วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > คลัสเตอร์โควิดในกลุ่มแรงงาน ส่งผลร้ายต่อธุรกิจ เศรษฐกิจไทย

คลัสเตอร์โควิดในกลุ่มแรงงาน ส่งผลร้ายต่อธุรกิจ เศรษฐกิจไทย

การติดเชื้อไวรัสโคโรนาระลอกสาม ดูเหมือนจะขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานชาวไทย และแรงงานข้ามชาติ มีความเป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ส่งผลให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในกลุ่มแรงงานเกิดได้ง่ายขึ้น อาจมาจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด สถานที่ทำงานหรือที่พักที่ยังขาดมาตรฐานการเฝ้าระวังทางสาธารณสุข

ปัจจุบันเกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยจำนวนผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ทั้งหมดในระลอกนี้หลายพันคน ซึ่งเกิดขึ้นในคลัสเตอร์คนงานก่อสร้างรัฐสภา คลัสเตอร์คนงานก่อสร้าง บ. แสงฟ้า เขตบางพลัด คลัสเตอร์โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าทุ่งครุ คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง จ.นนบุรี คลัสเตอร์โรงงานอาหารทะเลกระป๋อง จ.สมุทรปราการ คลัสเตอร์คนงานบริษัทแคลคอมพ์ จ.เพชรบุรี และคลัสเตอร์โรงงานปลากระป๋อง จ.สงขลา

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อภาคการผลิต ธุรกิจและเศรษฐกิจไทยไม่น้อย เมื่อไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่เป็นฐานรากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย จำนวนผู้ติดเชื้อที่เกิดขึ้นในกลุ่มก้อนแรงงานต่างๆ ส่งผลให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักเป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในพื้นที่ หรือในโรงงานนั้นๆ ลดลงจนถึงจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2563 ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีแรงงานที่อยู่ในระบบประมาณ 37 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครประมาณ 5.3 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจากสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รายงานข้อมูลล่าสุดเมื่อตุลาคม 2563 พบว่า มีแรงงานต่างด้าวอนุญาตให้ทำงานทั่วราชอาณาจักร 2,482,256 คน โดยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 498,788 คน สมุทรสาคร 229,853 คน สมุทรปราการ 150,869 คน นครปฐม 89,081 คน ราชบุรี 40,996 คน สมุทรสงคราม 13,700 คน

แน่นอนว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย พบว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีการขยายตัวที่มีความผันผวนตกต่ำกว่าปี 2561 ในทุกไตรมาสส่งผลให้ GDP ขยายตัวต่ำลงเหลือเพียง 2.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2561

โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวในอัตราต่ำอยู่แล้วในปี 2562 การขยายตัวทั้งปีเป็นศูนย์และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องทั้งปี ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมรุนแรง และติดลบไปถึง 5.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาคบริการปกติยังคงขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดีตลอดปี 2562 แต่การยืดเยื้อของสถานการณ์การแพร่ระบาดทำให้การขยายตัวของภาคบริการติดลบทุกไตรมาส 1.2 เปอร์เซ็นต์ ถึง 12.1 เปอร์เซ็นต์

ดูเหมือนว่าไทยจะต้องเผชิญกับความยากลำบากหลายด้านในเวลาเดียวกัน ทั้งการต้องควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงโดยเร็ว เพื่อให้สามารถประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายและภาคธุรกิจการค้ากลับมาดำเนินกิจการได้โดยเร็ว อีกทั้งยังต้องรับมือกับปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นแล้ว และอาจเพิ่มจำนวนขึ้นอีกในอนาคต

โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า มีผู้ว่างงานในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 ประมาณ 7.5 แสนคน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกันเกือบเท่าตัว ขณะที่ผู้เสมือนว่างงาน (แรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) ไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 5,411,407 คน ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้แม้จะยังมีงานทำ แต่มีชั่วโมงทำงานอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนความเปราะบางของตลาดแรงงานไทย ที่แม้หลายธุรกิจพยายามประคับประคองธุรกิจไว้ ไม่เลิกจ้างไปซะทีเดียว แต่ใช้วิธีลดเวลาการทำงาน แรงงานกลุ่มนี้จึงอาจได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน และหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า จนส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงไปในที่สุด กลุ่มคนที่เสมือนว่างงานก็จะเปลี่ยนสถานะไปเป็นผู้ว่างงานได้

นอกจากปัญหาการว่างงานในช่วงวิกฤตโควิดแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ดูจะเกาะติดอยู่กับสังคมไทยไม่ว่าจะยุคใด สมัยใดก็ตาม นั่นคือ ปัญหาการลักลอบขนแรงงานเถื่อนเข้าประเทศ

ในช่วงปลายปี 2563 จนถึงช่วงต้นปี 2564 การลักลอบขนแรงงานข้ามชาติเข้ามายังไทยแบบผิดกฎหมาย ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเคยทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “แรงงานเถื่อนกับโควิด-19” พบว่า ประชาชนมองว่า เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ร้อยละ 72.14 สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการคือ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดร้อยละ 68.32 และเห็นว่ากรณีที่กระทรวงแรงงานเปิดลงทะเบียนผ่อนผันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ เป็นการช่วยให้แรงงานทำงานได้อย่างถูกกฎหมายร้อยละ 63.81 มาตรการที่ควรช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวเพื่อป้องกันโควิด-19 คือ ควรตั้งจุดคัดกรองในชุมชนและสถานประกอบการ ร้อยละ 60.71

ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย โดยเฉพาะในห้วงยามนี้ ที่ยังมีกลุ่มคนที่รอจะฉกฉวยโอกาส โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ผลตอบแทนที่จะได้รับ มากกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศหรือสถานการณ์วิกฤตที่ประเทศไทย คนไทยส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญ

ผศ.ดร. พรภัทร อินทรวรพัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นรอยแผลของสังคมไทยที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ดังนั้นรัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานและหน่วยงานฝ่ายปกครองต้องทำงานเชิงบูรณาการเพื่อจัดการปัญหาอย่างเข้มข้นและจริงจัง ต้องลงโทษผู้กระทำผิดให้เป็นบทเรียนที่คนจดจำ ไม่ว่าจะเป็นคนของรัฐ ผู้ประกอบการ และนายหน้าที่ไร้จิตสำนึกด้านสิทธิมนุษยชน และนำพาประเทศเข้าสู่วิกฤต รัฐยังต้องดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวให้พ้นจากความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ พร้อมกับการดูแลความอยู่รอดทางธุรกิจของสถานประกอบการที่ทำถูกกฎหมาย สื่อสารมวลชนและประชาชนก็ต้องคอยติดตามปัญหานี้อย่าปล่อยให้เลยผ่าน สุดท้ายคนไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่โยนความผิดให้กับแรงงานต่างด้าวที่ต้องดิ้นรนเลี้ยงชีวิต เพราะทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานต่างด้าวเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ด้านภาคเอกชนที่กำลังประสบปัญหาการติดเชื้อโควิดในกลุ่มก้อนแรงงาน พยายามที่จะหาหนทางการรับมือและออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีแคมป์คนงานก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่กลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ และมีหลายคลัสเตอร์ในหลายพื้นที่ด้วยกัน ทำให้นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ กล่าวในงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม” ว่า “เราต้องช่วยกันแก้ก่อน เห็นไฟต้องรีบดับจะได้ไม่ลาม ถัดจากนี้ไปคงต้องมานั่งคุยอีกครั้งว่าจะดับไฟแบบไหนให้ง่าย และรัฐไม่เหนื่อยไปกว่านี้ เพื่อช่วยกันบรรเทาภาระของรัฐ เพราะเราไม่สามารถระดมฉีดวัคซีนในไซต์หรือแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่เป็นแรงงานต่างชาติได้ทันที ในขณะที่คนในประเทศยังฉีดวัคซีนได้ไม่กี่ล้านคน วัคซีนไม่มีทางเพียงพอ”

นอกจากนี้ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องเริ่มจากการแยกคัดกรองก่อน แล้วถึงจะเริ่มบริหารการฉีดวัคซีน มาก่อนมาหลังเรื่องหนึ่ง ชาติไทยต่างชาติอีกเรื่องหนึ่ง ต้องบริหาร เพราะว่าถ้าเราไม่บริหารเราฉีดคนไทยก่อนต่างชาติไม่ฉีดคงไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่า คนงานต่างชาติมีจำนวนเป็นล้านคน ที่เป็นกระดูกสันหลังของหลายธุรกิจ หลายอุตสาหกรรมในประเทศ ถ้าเขาติดโควิด หรือหยุดกลับไปบ้านเขา เราก็อยู่ไม่ได้ เนื่องจากแรงงานที่ขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศเป็นแรงงานต่างชาติ ดังนั้นการพูดคุยวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลมุมมองในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เมื่อภาครัฐเข้ามาร่วมมือ ทุกอย่างจะง่ายกว่า เพราะได้เตรียมดาต้าเบส และแผนการรับมือไว้พร้อมทุกเรื่องแล้ว ทำให้การแก้ปัญหาทำได้รวดเร็วมากขึ้น

ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาฯ ส่วนใหญ่จะมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในแคมป์คนงาน ต่างคนต่างดูแลแรงงานของตนเอง

ด้านแสนสิริ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ยกระดับมาตรการในการดูแลรักษาความสะอาดและความปลอดภัยในส่วนงานควบคุมงานก่อสร้าง โดยเฉพาะทีมงานและเจ้าหน้าที่ก่อสร้างที่ทุกโครงการแสนสิริ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่สนใจเข้าเยี่ยมชมโครงการแสนสิริ นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรมฆ่าเชื้อไวรัส UV Care และเครื่องฟอกอากาศเข้ามาติดตั้งในสำนักงานขายทุกโครงการ ให้ทุกครั้งที่เยี่ยมชมมีแต่ความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการควบคุมและดูแลคนงานก่อสร้าง ด้วยการคัดกรองการเข้า-ออกของคนงานอย่างเคร่งครัด มีมาตรการรักษาความสะอาด สวมแมสก์ตลอดเวลา ห้ามคนงานเดินเข้าพื้นที่ส่วนขาย กรณีจำเป็นให้คัดกรองสูงสุด มีการแยกส่วนพักและการรับประทานอาหารกลางวัน จัดที่พักเฉพาะคนงานและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และแยกที่พักอาศัย กรณีพบคนงานอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศา

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่า ผลร้ายที่เกิดจากจำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานจะออกมาในรูปแบบไหน แต่การที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากังวล สภาพคล่องทางการเงินของประชาชนลดลง น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่บ่งบอกอนาคตอันใกล้ได้เป็นอย่างดี

ใส่ความเห็น