วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
Home > Cover Story > Catster Café อ่วมหนัก แห่ทิ้งแมวหนีพิษเศรษฐกิจ

Catster Café อ่วมหนัก แห่ทิ้งแมวหนีพิษเศรษฐกิจ

“เราขอกำลังใจจากทุกคนในรอบปลายปีนี้ เพื่อประคองเด็กๆ ที่แคทสเตอร์สนามหาบ้านให้หมดก่อน ค่อยปิดตึกนั้น สถานการณ์ต่างๆ คงจะดีขึ้นจริงๆ ช่วงไหนที่ไหว เราขายของเอาเรื่อยๆ แต่ช่วงไหนที่ไม่ไหว เราต้องมาบอกกันตรงๆ อย่างเช่นครั้งนี้ เดือนนี้เจอทั้งค่ารักษา ค่าอาหาร ค่าทรายแมว ค่าจิปาถะ ในภาวะเศรษฐกิจที่ทุกอย่างแพงขึ้นมาก ทำให้เหลือเงินดูแลเด็กๆ น้อยลงมากจริงๆ”

นั่นคือโพสต์ของ Catster by Kingdom of Tigers ที่พยายามแจ้งทำความเข้าใจกับบรรดาแฟนคลับ และเกิดขึ้นหลายครั้งในรอบปีนี้ หลังช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถูกสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดเล่นงานอย่างหนัก ต้องปิดให้บริการคาเฟ่และงดกิจกรรมหาบ้านให้เด็กๆ ชั่วคราว ขาดรายได้จากค่าเข้าใช้บริการ 200 บาทต่อคน และการขายสินค้าหายไปมากกว่า 70-80%

แม้ขณะนี้ร้านสามารถเปิดให้บริการได้เหมือนเดิม แต่ผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ ยังไม่หมด ยอดลูกค้าลดลงและกลุ่มคนอยากรับอุปการะแมวจรลดลงเช่นกัน

นัชญ์ ประสพสิน เจ้าของเพจ “ทูนหัวของบ่าว” และคาเฟ่บ้านพักพิงของเหล่าแมวจร “Catster by Kingdom of Tigers” เล่าให้ “ผู้จัดการ 360” ฟังว่า รายได้หลักของแคทสเตอร์มาจากค่าเข้ามาเที่ยวและการขายหน้าร้าน คนที่เข้ามาในร้านน้อยลงและก่อนหน้านั้นเปิดแคทสเตอร์สนามอีกตึก เพราะรับเคสช่วยเหลือเพิ่มขึ้นมาก บางวันทะลุ 100 ตัว ทำให้ค่าใช้จ่ายดับเบิลขึ้นมาทันที จนต้องงดรับเคสช่วยเหลือตั้งแต่ 2 เดือนก่อน

ปัจจุบันบ้านพักพิงแมวจรแห่งนี้ดูแลแมวมากกว่าร้อยตัวและมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ เดิมแมวที่ช่วยเหลือส่วนมากมาจากการสื่อสารโซเชียล แมวถูกทิ้งตามตรอกซอกซอย ถูกทิ้งในบ้านร้าง แมวถูกทำร้าย เจ้าของแมวเสียชีวิตและไม่มีผู้ดูแล แต่ผลกระทบโควิดทำให้เคสส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นกลุ่มเจ้าของหนีบ้านเช่า โดนปัญหาเศรษฐกิจ และกลุ่มผู้ต้องหาเยอะขึ้น

“แมวโดนทิ้งเยอะขึ้น เป็นภาวะจำเป็นต้องทิ้ง จากที่เคยเลี้ยงได้ แต่ตกงาน เป็นกลุ่มผู้ป่วยโควิดและเสียชีวิต หรือครอบครัวสูญเสียคนในครอบครัว รายได้ไม่คงเดิม เราเข้าใจ แต่แมวกลุ่มพวกหนีบ้านเช่าจะหนักตรงที่เราต้องบูรณะเขา เพราะไม่ได้กินข้าว ป่วยเป็นหวัดแมว ติดเชื้อโรคต่างๆ ต้องใช้งบดูแลสูง”

ส่วนกลุ่มลูกค้าของแคทสเตอร์ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน เป็นกลุ่มคนรักแมว คนชอบเที่ยวคาเฟ่ เล่นกับแมว ซึ่งเดิมมีบริการ 3 โซนหลัก คือ ชั้น 1 โซนขายสินค้าน้องแมวและสินค้า official ของทางร้าน ชั้น 2 มุมรับประทานขนม มีโต๊ะให้นั่งทำงาน หรือซื้อของกินจากด้านนอกมารับประทานได้ และบริการนวด Cat Therapy โดยแมวพี่เลี้ยง

สำหรับชั้น 3 ห้องน้องแมวอดีตเคยจรเป็นโซนหลักของแฟนคลับและผู้สนใจอยากรับอุปการะแมว โดยเปิดโอกาสให้ผู้อยากเลี้ยงได้เล่นและทำความคุ้นเคยกับแมว หากถูกชะตาหรือรู้สึกชอบตัวไหนสามารถรับไปได้ทันที ซึ่งแมวทุกตัวที่นี่ผ่านการตรวจเลือดและตรวจโรคเบื้องต้น ให้วัคซีนตามวัยและทำหมัน

พอเกิดสถานการณ์โควิด ภาครัฐกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด การเว้นระยะห่าง ทำให้แคทสเตอร์ปรับรูปแบบการให้บริการเป็นรายชั่วโมง จำกัดลูกค้าเหลือห้องละ 10 คน และตัดบริการนวด Cat Therapy

“การกำหนดเงื่อนไขการบริการทำให้คนที่มาไม่สะดวก อยู่ได้แค่ 2 ชั่วโมงต้องกลับ เราปรับตัวตามนโยบายของรัฐบาล แต่พอผ่อนคลายให้เปิดบริการเหมือนเดิม คนกลับไม่มั่นใจที่จะมาเที่ยว กลัวโควิด ต้องประหยัด ไม่จำเป็นก็ไม่อยากมากัน”

เมื่อลูกค้าลดลง สัดส่วนระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่ายจึงห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ แม้พยายามสร้างช่องทางขายของผ่านออนไลน์ ทำสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ เช่น เสื้อยืด สเปรย์แอลกอฮอล์ “ถูไถ” พวงกุญแจ ถุงผ้า กระเป๋า ทำเซตสุ่ม อัดโปรโมชั่นหลากหลายรูปแบบ เช่น โปร 8.8 โปร 9.9 แต่จำนวนลูกค้าไม่กระเตื้องขึ้นมาก เพราะทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า นัชญ์ต้องควักเงินส่วนตัวมาถมตลอด ช่วงที่ขายของได้ดี อยู่ได้ แต่พอเศรษฐกิจไม่ดี ค่าเงินบาทไม่ดี คนที่เคยช่วยเหลือ คนจับจ่ายซื้อของน้อยลง ไม่กล้าใช้จ่าย ความลำบากตรงนี้ ทุกคนลำบากเหมือนกัน

“ณ วันนี้ หนักสุด คือ ค่ารักษาและค่าอาหารแมวแพงขึ้น จากเดิมเคยจ่ายเดือนละสองแสนบาท แต่ตอนนี้ปริมาณอาหารเท่าเดิม แต่ต้องจ่ายแพงขึ้นเป็นสองแสนแปด และค่ารักษาที่คาดเดาไม่ได้เลย เดือนนี้จะมีแมวกี่ตัวเข้ามา จะมีแมวอาการป่วยหนักๆ ป่วยเป็นอะไร ถ้ามีเคสผ่าตัด ต้องรักษายาวเลย คือ ค่าใช้จ่าย 6 หลักทุกเดือน รายได้จากการขายของ 6 หลักเหมือนกัน แต่ส่วนต่างห่างกันเรื่อยๆ 1-2 แสนบาท นัชญ์มีเงินค่าโฆษณา นัชญ์เอาตรงนั้นมาโปะตรงนี้ เป็นเงินส่วนตัวเยอะ”

เธอกล่าวว่า การเข้ามารับภารกิจหาบ้านเพราะเดิมมีศักยภาพ เปิดให้คนมาเลือกน้อง ช่วยเหลือได้มากขึ้น ช่วงปีแรกๆ ได้บ้านเยอะมาก แต่เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีทำให้คนไม่กล้ารับอีก 1 ชีวิต เห็นชัดเจนตอนโควิด คนตกงาน ไม่มีรายได้ มีคนมาทิ้งแมวหน้าคาเฟ่ หนีบ้านเช่า หลายเคสโทรบอกตรงๆ จะไม่อยู่แล้วนะ ช่วยไปดูแลแมวให้ด้วย

เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาแมวจรในมุมมองของคนทำงานด้านนี้ เธอย้ำต้นตอทั้งหมดอยู่ที่จิตสำนึกของคนเลี้ยง ต้องเลี้ยงอย่างรับผิดชอบ เห็นว่าเขาเป็น 1 ชีวิต ไม่ว่ายากดีมีจนก็เป็น 1 ชีวิต เราเอาเขามาดูแลรับผิดชอบ แม้ไม่มี อยู่ไม่ได้ก็ต้องพยายามเอาเขาไปด้วย ไม่ใช่ทิ้งขว้างข้างถนนเป็นแมวจร สร้างปัญหาไม่รู้จบ เป็นภาระหนักอึ้งเรื่อยๆ และถมไม่เต็มสักที.

อยากเป็น “ทาสแมว” ใช่ง่ายๆ

หลายคนอยากมีประสบการณ์ทาสแมว ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการเป็นทาสที่มีความรับผิดชอบต้องทุ่มเททั้งเวลาและเงินทองด้วย

คาเฟ่บ้านพักพิงแมวจร Catster by Kingdom of Tigers ได้คำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการดูแลแมวอย่างรับผิดชอบ 1 ตัว อย่างน้อยต้องเตรียมเงินไว้ไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท เริ่มจากการตรวจเลือดครั้งแรกของการรับเลี้ยง 650 บาท

การรับวัคซีนปีแรก คือ วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด+หวัดแมว วัคซีนรวมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ยาห้องพยาธิภายในภายนอก รวมแล้วอย่างต่ำ 2,500 บาท และวัคซีนปีถัดไป 700-900 บาท

ค่ารักษาโรค ถ้าป่วยแบบเบาๆ เฉลี่ย 10,000 บาทต่อปี แต่ถ้าป่วยหนัก เช่น หัดแมว หวัดแมว โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ โรคลูคีเมีย เอดส์แมว เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเคส และต้องรักษาต่อเนื่อง บางตัวต้องรักษาตลอดชีวิต

ค่าทำหมัน เพศผู้ 1,200 บาท ส่วนเพศเมียต้องใช้วิธีผ่าตัด 1,700- 2,500 บาท

ค่าอาหารประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน และค่าทรายแมว 500-1,000 บาท

ด้าน Wongnai Beauty รวบรวมงบในการเลี้ยงแมว 1 ตัว ประกอบด้วย ค่าอาหาร แบบประหยัด 150-300 บาท แบบไฮโซ 600 บาท

ค่าวัคซีน แบบประหยัด 300-700 บาท แบบไฮโซ 1,100 บาท

กระบะทรายแมว แบบประหยัด-300 บาท แบบไฮโซ 8,790 บาท

ชามใส่อาหารและน้ำ แบบธรรมดา 50 บาท แบบไฮโซ 300 บาท

กรงแมว เผื่อพาไปหาหมอ แบบธรรมดา 300 บาท แบบไฮโซ 1,390 บาท

ของเล่น ที่ฝนเล็บ แบบธรรมดา 200 บาท แบบไฮโซ 400 บาท

ปลอกคอ แบบประหยัด 35 บาท แบบไฮโซ 1,280 บาท

อุปกรณ์อาบน้ำแมว แบบธรรมดา 200 บาท แบบไฮโซ 500 บาท

นอกจากนี้ ค่าจิปาถะอื่น ๆ เช่น ขนมแมว กัญชาแมว ค่านมแพะลูกแมว ค่าถ่ายพยาธิทุก 3 เดือน ค่ารักษาพยาบาล และอาจมีค่าประกันสัตว์เลี้ยง เพื่อให้คุ้มครองเวลาแมวป่วยหรือบาดเจ็บจนต้องเข้าโรงพยาบาล เบี้ยประกันไม่ต่ำกว่าปีละ 500-1,000 บาท.