วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > พระราชดำริคืนชีวิตชาวม้ง พลิกไร่ฝิ่นสู่พืชออร์แกนิค

พระราชดำริคืนชีวิตชาวม้ง พลิกไร่ฝิ่นสู่พืชออร์แกนิค

 
 
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เคยพระราชทานไว้ในวันเปิดการสัมมนาการเกษตรภาคเหนือ ณ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 ความว่า 
 
“…คำว่าชาวบ้านนี้ จะเรียกชาวบ้านก็ได้ ชาวเขาก็ได้ ก็เป็นชาวบ้านทั้งนั้น เคยไปถามชาวเขา พูดถึงเรื่องว่าจะทำโครงการอย่างไร อะไร เราก็ช่วยกันนะ เขาบอกว่า หมู่เฮาก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ก็หมายความว่า เป็นคนไทยเป็นชาวบ้านทั้งสิ้น ช่วยกันทำ เขาก็อยากอยู่ในกฎหมาย ทำงานสุจริต หรือถ้าเราทำอะไรที่มีเหตุผล เขาก็จะช่วยรักษาป่า 3 อย่างให้เรา” 
 
ชาวไทยภูเขา หรือชาวเขา ที่ตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศเพื่อนบ้าน มีจำนวนประมาณ 500,000 คน แม้จะเป็นชนกลุ่มน้อย แต่มีวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ของตนเอง ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
 
ลักษณะการดำรงชีพของชาวเขาที่ร่อนเร่ไปตามเทือกเขาสูงห่างไกล รูปแบบของเกษตรกรรมจึงเป็นการทำไร่เลื่อนลอย ไร่ข้าวโพด รวมไปถึงการปลูกฝิ่น ซึ่งจะมีการแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตรในรูปแบบของตัวเองเนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ
 
แม้ว่าในยุคสมัยหนึ่งการปลูกฝิ่น การค้าฝิ่น จะยังเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย จนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและมีการออกกฎหมายห้ามตั้งแต่การผลิตและการค้า แต่ชาวเขาในช่วงเวลานั้นก็ยังไม่ยอมเลิกปลูกฝิ่น ทั้งเหตุผลในเรื่องราคาสูง เป็นแหล่งรายได้อย่างดีของชาวเขาที่สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ และเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่จากภาครัฐจะเข้าไปควบคุมดูแลได้ทั่วถึง เนื่องจากพื้นที่เป็นยอดเขาสลับซับซ้อน และเข้าถึงยาก ประกอบกับการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมของตน สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการไม่รับรู้ในความเป็นชาติ และไม่ได้รับรู้กฎหมายและการมีอยู่ของอำนาจการปกครอง 
 
เมื่อปีพุทธศักราช 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาที่บ้านดอยปุย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จึงทรงทราบว่าชาวเขาปลูกฝิ่นกันมาช้านาน แต่ยากจน เคยรับสั่งถามว่านอกจากการขายฝิ่นแล้ว มีรายได้จากพืชชนิดอื่นหรือเปล่า ทำให้ทรงทราบว่า นอกจากฝิ่นแล้วชาวเขายังเก็บท้อพื้นเมืองมาขาย แม้ว่าลูกจะเล็กก็ตาม แต่ยังได้เงินเท่าๆ กัน 
 
สถานีทดลองดอยปุย ซึ่งเป็นสถานีทดลองไม้ผลเขตหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำกิ่งพันธุ์ท้อลูกใหญ่มาต่อกับต้นตอท้อพื้นเมืองได้ ทรงให้ค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่เหมาะสมสำหรับภูมิอากาศของเมืองไทย เพื่อให้ได้ท้อผลใหญ่ รสหวานฉ่ำ ที่ทำรายได้สูงไม่แพ้ฝิ่น โดยในครั้งนั้นได้พระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาท ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับจัดหาที่ดินสำหรับดำเนินงานวิจัยไม้ผลเขตหนาวเพิ่มเติมจากสถานีวิจัยดอยปุยซึ่งมีพื้นที่คับแคบ ซึ่งเรียกพื้นที่นี้ว่า “สวนสองแสน” ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโครงการหลวงขึ้น 
 
เมื่อ พ.ศ.2512 เริ่มต้นโครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์ โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีชื่อเรียกในระยะแรกว่า “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ร่วมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย สำหรับเป็นงบประมาณดำเนินงานต่างๆ และพระราชทาน มีเป้าหมายสำหรับการดำเนินงานดังนี้ 
 
1. ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม
 
2. ช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร
 
3. กำจัดปัญหาการปลูกฝิ่น
 
4. รักษาหน้าดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง ถือให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวน ในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้สองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน
 
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีโครงการหลวงที่เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกือบ 40 โครงการ ซึ่งโครงการหลวงส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปเพื่อมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาการเพาะปลูกไร่ฝิ่นของชาวเขา และเพื่อยังประโยชน์ต่อป่าต้นน้ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อคนด้านล่าง
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจังหวัดเพชรบูรณ์จะตั้งอยู่บนพื้นที่ภาคกลาง หากแต่ด้วยสภาพของภูมิประเทศที่มีภูเขาสูง และภูมิอากาศเย็นปกคลุม จึงทำให้มีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งในอดีตมักจะทำไร่เลื่อนลอย และปลูกฝิ่น ไม่ต่างจากชาวเขาในจังหวัดทางภาคเหนือเท่าใดนัก และการปลูกฝิ่นแทบจะกลายเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่นั้น ทั้งนี้รายได้ส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้จ่ายสำหรับเป็นค่าปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต
 
สายหมอกยามเช้าที่ทอดตัวล่องลอยอยู่รายรอบทิวเขาปกคลุมไปทั่วพื้นที่ของภูทับเบิกยามเช้า แสงแรกจากดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณกำลังฉายแสงสาดส่องเป็นลำบ่งว่าเช้าวันใหม่กำลังมาเยือน ประกายระยิบระยับวับวามจากน้ำค้างที่เกาะอยู่บนใบไม้ใบหญ้า ยอดผักที่ปลูกอยู่บนไหล่เขาที่ทอดยาวเป็นทิวแถว ปลุกความสุขสดชื่นฉ่ำหัวใจได้ในยามนี้ 
 
ที่ศูนย์พัฒนาชาวเขา จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่นี่ทำให้ “ผู้จัดการ 360  ํ” มีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวความประทับใจ และความคิดในการน้อมนำเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของนายเซ็ง แซ่ลี ชาวเขาเผ่าม้ง วัย 62 ผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัวเล็กๆ บนภูทับเบิก
 
ชาวเขาเผ่าม้งที่ตั้งรกรากอยู่ที่ภูทับเบิกจังหวัดเพชรบูรณ์ มีวิถีชีวิตไม่ต่างจากชาวเขาจังหวัดอื่นๆ เท่าใดนัก ในยุคที่ฝิ่นราคาดีก็ถูกเลือกให้เป็นพืชเศรษฐกิจสำหรับเลี้ยงชีพไป หากแต่เมื่อนานวันเข้าปริมาณของฝิ่นที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกฎหมายที่มีออกมาควบคุมและห้ามการปลูกฝิ่น ทำให้ฝิ่นราคาถูกลงและอยู่ในสภาวะล้นตลาด 
 
กระนั้นชาวเขาเผ่าม้งก็หันมาทำพืชไร่ปลูกผักเมืองหนาว และใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิตและจำกัดศัตรูพืช แน่นอนว่าส่งผลเสียอันเลวร้ายทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งผลกระทบที่มีต่อหน้าดิน น้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ลุ่มปนเปื้อนสารเคมี แม้จะปราศจากศัตรูพืชแต่ปริมาณสารพิษตกค้างในผักส่งผลเสียร่างกายทั้งผู้เพาะปลูกและผู้บริโภค
 
นายเซ็ง แซ่ลี เกษตรกรชาวเขาผู้นี้เดิมทีก็ไม่ได้มีวิถีในการทำเกษตรกรรมแตกต่างไปจากคนอื่นๆ การใช้สารเคมีเป็นทางเลือกแรกๆ “ในหลวงบอกว่า เรากินปลอดภัย ขายให้คนอื่นกินก็ต้องปลอดภัย” นายเซ็งบอกเล่าถึงเหตุผลที่เปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรแบบที่ใช้สารเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์ 
 
“พ่อแม่ บรรพบุรุษปลูกฝิ่นมานานครึ่งค่อนชีวิต จากนั้นหันมาปลูกผักแต่ก็ใช้สารเคมีนานประมาณ 30 ปี สิ่งที่เห็นคือผลกระทบต่อสุขภาพของคนในครอบครัวเราเอง ญาติพี่น้องต้องเข้าโรงพยาบาล พอหมอบอกว่าอาการทั้งหมดคือสารเคมีที่สะสมตกค้างในร่างกาย ก็มาย้อนดูว่าอะไรเป็นสาเหตุ นั่นคือการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ที่เราฉีดให้ผัก พอเห็นแบบนี้ก็เลยเลิก ค่อยๆ หันมาทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี” นายเซ็งเล่ารายละเอียดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
 
“ถึงเรียนหนังสือไม่จบ แต่ผมเป็นคนจำเก่ง จำแม่น เริ่มศึกษาโครงการของในหลวง เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อศึกษาทำความเข้าใจ แม้จะไม่ได้เรียนทฤษฎี แต่ผมปฏิบัติ หลังจากไปดูงานโครงการหลวงก็นำมาประยุกต์ใช้ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุข ลูกๆ มีงานทำไม่ต้องเข้าไปในเมือง วันหนึ่งมีโอกาสได้เจอบริษัทที่รับซื้อผัก สอบถามว่า ถ้าผมจะเอาผักมาขายจะซื้อไหม เขาถามกลับว่าใช้สารเคมีหรือเปล่า เพราะอยากได้ผักอินทรีย์”
 
พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประกอบการ ที่พระราชทานให้กับโครงการหลวง จุดประกายความมุ่งมั่นตั้งใจของชาวไทยภูเขาให้พลิกฟื้นไร่ฝิ่น ไร่ผักที่มีสารเคมี สู่การทำเกษตรอินทรีย์ 
 
หลังการศึกษาทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติของนายเซ็ง ความมานะพยายามทำให้ไร่ของนายเซ็งได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ภายใน 3 ปี ซึ่ง GAP (Good Agriculture Practices) หมายถึงแนวทางในการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนดได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุน และกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการนี้ได้รับการกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) 
 
กระนั้นประเทศไทยมีการนำหลักเกณฑ์ของ GAP มาประยุกต์ใช้ ดังนี้ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agriculture Practices: GAP) ของกรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าว ที่มุ่งให้เกิดกระบวนการผลิตที่ได้ผลิตผลปลอดภัย ปลอดจากศัตรูพืชและคุณภาพเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคประกอบด้วยข้อกำหนดเรื่อง แหล่งน้ำ พื้นที่ปลูก การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร การเก็บรักษาและขนย้ายผลิตผลภายในแปลง การบันทึกข้อมุล การผลิตให้ปลอดภัยจากศัตรูพืช การจัดการกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตผลคุณภาพ และการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
 
นายเซ็งใช้เวลา 6 ปี ในการได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ชีวิตที่เปลี่ยนจากการปลูกพืชผักสารเคมี มาเป็นออร์แกนิค นายเซ็งกล่าวเพิ่มเติมว่า “คนอื่นจะทำอย่างไรก็ช่าง แต่ชีวิตเรามีค่า การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว ไม่มีใครต้องป่วยเข้าโรงพยาบาลนั้นคือความสุข” 
 
แน่นอนว่าเกษตรกรที่พลิกฟื้นไร่ฝิ่นมาสู่การทำเกษตรอินทรีย์นั้นไม่ได้มีแต่นายเซ็ง แซ่ลี เท่านั้น หากแต่สิ่งที่ปรากฏบนทิวเขาบนพื้นที่ของภูทับเบิกนั้น ทำให้เข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า เกษตรกรชาวเขาได้น้อมนำเอาพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ มาปรับใช้อย่างยั่งยืน
 
การดำเนินงานต่างๆ ของโครงการหลวงมีอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการด้านต่างๆ ปฎิบัติงานถวาย ทำให้การปฏิบัติงานก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะผลงานวิจัยการปลูกพืชเขตหนาวชนิดต่างๆ เกษตรกรสามารถนำไปปลูกทดแทนฝิ่นได้ผลดี
 
พ.ศ.2537 โครงการควบคุมายาเสพติดของสหประชาชาติ (UNDCP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ ในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยส่งเสริมให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น แต่ปลูกพืชอื่นแทน จึงกล่าวได้ว่าโครงการหลวงเป็นโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแห่งแรกของโลก 
 
เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขา ความว่า 
 
“เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ของเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึง ให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร สามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญก้าวหน้าได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่ คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูก โดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยชาวเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้เขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก”
 
แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะจัดสรรพื้นที่ดินทำกินให้ชาวเขาจำนวนไม่มากนัก หากแต่ก็เพียงพอที่จะสร้างความสุขให้แก่ชาวเขาไม่มากก็น้อย กระนั้นนายเซ็งยังเสริมทิ้งท้ายอีกว่า “แม้เกษตรอินทรีย์จะทำยากหน่อย แต่ก็ทำได้ ใช้เวลามากหน่อย คนปลูกปลอดภัย คนกินปลอดภัย เวลาคนกินกับคนปลูกมาเจอกัน ก็เป็นมิตรต่อกัน เราซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อคนอื่น” 
 
ทิวเขาที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา แปลงผักเขียวขจีบนเนินเขา ชาวบ้าน ชาวเขา อยู่อาศัยทำกินในท้องถิ่น ทั้งเพื่อหาเลี้ยงชีพ และดูแลป่าต้นน้ำ รักษาหน้าดิน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รอยยิ้มบนคราบน้ำตาที่ปรากฏชัดฉายบนใบหน้าของนายเซ็ง แซ่ลี ชาวเขาเผ่าม้ง แห่งภูทับเบิก สะท้อนให้เข้าใจได้ว่า ไม่ว่าเมื่อไหร่ความมุ่งมั่นตั้งใจของบรรดาเกษตรกรบนที่สูงจะยังคงอยู่ แม้ว่าวันนี้พ่อหลวงของปวงชนชาวไทยจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้วก็ตาม