมทั้งผู้บริหารอาวุโสรุ่นแรกๆ อยู่หลายปี ก่อนที่เจริญจะยอมเปิดทางขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในปี 2551

ธุรกิจเหล้าเบียร์ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์แรกของไทยเบฟ เป็นธุรกิจสีเทาที่อิงอยู่กับอิทธิพลและอำนาจการเมืองตั้งแต่ในอดีต ต้องเจอกระแสต่อต้านการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้มีบริษัทในเครือ ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ คือ บริษัท โออิชิกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็ตาม

ฐาปนเปิดใจว่าชีวิตเขาเลือกไม่ได้

“มันเลือกไม่ได้ ผมโตมาเกือบสี่สิบปี คุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นทำธุรกิจ สี่สิบปีก่อนไม่มีใครพูดว่าธุรกิจดีไม่ดีอย่างไร แต่เป็น ความเปลี่ยนแปลงในสังคมมากกว่า คนมีความรู้มากขึ้น คนเป็นห่วงสุขภาพมากขึ้น เราเคยได้ยินเรื่องการทานอาหารฟาสต์ฟู้ดว่ามีโคเลสเตอรอลมาก อีก 50 ปี คนอาจไม่นิยมอาหารฟาสต์ฟู้ดเลยเพราะทำลายสุขภาพ เพราะจริงๆ แล้วเรื่องเครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งเราอยู่ในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งที่เราต้องทำคือสนใจเรื่องคุณภาพ การผลิตสินค้าสู่สังคม มาตรฐาน คุณภาพสุรา ไม่ใช่สักแต่ว่าผลิตหรือทำออกมา มันมีความแตกต่าง ถ้าไม่เข้าใจรายละเอียด อาจมองว่าสุราโรงใหญ่ไปรังแกผู้ประกอบ การรายกลางรายเล็กที่ต้มเหล้าอะไรต่างๆ นานา ซึ่ง สมัยก่อนเป็นเรื่องมุมมองและความรู้ที่แตกต่างกัน”

ผมว่าเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยและสังคมโดยรวม ซึ่งเราไม่ได้ต่อต้านหรือคัดค้านแต่ประการใด ไทยเบฟเราก็ให้ความสำคัญเน้นการขยาย สู่ธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น เราเน้นไปที่โออิชิ เน้นไปที่ธุรกิจต่างๆ เนื่องจากเราเห็นว่าผู้คนให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ ฉะนั้นเราค่อยๆ ปรับตัวเป็นไปตามยุคสมัย เป็นไปตามธรรมชาติ”

เหตุผลด้านธุรกิจทั้งกระแสของตลาด พฤติกรรม ผู้บริโภคและความพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้ ไทยเบฟ ทำให้ฐาปนเร่งปรับโครงสร้าง ระบบการทำงาน และกลุ่มธุรกิจ เปลี่ยนยุคจาก “เถ้าแก่” สไตล์คนจีนเป็น “ผู้บริหารมืออาชีพ” เพื่อสร้างความชัดเจนในการจำหน่ายสินค้าอย่างโปร่งใสตามระบบการค้าเสรี

การคัดเลือกบุคลากรที่มีวุฒิการศึกษาและความสามารถตรงกับงาน ไม่ใช่ระบบลูกน้องใกล้ชิดนาย การหมุนเวียนผู้จัดการโรงงานสุราทั้ง 18 แห่งทั่วประเทศ วาระละ 4 ปี ไม่ให้ยึดติดกับพื้นที่ และการดึงทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง

ฐาปนบอกว่าถ้าเปรียบเทียบธุรกิจยุคเถ้าแก่กับคนรุ่นใหม่ เถ้าแก่เป็นยิ่งกว่าผู้บริหาร มืออาชีพ สวมจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของ ไม่อยากให้ธุรกิจเสียหาย มันแตกต่างและยาก แม้กระทั่งคนรุ่นที่ 2 ก็ไม่สามารถมีความอดทน อดกลั้น มุ่งมั่นได้เหมือนอย่างรุ่นพ่อ และเชื่อว่ารุ่นต่อๆ ไป รุ่นที่ 3 เรื่องความอดทนสอนได้ แต่ไม่สามารถมีได้เท่า เพราะไม่ได้ผ่านความยากลำบาก อันนี้แตกต่างจากผู้บริหารมืออาชีพ แต่ต้องผสมผสานกัน

ที่ผ่านมา ฐาปนปรับโครงสร้างองค์กรและทีมผู้บริหาร 1-2 ครั้ง จนล่าสุด วางตัวผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาทำกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแมทธิว กิจโอธาน อนิรุทธ์ มหธร และสรกฤต ลัทธิธรรม เพื่อขยายตลาดทั้งเครื่องดื่มเบียร์ช้าง เครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น “โออิชิ” น้ำดื่มและโซดาช้าง

ขณะที่ดึงวรรัตย์ จรูญสมิทธิ์ จากบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเหล้านอก “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์” เพื่อเปิดปฏิบัติการทำ ตลาดสุรา “แม่โขง” ในประเทศไทยอีกครั้ง

เป้าหมายคือการเป็นผู้นำด้านธุรกิจ เครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเป็นผู้นำในตลาดอาเซียนรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และขยายสู่ทั่วโลกให้มากที่สุด

“ผมมองว่า เราเป็นผู้ประกอบการด้านเครื่องดื่ม ที่สำคัญ ทีมงานของเรามีประสบการณ์ยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นกระบวน การผลิตและการจัดจำหน่าย อยากเห็นทีมงานร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาอุตสาห-กรรมเครื่องดื่ม ทำงานให้สนุก สร้างความ ท้าทายให้ตัวเอง เพราะเราต้องแข่งขันกับตัวเราเอง แต่สภาวะแวดล้อมก็เปลี่ยนตลอดเวลา ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไป ภูมิภาค เราจะเป็นอาเซียน อยู่ดีๆ วันดีคืนดีก็มีเสียงจากสังคมที่สะท้อนกลับมา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติปกติที่คนเราเป็นห่วงสุขภาพ เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจมีบทบาทในความรู้สึกทางสังคมว่า เป็นพิษเป็นภัยต่อสุขภาพ ซึ่งเราเข้าใจได้และเป็นเหตุผลที่บริษัทไทยเบฟเวอเรจเน้นให้ความสำคัญในการขยายไปยังสินค้าที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เราก็ทำ มาตลอด 5 ปีเกือบ 6 ปี สร้างฐานเตรียมความพร้อมต่างๆ เป็นการพัฒนาตามลำดับขั้น”

“อีก 5-10 ปีข้างหน้า ผมอยากเห็นคนไทยภาคภูมิใจกับไทยเบฟที่ไทยเบฟสามารถ มีสินค้าที่เชิดหน้าชูตาคนไทย เราไปที่ไหนสามารถถามว่าดื่มสินค้าเราหรือยัง เคยได้ชิมได้ลองสินค้าของเรามากน้อยแค่ไหนอย่างไร”

แล้วจะเป็นการยึดครองตลาดหรือไม่

ฐาปนแย้งขึ้นทันทีว่า ไม่ใช่ เพราะมีผู้ประกอบการรายอื่นอีกเยอะแยะ เดินไปในซูเปอร์มาร์เก็ตมีสินค้าของไทยเบฟเรียงบนเชลฟ์ไม่ถึง 10% พร้อมกับตั้งคำถามกลับว่า “คนไทยอยากเห็นศักยภาพขององค์กรบริษัทไทยอย่างไร”

“เวลาเราไปประเทศอื่น ไปซื้อหยิบกิน ซื้อของของเขา เรารู้สึกว่าเข้าท่า แต่เรากลับมองของเราว่าใหญ่เกินไปหรือเปล่า ได้คนเดียวหรือเปล่า ผมมองว่าแล้วแต่เหตุการณ์ เราไม่ได้หวังยึดครองตลาด แต่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคครอบคลุมมากที่สุด เพราะเรามีหน้าที่ เราอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่ม”

“ผมเปรียบเทียบสังคมไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คำถามคือ เราจับมือกันเหนียวแน่นหรือยัง จริงๆ เราต้องอยู่ในสังคมอาเซียน ครอบครัวเรารักกันดีหรือยัง หรือจริงๆ แล้วเราอยากเห็นประชาคมอาเซียนเข้ามา ไม่ว่าจะเปิดประตูเข้ามาทางเรา มาเก็บ เกี่ยวอะไรต่างๆ นานาออกไป ซึ่งในโลกปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่องการแข่งขัน สิ่งที่สำคัญในภาคธุรกิจคือการปรับตัวและสร้างจุดยืนที่ชัดเจนว่า เรามีความพร้อมในการตอบสนอง ความต้องการของตลาดและผู้บริโภคอย่างไร ที่สำคัญ ผมเป็นองค์กรคนไทย ไทยเบฟ ชื่อก็บอกอยู่แล้ว เราอยากเห็นว่ามีสินค้าได้จัดจำหน่ายไม่ว่าจะอยู่ในบ้านเราหรือออกสู่ตลาดต่างประเทศ ให้คนไทยไปเจอะเจอชาวต่างประเทศแล้วบอกว่าเป็นสินค้าไทยได้ชิม หรือยัง ชอบไหม ต่างๆ นานา เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย”

ปัจจุบันไทยเบฟมีสินค้าอยู่ในพอร์ต ทั้งในและต่างประเทศมากกว่าร้อยแบรนด์

ล่าสุดฐาปนเปิดเกมใหม่นำ “แม่โขง” กลับมาทำตลาดในเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากหยุดจำหน่ายมาเกือบ 5 ปี และหันไปทำตลาดในต่างประเทศ เพื่อชุบชีวิตสุราไทย ยี่ห้อเก่าแก่อายุกว่า 70 ปี

ยุทธศาสตร์ “แม่โขงเจเนอเรชั่นใหม่” รูปลักษณ์ทันสมัย คลาสสิก แม้ตัวสุราสีอำพันยังเป็นสูตรเดิมแต่รสชาตินุ่มขึ้น จากการบ่มที่นานขึ้น โดยตั้งเป้าเจาะตลาดใหม่ชนกับเหล้านอกระดับไฮเอนด์ จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะ “แม่โขง” มีทั้งประวัติศาสตร์ เกี่ยวพันกับสถานการณ์บ้านเมืองตั้งแต่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยุคการเรียกร้องดินแดน ไทยจากฝรั่งเศส ศึกศักดิ์ศรีและวงศ์ตระกูล จนกลายเป็นสงครามธุรกิจที่ซ่อนเงื่อนปมหลายชั้น

น่าติดตามว่าฐาปนจะนำสมบัติชิ้น นี้ ซึ่งเป็นรากฐานที่สร้างอาณาจักรธุรกิจอันใหญ่โตของเจริญ กลับมาโลดแล่นในตลาดอย่างอหังการได้หรือไม่