วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > โอกาสทางธุรกิจ บนวิกฤตการศึกษาไทย

โอกาสทางธุรกิจ บนวิกฤตการศึกษาไทย

 
 
 
“ถ้าคุณตัดสินปลาทองด้วยความสามารถในการปีนขึ้นต้นไม้…ก็คงเป็นเรื่องที่โง่เขลา”
 
ถ้อยความเริ่มต้นของ “I just sued the school system!” วิดีโอคลิปความยาว 6 นาทีของ Prince Ea ที่มีผู้เข้าชมกว่า 7 ล้านครั้งภายในช่วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมงหลังจากที่เผยแพร่ออกมา สื่อแสดงถึงความกังวลใจต่อวิกฤตว่าด้วยการศึกษาในระดับนานาชาติที่น่าสนใจไม่น้อย
 
ประเด็นแหลมคมจากวิดีโอคลิปดังกล่าวไม่เพียงแต่จะตั้งคำถามต่อกระบวนทัศน์ในการจัดระบบการศึกษาที่ล้มเหลวและหน่วงเหนี่ยวพัฒนาการของเยาวชนที่ต่อเนื่องยาวนานเท่านั้น หากยังกล่าวหาว่า “โรงเรียนเป็นฆาตกรที่สังหารความคิดสร้างสรรค์ ทำลายเอกลักษณ์และเหยียดหยามทางความคิด” อีกด้วย
 
ขณะที่สำหรับสังคมไทยวิดโอคลิปดังกล่าวก็คงเป็นเพียงประหนึ่งคลื่นลูกหนึ่งในกระแสธารของโซเซียลมีเดียที่ท่วมทะลักต่อการรับรู้ก่อนจะจางหายและผ่านพ้นจากความสนใจไปอย่างรวดเร็ว 
 
ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยวิดิโอคลิปครูหรือบุคลากรทางการศึกษาใช้กำลังประทุษร้ายทางกายภาพต่อนักเรียน ภายใต้การนิยามว่า เป็นการลงโทษ สั่งสอน ด้วยหวังจะให้ลูกศิษย์เป็นคนดีเข้ามาทดแทน
 
ความล้มเหลวที่น่าอับอายของระบบการศึกษาที่ล้าหลังของสังคมไทยกลายเป็นโอกาสในการลงทุนของโรงเรียนนานาชาติ ที่เป็นประหนึ่งการเปิดทางเลือกใหม่ไปโดยปริยาย ควบคู่กับความพยายามที่จะเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาเกิดใหม่เหล่านี้เข้ากับชื่อเสียงและอัตลักษณ์ของโรงเรียนที่มีรากฐานยาวนานในต่างแดน 
 
แม้ว่าในความเป็นจริงกลไกและกระบวนการศึกษาเรียนรู้ในแต่ละแห่งจะดำเนินไปท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและปัจจัยที่อาจไม่ได้มีความเกี่ยวโยงใดๆ ต่อกันเลย นอกจากค่าธรรมเนียมการใช้ชื่อมาเป็นแบรนด์ในการสร้างตลาดเท่านั้น
 
วิกฤตด้านการศึกษาของไทยอาจส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติที่ผูกโยงเข้ากับชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาชั้นนำจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมามีสถานะเป็นทางเลือก ทั้งในมิติของมาตรฐานการศึกษาและชื่อเสียงเกียรติประวัติที่ยาวนาน แต่นั่นอาจไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าการบริหารจัดการภายในจะดำเนินไปอย่างมีคุณภาพตามที่คาดหวัง
 
เพราะในขณะที่ licence fee จากการใช้ชื่อสถาบันต้นทางกลายเป็นค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่ทำให้โรงเรียนนานาชาติจำเป็นต้องคำนวณปริมาณนักเรียนที่จะรับสมัครในแต่ละปีและช่วงชั้นให้เหมาะสมต่อความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ประเด็นว่าด้วยคุณภาพการเรียนการสอนก็กลายเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่ยากจะหลีกเลี่ยง
 
แต่สำหรับโรงเรียนนานาชาติอย่าง Phuket International Academy (PIA) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 และมีนักเรียนจากช่วงอายุ 2–18 ปี รวมกว่า 400 คน ความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานด้านคุณภาพการศึกษาดำเนินควบคู่ไปพร้อมๆ กับการแสวงหาเครือข่ายที่กว้างขวางขึ้นสำหรับดึงดูดความสนใจของผู้ปกครอง 
 
กรณีดังกล่าวนำไปสู่การผนึกผสาน PIA เข้ากับ United World Colleges (UWC) เครือข่ายองค์กรของสถาบันการศึกษาที่พัฒนาขึ้นตามแนวทางของนักการศึกษานาม Kurt Hahn ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น United World College Thailand (UWCT) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และนับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งที่ 16 ของ UWC ที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วโลก
 
การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย UWC ในด้านหนึ่งนอกจากจะขยายการรับรู้สู่สังคมวงกว้างขึ้นแล้ว ยังเป็นการลดการแข่งขันกับโรงเรียนนานาชาติแห่งอื่นๆ ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
 
ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า United World College of South East Asia (UWC SEA) ซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์ และดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1971 มีจำนวนนักเรียนจากช่วงอายุ 4–19 ปีรวมกว่า 5,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้
 
การเปลี่ยนผ่านจาก PIA มาสู่ UWCT นับเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่ Julian Whiteley ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน UWC SEA และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ UWCT จะต้องนำพาและเชื่อมประสานปรัชญาการศึกษาและวิถีชีวิตเข้าไว้ด้วยกัน
 
ขณะที่ความเคลื่อนไหวในอีกด้านหนึ่งของการศึกษาไทย ยังดำเนินไปท่ามกลางความพยายามแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากวิกฤตด้านการศึกษาไทย โดยล่าสุด RUGBY SCHOOL โรงเรียนสหศึกษาชั้นนำระดับโลกจากประเทศอังกฤษ เข้ามาเปิดสาขาใหม่แห่งแรกในประเทศไทย ด้วยความมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี จากชื่อเสียงความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอนยุคใหม่ ท่ามกลางประวัติความเป็นมาและชื่อเสียงที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน โดยจะฉลองครบรอบ 450 ปีในปี 2017 นี้
 
การเปิดตัวของ Rugby School Thailand อยู่ภายใต้การบริหารงานของ Wisdom Enterprise ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทยที่มีครอบครัวทีปสุวรรณเป็นเจ้าของ และมี ทยา ทีปสุวรรณ อดีตผู้บริหารโรงเรียนศรีวิกรม์เป็นซีอีโอ
 
ตามแผนโรงเรียนแห่งใหม่ที่จะมาเปิดในประเทศไทย มีชื่อว่า Rugby School Thailand จะเปิดรับนักเรียนไป–กลับตั้งแต่ชั้น Pre-Nursery จนถึงชั้น Year 6 อายุ 2–10 ปีในเดือนกันยายนปี 2560 เป็นต้นไป 
 
และจะเปิดรับนักเรียนระดับชั้นเด็กโต (Senior School) Year 7–13 อายุ 11–18 ปีทั้งแบบประจำและไป-กลับพร้อมเปิดบ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียนประจำ ในเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2561
 
Rugby School Thailand ตั้งอยู่บนเนื้อที่ขนาด 187 ไร่ในตำบลเขาไม้แก้ว จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของเขตโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก อยู่ห่างจากใจกลางกรุงเทพฯ เพียง 90 นาที และห่างจากพัทยาเพียง 15 นาที 
 
พื้นที่โดยรอบของโรงเรียนรายล้อมด้วยเลนจักรยานส่วนบุคคลความยาวรวมกว่า 11 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในใจกลางของพื้นที่เขตชานเมืองอันเงียบสงบที่มีบริษัทในเครือ Wisdom Enterprise เป็นเจ้าของ ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถพัฒนาและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมได้อีกมากในอนาคต 
 
จุดขายสำคัญของ Rugby School Thailand ที่พยายามนำเสนออยู่ที่ความโดดเด่นในด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเฉพาะด้านของนักเรียนอย่างมีคุณภาพ โดยในปัจจุบันนี้ถือได้ว่า Rugby School เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความคิดก้าวหน้า เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมและทันยุคทันสมัย 
 
แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมเก่าแก่ที่ดีงาม ทำให้ Rugby School เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมและความเหมาะสมที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดระบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดจากภาคโรงเรียนเอกชนระดับโลกในประเทศอังกฤษมาสู่ประเทศไทย  
 
ทยา ทีปสุวรรณ CEO ของ Wisdom Enterprise ระบุว่า Rugby School Thailand จะยังคงสะท้อนลักษณะความเป็น Rugby School แบบต้นตำรับและจัดการเรียนการสอนโดยยึดถือค่านิยมทางสังคมและการศึกษาของโรงเรียนต้นแบบอย่างเคร่งครัด
 
วิถีที่ดำเนินไปของ Rugby School Thailand ดูจะยังคงดำเนินตามสูตรสำเร็จของการเกิดขึ้นของโรงเรียนนานาชาติในยุคหลังที่มีการนำชื่อสถานศึกษาชั้นนำของอังกฤษมาเป็นตราประทับ เพื่อกระตุ้นความน่าสนใจของสังคม แต่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ คงเร็วเกินไปที่จะสรุป เพราะยังไม่ได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนเลย
 
กระนั้นก็ดี ปีเตอร์ กรีน ผู้อำนวยการโรงเรียน Rugby School แห่งสหราชอาณาจักร ก็ระบุว่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ Wisdom Enterprise มีความประสงค์ที่จะนำหลักสูตรการให้การศึกษาและดูแลนักเรียนของ Rugby School มาใช้ในประเทศไทย 
 
“และจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่องเพื่อรักษามาตรฐานระดับสูงของโรงเรียนในทุกกิจกรรมการเรียนรู้ นอกจากนั้นยังมีการนำระบบตรวจสอบคุณภาพภายในมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าลักษณะความเป็น Rugby School และชื่อเสียงด้านความเป็นเลิศทางการศึกษาจะถูกสะท้อนออกมาให้เห็นใน Rugby School Thailand เช่นกัน”
 
หากชื่อเสียงของ Rugby School ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของกีฬารักบี้จากผลของการที่นักเรียนคนหนึ่งในนาม William Webb Ellis ตั้งใจละเมิดกฎของกีฬาฟุตบอลด้วยการหยิบลูกฟุตบอลมาถือไว้ในมือแล้วออกวิ่ง บางทีนี่อาจเป็นเวลาที่จะสร้างนวัตกรรมของเกมชนิดใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการศึกษาไทยก็เป็นได้
 
แม้ว่าในทางสากลเรื่องราวของ William Webb Ellis จะได้รับการประเมินคุณค่าความหมายให้เป็นเพียง origin myth ก็ตาม