วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
Home > Cover Story > “กรีนมาร์เก็ต” เพชรบูรณ์โมเดล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

“กรีนมาร์เก็ต” เพชรบูรณ์โมเดล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

 
 
แม้ว่าจังหวัดเพชรบูรณ์จะมีสถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆ และเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะพื้นที่เขาค้อ ภูทับเบิก อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ซึ่งความนิยมที่ทวีสูงขึ้นทำให้อุตสาหกรรมที่เติบโตเพื่อรองรับการขยายจำนวนของนักท่องเที่ยวเป็นไปแบบก้าวกระโดด
 
โดยเฉพาะพื้นที่ภูทับเบิก จากเดิมที่เคยเป็นสถานที่ที่ถูกจัดสรรให้ชาวเขาใช้สำหรับการเพาะปลูกพืชผักเมืองหนาว หากแต่เหล่านายทุนที่มองเห็นกำไรที่คาดว่าจะได้รับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนมือเจ้าของที่ดินทำกิน แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่จะสามารถซื้อขาย แต่เป็นลักษณะของเอกสารสิทธิ์ครอบครองเพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินเท่านั้น
 
จากทิวเขาสีเขียวขจี ที่มีแปลงกะหล่ำปลีปลูกเรียงรายทอดยาวเป็นระเบียบ ถูกแปรสภาพเป็นรีสอร์ต เกสต์เฮ้าส์หลังเล็กๆ สีสันสดใสตัดกับสีของธรรมชาติอย่างชัดเจน 
 
กระนั้นเมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ คสช. เข้ามาควบคุมดูแลอย่างจริงจังและตรวจสอบความถูกต้อง ถึงการรุกล้ำผืนป่าภูทับเบิก กรณีดังกล่าวเคยปรากฏให้เห็นถึงการออกแอคชั่นของภาครัฐเมื่อครั้งภารกิจทวงคืนผืนป่าจากพื้นที่เขาใหญ่
 
ปรากฏการณ์เดียวกันกำลังดำเนินไปบนพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างภูทับเบิก แม้ว่าภาพข่าวที่แสดงออกมาจะเป็นไปในเชิงติดลบ กระนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดเพชรบูรณ์กลับมีนโยบายนำร่องซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาลเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก
 
โครงการกรีนมาร์เก็ต จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงถือกำเนิดขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างปี พ.ศ.2556-2558 พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ.2557-2558 มีผู้ป่วยเพิ่มเป็นสองเท่าจากปี พ.ศ.2556 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ในส่วนของผู้มารับบริการของโรงพยาบาลเพชรบูณ์ พบว่าผู้ป่วยมะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่ สูงเป็นอันดับ 1 และ 2 ของมะเร็งทั้งหมด และสาเหตุของมะเร็งตับส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยได้รับสารเคมีหรือสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ส่วนมะเร็งลำไส้ใหญ่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารหรือได้รับสารกระตุ้นในระบบทางเดินอาหาร 
 
ปัจจุบันเกษตรกรบางกลุ่มเริ่มมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และเริ่มมองเห็นช่องทางการหลุดพ้นจากบ่วงความยากจน วงจรการเกษตรแบบเดิมๆ ที่รังแต่จะสร้างภาระหนี้สินที่ไม่รู้จบ และหันมาหาทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ลดต้นทุน และสามารถให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและดีกว่า อีกทั้งเทรนด์การบริโภคของประชาชนในช่วงนี้จะเน้นหนักและใส่ใจต่อสุขอนามัยมากขึ้น
 
กรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของเครือข่ายชุมชนคนเพชรบูณ์ ที่มีความสนใจในการประกอบอาชีพการเกษตรที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และผู้ผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
 
อย่างไรก็ตาม กรอบแนวความคิดของเกษตรกรแต่เดิมนั้น คือการพึ่งพานายทุน ทั้งในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน เมล็ดพันธุ์ สารเคมี อาหาร โดยมีอัตราการเสียดอกเบี้ยค่อนข้างสูง และหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็นำไปขายชำระหนี้กับนายทุน ซึ่งนายทุนจะนำผลผลิตไปจำหน่ายในตลาดรับซื้ออีกต่อหนึ่ง ทำให้นายทุนยังคงได้รับกำไรในส่วนต่างจากการรวบรวมผลผลิตไปจำหน่าย 
 
มีเพียงเกษตรกรเท่านั้นที่ยังคงต้องแบกรับภาระหนี้สินต่อไป ซึ่งในบางครั้งอาจร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องเสียที่ดินให้กับนายทุน ซึ่งนี่เองเป็นสาเหตุใหญ่สำคัญที่ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ สร้างความเสียหายให้กับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ
 
กระนั้นการบริหารงานของกรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์ เป็นไปในรูปแบบของการแต่งตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อผสมผสานจุดเด่นข้อดีของแต่ละภาคส่วน คือ ความยืดหยุ่นคล่องตัวของภาคเอกชน การรักษาประโยชน์ส่วนรวมของภาครัฐ และการลงมือทำเองของภาคประชาชน 
 
ทั้งนี้ดูเหมือนเป้าหมายหลักของกรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์จะมีเป้าหมาย “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข” โดยต้องพัฒนาและสร้างประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำกระทั่งปลายน้ำ โดยกระบวนการขับเคลื่อนฟันเฟืองหลักดังนี้ 1. การเข้าถึงปัจจัยการผลิต ทั้งด้านทรัพยากรและโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน 2. การสร้างองค์ความรู้ จากในชุมชนและส่งเสริมความรู้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อยอด 3. การตลาดพัฒนาแบบบูรณาการตั้งแต่การวิเคราะห์ตลาดไปจนถึงช่องทางการขายใหญ่ๆ 4. การสื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน ช่วยสร้างแบรนด์และหาช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่นและสื่อระดับประเทศ 5. การบริหารจัดการ ทั้งด้านต้นทุน บัญชี การบริหารความเสี่ยง 
 
ปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์เพื่อเป็นศูนย์กลางดำเนินงานและจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1. สหกรณ์ผลิตผักน้ำดุกใต้ จำกัด 2. สหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก จำกัด 3. สหกรณ์พืชผักปลอดภัยเขาค้อ จำกัด 4. สหกรณ์รวมกลุ่มการเกษตรน้ำหนาว จำกัด 5. บ้านนางั่วเหนือผักปลอดภัย 
 
สินค้าพืชผักของกรีนมาร์เก็ตเพชรบูรณ์ ภายใต้โลโกภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่าและบ้านน้ำดุกใต้ อำเภอหล่มสัก วางจำหน่ายที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะผักภูทับเบิก ซึ่งสามารถเข้ามาวางจำหน่ายที่ ฟู้ดฮอลล์ เซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลเวิลด์ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เซ็นทรัลอุดร และขอนแก่น
 
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการเอาจริงเอาจังของคณะผู้บริหารจังหวัดเพชรบูรณ์ ถึงความใส่ใจต่อการดำเนินวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยแล้ว นอกเหนือไปจากโครงการกรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์ ที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างอยู่ในขณะนี้แล้ว จากการที่ไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ โพสต์ข้อความลงบนเฟสบุ๊ก ถึงกรณีที่มีตัวแทนจากบริษัทผลิตมันฝรั่งยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งมาขอพบและขอหนังสือรับรองจากจังหวัดเพื่อนำเข้าหัวมันฝรั่งที่จะใช้ทำพันธุ์จากต่างประเทศ และมีการแนบรายละเอียดของเกษตรพันธสัญญา แบบเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยในกรณีไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดูจะเป็นเครื่องตอกย้ำได้ดีถึงการให้ความสำคัญต่อเกษตรกรเป็นสำคัญ
 
การแสดงออกของรองผู้ว่าฯ จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อกรณีดังกล่าวดูจะเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อภาคเกษตรกรไทย ที่น่าจะเป็นแกนหลักสำคัญที่ทำให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นสัญญาทาส ที่รังแต่จะทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งสิ่งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันน่าจะเป็นแนวทางที่ดีและชัดเจนที่จะทำให้เกษตรกรเดินทางเข้าสู่เกษตรอินทรีย์และวิถีชีวิตแบบพอเพียงอย่างแท้จริง