วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > ทีซีซีปักหมุดสามย่าน ดัน “นิวยอร์ก” เมืองไทย

ทีซีซีปักหมุดสามย่าน ดัน “นิวยอร์ก” เมืองไทย

 
 
แผนขยายอาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเจริญ สิริวัฒนภักดี เกมกินรวบพื้นที่ทำเลทองตลอดเส้นถนนพระราม 4 เดินหน้าต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดปักหมุดโครงการ “สามย่านมิตรทาวน์” บนที่ดินผืนใหญ่ 13 ไร่ หัวมุมถนนพญาไท-พระราม 4 โดยมีบริษัทในเครือ “โกลเด้นแลนด์” เป็นผู้พัฒนาโครงการและหมายมั่นจะปลุกทำเลย่านนี้ไม่ต่างจาก “มหานครนิวยอร์ก” ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงิน วัฒนธรรม บันเทิง ที่สำคัญของโลก
 
รายละเอียดของโครงการ “สามย่านมิตรทาวน์” กำหนดคอนเซ็ปต์ “สมาร์ทมิกซ์ยูส” มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 22,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารสำนักงานอัจฉริยะ (Artificial Intelligence Building) สูง 35 ชั้น พื้นที่รวม 65,000 ตร.ม. โดยพัฒนาเป็นอาคารอัจฉริยะที่สามารถคิดและประมวลผลการบริหารอาคารจากการเชื่อมต่ออุปกรณ์สมาร์ทโฟนผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีหลายประเทศในโลกเริ่มใช้งาน เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและสิงคโปร์ 
 
ส่วนที่ 2 อาคารพักอาศัย สูง 35 ชั้น พื้นที่รวม 36,000 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่คอนโดมิเนียมแบบเช่าระยะยาว 554 ยูนิต และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เช่าระยะสั้น 104 ยูนิต 
 
ส่วนที่ 3 ศูนย์ทักษะพัฒน์เพิ่มโอกาสการเรียนรู้แห่งแรกในประเทศไทย สูง 6 ชั้น พื้นที่อีก 65,000 ตร.ม. ซึ่งนอกจากมีร้านค้ารองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่แล้ว โครงการตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์ส่งเสริมทักษะชีวิตและส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตต่างๆ การเตรียมตัวเพื่อศึกษาต่อระดับสูง รวมถึงการเตรียมตัวไปศึกษาต่อต่างประเทศ
 
ทั้งนี้ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ ร่วมทุนกับบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งบริษัท เกษมทรัพย์ภักดี จำกัด โดยโกลเด้นแลนด์ถือหุ้น 49% และทีซีซี 51% ของทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท เพื่อรับผิดชอบโครงการดังกล่าว เนื่องจากถือเป็นโครงการเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูงถึง 8,500 ล้านบาท และมีระยะเวลาคุ้มทุนนานถึง 10 ปี โดยโกลเด้นแลนด์ได้รับสิทธิ์เป็นผู้พัฒนาที่ดินทั้ง 13 ไร่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัญญาเช่า 30 ปี 
 
ธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ360 ํ” ว่า สามย่านมิตรทาวน์จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563 หรือปี ค.ศ. 2020 ซึ่งหากโครงการทั้ง 3 แห่งในเครือทีซีซีกรุ๊ป ได้แก่ เอฟวายไอเซ็นเตอร์ สามย่านมิตรทาวน์และลุมพินีสแควร์ เสร็จสมบูรณ์จะสร้างความน่าตื่นเต้นมากให้กับทำเลย่านพระราม 4 ซึ่งทอดยาวตั้งแต่คลองเตย ลุมพินี และสามย่าน 
 
หากเจาะเฉพาะ “สามย่าน” ถือเป็นทำเลที่มีความเด่นชัดในแง่พื้นที่ที่แวดล้อมด้วยสถานศึกษา ทำให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษากลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีจำนวนบุคลากรมากกว่า 8,000 คน จำนวนนิสิต 37,851 คน และมีโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีจำนวนนักเรียนต่อภาคการศึกษาประมาณ 4,700 คน โรงเรียนสาธิต มศว. ปทุมวัน 1,876 คน และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4,813 คน รวมทั้งหมดมากกว่า 57,000 คน ยังไม่นับกลุ่มพนักงานออฟฟิศบริษัทต่างๆ และข้าราชการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ขณะเดียวกันสามย่านเป็นจุดบรรจบระหว่างเมืองเก่าอย่างเยาวราชที่กำลังพัฒนารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายในอนาคตกับเมืองใหม่อย่างสยาม สีลม สาทร 
 
“การพัฒนาการเชิงธุรกิจในทำเลถนนพระราม 4 มีลักษณะค่อยๆ พัฒนา ต้องใช้เวลาและมีเอกลักษณ์ด้านธุรกิจ มีร้านอาหารในตำนานมากมาย ผู้คนหลากหลาย แต่มีความเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีเส้นทางคมนาคมด้วยระบบรถไฟฟ้า ปัจจัยต่างๆ ทำให้พระราม 4 สามารถพัฒนาได้คล้ายๆ มหานครนิวยอร์ก แต่ไม่ใช่พัฒนารวดเร็ว มีห้างหรูหราฟู่ฟ่าเหมือนทำเลย่านถนนพระราม 1 ซึ่งบรรยากาศจะเหมือนลอสแองเจลิสมากกว่า” ธนพลกล่าว 
 
อย่างไรก็ตาม ทำเลสามย่านมีความได้เปรียบในแง่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและมีแม็กเน็ตสำคัญ คือ “จามจุรีสแควร์” หรือจัตุรัสจามจุรี ซึ่งหลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตัดสินใจเข้ามาพัฒนาที่ดิน 21 ไร่ ต่อจากบริษัทเอกชนที่เจอวิกฤตเศรษฐกิจจนต้องพับแผนทั้งหมด กลายเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ แม้เป็นโครงการแรกที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เข้ามาบริหารจัดการในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ
 
ปัจจุบันจามจุรีสแควร์มีทั้งอาคารสำนักงาน 40 ชั้น พื้นที่ให้เช่า 87,000 ตารางเมตร อาคารพักอาศัย 24 ชั้น จำนวน 220 ยูนิต และอาคารส่วนฐาน 4 ชั้น ซึ่งพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือ Edutainment Gateway ประกอบด้วยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้านหนังสือต่างๆ ร้านอาหารชั้นนำและศูนย์อาหารรองรับผู้ใช้บริการทั้งที่ทำงานในอาคารและลูกค้าภายนอก มีซูเปอร์มาร์เก็ต คือตลาดเทสโก้ โลตัส และมีทางเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสามย่าน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ดึงผู้คนเข้าสู่โครงการ
 
นอกจากนี้ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ มีแผนก่อสร้างอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2560 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีจุฬาฯ รวมถึงศูนย์ Innovation Hub รองรับเทรนด์ธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพด้วย 
 
ธนพลกล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาของ “สามย่าน” อาจเปลี่ยนมีเทรนด์ใหม่ๆ เข้ามาอีก 3-4 ปีข้างหน้า แต่กลุ่มเป้าหมายไม่เปลี่ยน คือกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ผู้คนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพียงแต่โครงการจะต้องตามเทรนด์ใหม่ๆ ให้ทัน แต่เชื่อแน่ว่าสามย่านมีศักยภาพจะเป็น Node ศูนย์กลางธุรกิจที่มีการพัฒนาพลิกโฉมมากกว่าเดิมแน่
 
ตัวชี้หนึ่งคืออัตราค่าเช่าพื้นที่ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญมียอดจองสูง โดยเฉพาะห้องขนาด 1 ห้องนอน ซึ่งมีกลุ่มนักศึกษาเป็นเป้าหมายหลัก ขายหมดเกือบทุกโครงการ โดยข้อมูลล่าสุด ราคาตลาดห้องชุดบริเวณใกล้เคียงเฉลี่ย 200,000 บาทต่อ ตร.ม. เช่น โครงการคอนโดมิเนียม ศุภาลัย เอลีท สี่พระยา ราคาขาย 4.1-17.5 ล้านบาทต่อยูนิต ไอดีโอ คิว ของกลุ่มอนันดา ราคาเริ่มต้น 3.5 ล้านบาทต่อยูนิต และโครงการ อัลติจูด สามย่าน-สีลม อยู่ระหว่าง 4-7 ล้านบาทต่อยูนิต 
 
ส่วนอัตราค่าเช่าเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์อยู่ที่ 2,000-3,000 บาท/คืน และอัตราค่าเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานเฉลี่ย 900-1,000 บาทต่อ ตร.ม. จาก “เอฟวายไอ” ถึง “ลุมพินีสแควร์” และ “สามย่านมิตรทาวน์” แผนสร้างอาณาจักรครั้งใหญ่ของเจริญกำลังใกล้ความจริงแล้ว