วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > บ้านปูเพาเวอร์: ผู้นำธุรกิจพลังงาน รุกตลาด CLMV และเอเชียแปซิฟิก

บ้านปูเพาเวอร์: ผู้นำธุรกิจพลังงาน รุกตลาด CLMV และเอเชียแปซิฟิก

 
 
 
การแถลงข่าวประกาศขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มบ้านปู ที่พร้อมจะเปิดให้ประชาชนผู้สนใจจองซื้อหุ้นที่ราคาเสนอขายสุดท้ายได้ในวันระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคมนี้ หากจะพิจารณาถึงเหตุผลของการระดมทุนในครั้งนี้ นั่นคือการนำเงินที่จะได้มาชำระคืนเงินกู้จากบริษัทแม่ และนำเงินไปลงทุนขยายธุรกิจพลังงานทั้งในและต่างประเทศ
 
เหตุผลดังกล่าวดูจะสะท้อนภาพที่แสดงถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนถึงทิศทางในการเดินเกมก้าวต่อไปบนธุรกิจพลังงานของบ้านปู เพาเวอร์ คือนอกเหนือจากการปลดหนี้ที่มีต่อบริษัทแม่ อันมีสาเหตุมาจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าหงสาที่มีมูลค่าหนี้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งอาจจะหมายถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะตามมาในอีกหลายมิติ
 
หากแต่ในมิติที่กำลังดำเนินไปในครั้งนี้ดูน่าจับตามองเป็นพิเศษ เพราะการที่บ้านปู เพาเวอร์มีหมุดหมายสำคัญที่จะเบนเข็มและตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นในการรุกตลาด CLMV และตลาดที่ใหญ่กว่าอย่างกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก
 
ทั้งนี้หากมองในตัวเลขมูลค่าการเสนอขายที่น่าจะได้รับคือ 11,673–13,618 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการชำระหนี้คืนต่อบริษัทแม่ 90 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จะปลอดหนี้โดยสิ้นเชิง ส่งผลให้การใช้เม็ดเงินที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ในการลงทุนธุรกิจพลังงานในอนาคต
 
เป้าหมายที่ว่าคือการขยายกำลังการผลิต 4,300 เมกะวัตต์ (เทียบเท่า) ภายในปี พ.ศ.2568 โดยมีตลาดใหญ่ที่บ้านปู เพาเวอร์ ให้ความสนใจและมีโครงการอยู่อย่างต่อเนื่องคือกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ประเทศเวียดนาม ประเทศเมียนมาร์ และประเทศลาว 
 
ซึ่งวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า “แม้ว่าโครงการส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV จะเป็นโครงการขนาดกลาง แต่น่าจะเป็นโครงการที่พัฒนาได้ดี” 
 
นอกเหนือจากกลุ่มประเทศ CLMV แล้วยังมีประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ASEAN เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบ้านปู เพาเวอร์ให้น้ำหนักไปกับโครงการพลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ 
 
และสำหรับประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก เช่น ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในสองประเทศนี้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน
 
จังหวะการก้าวเดินของบ้านปู เพาเวอร์ ทั้งในเรื่องของการขยายกำลังการผลิต และการกระจายการลงทุนนับเป็นหมากสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่อุดมไปด้วยความน่าสนใจและเป็นที่น่าจับตามอง ทั้งสำหรับนักลงทุนและนักธุรกิจคู่แข่งที่อยุ่ในกลุ่มพลังงาน เมื่อบ้านปูมีจังหวะจะโคนในการก้าวกระโดด ที่มีมาตรฐาน
 
อย่างไรก็ตาม ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) สมฤดี ชัยมงคล ให้ความเห็นในเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าคิดว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านปู เพาเวอร์ มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และฐานะทางการเงินที่มั่นคง ประกอบกับประสบการณ์ที่รอบด้านของทีมงานผู้บริหารระดับสูง นับตั้งแต่การจัดหาแหล่งเงินทุน การพัฒนาและการดำเนินโครงการ”
 
เพราะเป้าหมายในการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล ด้วยการผลิตไฟฟ้าจาก Conventional Power Generation และพลังงานหมุนเวียน Renewable Power Generation อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นส่วนเสริมที่สำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทบ้านปู เพาเวอร์ จากการใช้ประโยชน์จากความสามารถและข้อได้เปรียบที่มีอยู่ของบริษัทฯ
 
กระนั้นสิ่งที่น่าสนใจในการลงทุนและขยายการผลิตด้านพลังงานของบ้านปู เพาเวอร์ คือมีการคาดหมายว่าจะมีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตรวมภายในปี 2568 โดยเฉพาะประเทศไทยที่บ้านปู เพาเวอร์กำลังมีโครงการพลังงานหมุนเวียนที่อยู่ในระหว่างการศึกษา ทั้งพลังงานชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานจากขยะ
 
แม้ว่าโครงการพลังงานโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยจะเป็นที่จับตามองจากกลุ่มที่แสดงความเห็นคัดค้าน เพราะคำนึงถึงผลที่จะตามมา หากแต่การศึกษาเรื่องพลังงานหมุนเวียนที่บ้านปู เพาเวอร์ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยในอนาคต เพราะนอกเหนือจากจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการหาประโยชน์จากสิ่งที่อยู่รอบตัวได้เป็นอย่างดี
 
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เคยประมาณการว่า มูลค่าการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าของไทยในช่วงปี 2559-2561 น่าจะอยู่ที่ราว 1.1-1.5 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด รองลงมาคือ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพลังงานขยะ ตามลำดับ ส่วนในระยะถัดไปจนถึงปี 2579 หรือสิ้นสุดแผน PDP 2015 (ปี 2562-2579) คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าถึง 5.35 แสนล้านบาท 
 
โดยตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2559 อาจจะเห็นภาพการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนประเภทพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ภายหลังจากที่มีการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ทำให้โครงการที่ได้รับคัดเลือกสามารถเดินหน้าผลิตไฟฟ้าได้ ส่วนในระยะต่อไป คาดว่า กลุ่มพลังงานขยะและพลังงานลม เป็นกลุ่มที่น่าจับตาว่าจะมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตยังอยู่ห่างไกลเป้าหมายที่วางไว้
 
ห้วงเวลานี้จังหวะการก้าวเดินของบ้านปู เพาเวอร์ในอุตสาหกรรมพลังงาน นับเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการลงทุนศึกษาทิศทางของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่ประเทศไทยจะได้เริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจังเสียที