วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Life > แอลกอฮอล์ทำร้ายคนวัยกลางคนมากแค่ไหน

แอลกอฮอล์ทำร้ายคนวัยกลางคนมากแค่ไหน

 
Column: Well – Being
 
ว่ากันว่าการดื่มไวน์สักแก้วเป็นครั้งคราวถือเป็นคุณต่อร่างกาย แต่เมื่ออายุมากขึ้น รูปแบบการเผาผลาญแอลกอฮอล์ของเราเปลี่ยนไป แม้ดื่มเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างที่เราไม่คาดคิด
 
เมื่ออายุมากขึ้น ระบบต่างๆ ในร่างกายเริ่มทำงานช้าลง จึงส่งผลกระทบต่อการเผาผลาญแอลกอฮอล์ด้วย ดร.แอนดริว รอชฟอร์ด แห่งหน่วยงาน DrinkWise อธิบายว่า “ตับไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าขณะที่เราอายุยังน้อย ทำให้แอลกอฮอล์และผลพลอยได้จากการดื่มตกค้างอยู่ในระบบของร่างกายนานขึ้น นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายยังมีน้ำในระบบน้อยลงด้วย ทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเข้มข้นขึ้น”
 
นิตยสาร GoodHealth ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า แอลกอฮอล์ทำร้ายร่างกายคุณได้มากแค่ไหนเมื่อคุณมีอายุมากขึ้น
 
ขนาดรอบเอวของคุณ
เมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ระบบเผาผลาญทำงานช้าลงและร่างกายต้องการพลังงานน้อยลงในการคงน้ำหนักตัวเอาไว้ เมื่อคำนวณจำนวนพลังงานอย่างละเอียด จะเห็นว่าแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มที่มีพลังงานสูงมาก
 
เอลิสัน แม็คเอลิส นักกำหนดอาหารให้ข้อมูลว่า “ไวน์หนึ่งแก้วขนาด 150 มิลลิลิตร ให้พลังงานถึง 430 กิโลจูลส์ ซึ่งมากกว่าขนมปังกรอบรสช็อกโกแลตหนึ่งแผ่นเสียอีก เมื่อระบบเผาผลาญทำงานช้าลง การดื่มแอลกอฮอล์แต่ละแก้วจึงให้พลังงานในมื้ออาหารนั้นเพิ่มขึ้น ทำให้คุณมีแนวโน้มน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ขณะมีอายุมากขึ้น จึงแนะนำให้คิดว่า แอลกอฮอล์เป็นเหมือนอาหารขยะ หากต้องการดื่มให้ดื่มเป็นครั้งคราวในปริมาณน้อยเท่านั้น
 
ผิวหนังของคุณ
เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ระบบในร่างกาย มีผลให้หลอดเลือดขยายตัว เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดเหล่านี้อ่อนแอลงและสูญเสียความสามารถในการหดตัวกลับสู่สภาพเดิม ทำให้ผิวหนังเกิดอาการแดงก่ำ ซึ่ง ดร.ไมเคิล ริช ผู้อำนวยการ Enrich Clinic แห่งเมลเบิร์น อธิบายว่า “แอลกอฮอล์ยังก่อให้เกิดอาการโรคหน้าแดง (อาการหน้าแดงบริเวณตอนกลางของใบหน้า คือบริเวณจมูกและแก้มสองข้าง) ซึ่งมักเกิดขึ้นขณะมีอายุระหว่าง 30–50 ปี”
 
ถ้าคุณมีแนวโน้มเกิดอาการหน้าแดง ให้จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้การบริโภคอาหารรสเผ็ดและการเผชิญกับอากาศร้อนเกินไป ก็มีผลให้หลอดเลือดขยายตัวได้เช่นกัน 
 
แอลกอฮอล์ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ จึงเน้นให้เห็นผิวหนังที่มีริ้วรอยและเหี่ยวย่นให้ชัดขึ้น กฎที่ต้องจำคือ “ทุกหนึ่งแก้วที่ดื่มแอลกอฮอล์ ให้ดื่มน้ำตามหนึ่งแก้วเสมอ”
 
ระดับความเครียดของคุณ
ขณะอายุยังน้อย เรามักใช้แอลกอฮอล์กระตุ้นความตื่นเต้น แต่ศาสตราจารย์ไมเคิล ไบเจนท์ จาก Beyondblue (หน่วยงานการร่วมมือแห่งชาติออสเตรเลีย ที่ทำงานร่วมกับผู้ป่วยและญาติของคนไข้ที่เป็นโรคซึมเศร้า) กล่าวว่า “นักดื่มอายุมากมีแนวโน้มใช้แอลกอฮอล์เพื่อการผ่อนคลายมากกว่า ซึ่งอาจถือเป็นข้อดีได้ในแง่ที่ว่า แอลกอฮอล์มีผลเชิงบวกในแง่ช่วยต้านความเครียด และเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไมนักดื่มพอประมาณจึงมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์”
 
“แต่เพราะการเริ่มต้นพึ่งแอลกอฮอล์เพื่อคลายเครียด และเริ่มดื่มเป็นประจำทุกวันนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ยิ่งเราดื่มมากขึ้น เราก็ยิ่งทนทานต่อแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น ทำให้เราต้องดื่มมากขึ้นจึงจะเกิดความรู้สึกผ่อนคลายในระดับเดียวกันได้”
 
ถ้าคุณพบว่าตัวเองติดกับคือต้องดื่มไวน์เพื่อผ่อนคลายทุกคืน แก้ปัญหาได้ง่ายๆ ด้วยการหยุดดื่มที่บ้าน “เพราะคุณมีแนวโน้มต้องดื่มมากขึ้นอย่างแน่นอนเมื่อเห็นมันอยู่ใกล้มือ” ศาสตราจารย์ไบเจนท์สรุป
 
ตับของคุณ
เหตุผลที่แอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อเรามากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เป็นเพราะตับมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงโดยธรรมชาติ
 
ดร.รอชฟอร์ดอธิบายว่า “ขณะที่แอลกอฮอล์ถูกเผาผลาญจะเกิดสารเคมีที่เรียกว่าอะซีทัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ตับ เมื่ออายุมากขึ้น สารพิษดังกล่าวจะยิ่งตกค้างอยู่ในเซลล์นานขึ้น” ถ้าการทำลายเซลล์เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เกิดแผลเป็นและการทำงานของตับก็จะเสื่อมลง
 
ข่าวดีคือ ตับมีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองได้ดีเลิศ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์วันละไม่เกิน 2 แก้วมาตรฐาน แล้วหยุดพักเพียงสองวัน ตับก็สามารถฟื้นฟูตัวเองได้แล้วโดยไม่มีข้อจำกัดว่าคุณจะมีอายุเท่าไร
 
หัวใจของคุณ
เชื่อกันว่าการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณน้อยช่วยปกป้องหัวใจได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือนที่ฮอร์โมนลดระดับลงตามธรรมชาติ ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายมากขึ้น
 
ดร.รอชฟอร์ดกล่าวว่า “แอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยช่วยลดความดันโลหิต และมีผลเชิงบวกต่อระบบหลอดเลือดหัวใจโดยทั่วไป แต่การดื่มมากเกินไปกลับทำให้ผลเชิงบวกนี้หายไปจนหมด”
 
การดื่มวันละหนึ่งแก้วมาตรฐานจึงเป็นปริมาณที่ปลอดภัย และไม่จำกัดว่าต้องเป็นไวน์แดงเสมอไป เบียร์ก็ได้ผลดีเช่นกัน
 
อารมณ์ของคุณ
มีบางวาระของชีวิตที่เราใช้แอลกอฮอล์เพื่อปรับสภาพอารมณ์ให้ดีขึ้น แต่ศาสตราจารย์ไบเจนท์พูดถึงผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อภาวะอารมณ์ของเราว่า มักขึ้นกับเหตุผลที่เราดื่ม “ถ้าคุณดื่มเพราะรู้สึกเบื่อหรือผิดหวัง อาจอธิบายได้ว่ามันยิ่งทำให้รู้สึกแย่ลง”
 
แต่ข้อเท็จจริงคือ แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าดื่มแล้วมีความสุขขึ้น เป็นเพราะแอลกอฮอล์เข้าไปยับยั้งการทำงานของสมองหลายส่วนที่ควบคุมเหตุผลและการตัดสินใจ ทำให้คุณมีแนวโน้มทำอะไรโง่เขลามากขึ้น การดื่มอย่างหนักยังทำให้สารเซโรโทนินในสมองลดลง ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน ศาสตราจารย์ไบเจนท์จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ระหว่างมีปัญหาทางด้านอารมณ์ และหากิจกรรมอย่างอื่นที่คุณชอบทำเพื่อช่วยให้จิตใจและอารมณ์ดีขึ้น