วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ฤๅกำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ?

ฤๅกำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ?

 
 
ข่าวการลอบสังหารเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำตุรกีอย่างอุกอาจ ขณะกำลังกล่าวสุนทรพจน์เปิดนิทรรศการศิลปะ “รัสเซียในมุมมองของชาวเติร์ก” (Russia as seen by Turks) ภายในหอศิลป์กลางกรุงอังการา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงเหตุรถบรรทุกพุ่งเข้าชนตลาดคริสต์มาสกลางกรุงเบอร์ลิน กำลังส่งสัญญาณและสร้างความหวั่นวิตกในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง
 
เพราะในขณะที่รัฐบาลรัสเซียและตุรกี พยายามเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้เป็นปกติอีกครั้งหลังจากที่ทั้งสองประเทศมีเหตุบาดหมางกัน จากกรณีที่ตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียตกใกล้พรมแดนซีเรีย เมื่อปีที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้รัสเซียออกมาตรการคว่ำบาตรและกดดันตุรกีหลากหลาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจเป็นการตอบโต้
 
เหตุการณ์ยิงสังหารเอกอัครราชทูตรัสเซียครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังการประท้วงใหญ่ในตุรกี ซึ่งผู้ประท้วงคัดค้านการที่รัสเซียเข้าแทรกแซงในซีเรียด้วย ทำให้ผู้นำของทั้งตุรกีและรัสเซียต้องออกมาแถลงยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความพยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยต่างระบุว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นความจงใจที่จะยั่วยุและทำลายให้เกิดความร้าวฉานระหว่างรัสเซียและตุรกี ซึ่งความพยายามที่ว่านี้จะไม่มีวันสำเร็จ
 
ขณะที่ Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงผ่านโทรทัศน์ระบุว่า เหตุดังกล่าวเป็นการยั่วยุที่มุ่งขัดขวางการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่กำลังดำเนินอยู่ รวมทั้งขัดขวางกระบวนการไปสู่สันติภาพในซีเรียด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม คณะเจ้าหน้าที่สืบสวนจากรัสเซียจะเดินทางไปยังตุรกี เพื่อร่วมสอบสวนกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
 
ก่อนหน้านี้ ทั้งรัสเซียและตุรกีได้ร่วมมือกันเพื่อหาทางอพยพผู้คนออกจากเมืองอเลปโปของซีเรีย ควบคู่กับความพยายามที่จะนัดหารือครั้งสำคัญระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ตุรกี และอิหร่าน เรื่องสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรีย เพื่อแสวงหาหนทางในการยุติภาวะสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานในซีเรีย ซึ่งมีรายงานว่า การหารือดังกล่าวจะยังคงเดินหน้าต่อไป แม้จะเกิดเหตุยิงทูตรัสเซียขึ้นก็ตาม
 
ข่าวร้ายว่าด้วยการก่อร้ายในยุโรปไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ หากแต่ในวันเดียวกันนี้ ด้วยเวลาไล่เลี่ยกันไม่ถึงชั่วโมง ก็เกิดเหตุรถบรรทุกวิ่งเข้าชนฝูงชนที่กำลังจับจ่ายและซึมซับบรรยากาศของตลาดคริสต์มาสกลางกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทางการรัฐบาลเยอรมนีประเมินปรากฏการณ์นี้ให้มีสถานะเป็นการก่อการร้าย ขณะที่ยังไม่สามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้
 
การโจมตีครั้งล่าสุดนี้ นอกจากจะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษของเยอรมนีแล้ว ยังทำให้หลายฝ่ายนึกย้อนไปถึงเหตุโจมตีที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยชายคนหนึ่งซึ่งเกิดในตูนิเซีย ขับรถบรรทุก 19 ตัน แล่นไปตามถนนเลียบชายหาด กวาดผู้คนที่รวมตัวกันเฝ้าดูการจุดพลุฉลองวันชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 86 ศพ โดยการโจมตีครั้งนั้นมีกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) อ้างความรับผิดชอบด้วย
 
การก่อการร้ายที่หนักหน่วงและรุนแรงขึ้นเป็นลำดับนี้ ส่งผลให้ฝ่ายชาตินิยมและกลุ่มการเมืองขวาจัดอนุรักษนิยมระดับนานาชาติ กล่าวโทษ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และนโยบายการเมืองว่าด้วยผู้อพยพของเธอว่าเป็นต้นเหตุและเป็นการเปิดประตูการก่อการร้ายให้แพร่กระจายเข้าสู่ยุโรป
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจในกรณีที่ว่านี้ อยู่ที่ปริมาณความถี่และความรุนแรงของเหตุก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งหากไล่เรียงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยุโรปเผชิญกับคลื่นของการก่อการร้ายและวินาศกรรมมากถึง 18-20 ครั้ง หรือเฉลี่ยมากกว่าเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีตุรกีกลายเป็นเวทีของการสำแดงออกซึ่งกำลังมากกว่าครึ่งหนึ่งของเหตุก่อการร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในยุโรปอีกด้วย
 
ขณะที่ฝรั่งเศส เยอรมนี และเบลเยียม ซึ่งต่างถือเป็นประเทศใหญ่และเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการเป็นยุโรปก็ตกเป็นเป้าของการโจมตีอยู่บ่อยครั้ง ขณะเดียวกันรัสเซียซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งและสงครามสู้รบในซีเรียก็ถูกตอบโต้และโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย ISIS ด้วยเช่นกัน
 
ความยืดเยื้อของสงครามในซีเรีย ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะคลื่นมนุษย์อพยพเข้าเป็นภาระให้กับประเทศในยุโรปอย่างกว้างขวาง กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งเร้าให้กลุ่มการเมืองแบบชาตินิยมในยุโรปจำนวนไม่น้อยขยับขยายความคับข้องใจของหมู่ประชาชนชาวยุโรปให้รู้สึกไม่พอใจและต่อต้านรัฐบาลไปโดยปริยาย
 
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับนานาชาติทั้งการก้าวขึ้นมาของ Donald Trumpที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่วันข้างหน้า (20 มกราคม 2017) การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกที่กำหนดไว้ในเดือนเมษายน ก่อนจะนำผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดสองรายเข้าสู่การเลือกตั้งรอบตัดสินในเดือนพฤษภาคม 2017 ซึ่ง Francois Hollande ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบันปฏิเสธที่จะลงสมัครเป็นสมัยที่สอง รวมถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเยอรมนีที่จะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2017 
 
ทั้งหมดนี้กำลังถูกจับตามองว่าจะสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองโลกอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยความต่อเนื่อง หรือพลิกผันในเชิงนโยบายต่างประเทศของบรรดาเหล่าชาติมหาอำนาจ ซึ่งต่างมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับวิกฤตและผลประโยชน์ ทั้งในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ อย่างยากปฏิเสธ ไม่นับรวมประเด็นแหลมคมว่าด้วยผู้อพยพลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้าสู่ยุโรป และภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก
 
ขณะเดียวกันการสิ้นสุดวาระของ Ban Ki-Moon บนตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2016 ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วยการขึ้นมาของ Antonio Guterres อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส (1995-2002) และเคยดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (2005-2015) อาจบ่งบอกทิศทาง ความกังวล และความพยายามที่จะลดทอนเงื่อนไขที่คุกคามเสถียรภาพของนานาชาติ ผ่านกลไกขององค์กรเหนือรัฐในนาม สหประชาชาติ ที่กำลังจะมีอายุครบ 72 ปีแห่งนี้
 
ชนวนวิกฤตของปัญหาในระดับนานาชาติที่ดำเนินอยู่นี้ ไม่เพียงแต่จะผูกพันอยู่กับความมั่นคงทางการทหารและผลประโยชน์แห่งรัฐในรูปแบบเดิมเท่านั้น หากแต่ยังมีประเด็นว่าด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางพลังงาน อาหาร และความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่พร้อมจะทำให้คู่ขัดแย้งแต่ละรายขยายรอยปริร้าวให้กว้างขวางออกไปกลายเป็นชนวนแห่งการรบพุ่งและสงครามครั้งใหม่ได้อย่างง่ายดาย
 
การมาถึงของปี 2017 ในห้วงเวลาไม่ถึงสัปดาห์ข้างหน้านี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดตัดครั้งใหม่ระหว่างการมีสันติภาพที่ยั่งยืน หลังจากที่พลเมืองโลกถูกทำให้เชื่อว่ามีสันติภาพมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 72 ปี นับตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 หรือมหาสงครามที่พร้อมขยายวงส่งผลกระทบไปทั่วโลก
 
บางที เงื่อนไขแห่งสงครามและความล่มสลายของสันติภาพ อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งใหญ่เหตุการณ์เดียวอย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง หากแต่ปัจจัยและเงื่อนไขเล็กน้อยจำนวนมากที่สั่งสมและก่อตัวขึ้นเป็นความไม่พึงพอใจและคับข้องต่างหาก ที่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดุลยภาพและทำให้สังคมโลกต้องจมปลักกับซากปรักหักพังไปอีกนาน