วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2024
Home > Cover Story > บี.กริม เดินเครื่องดับบลิวเอชเอ 1 รองรับอุตสาหกรรมขยายตัว

บี.กริม เดินเครื่องดับบลิวเอชเอ 1 รองรับอุตสาหกรรมขยายตัว

“จากการคาดการณ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยน่าจะมีการขยายตัวจากปี 2559 ประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์” ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าว และนี่เองที่น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญในการเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บี.กริม เพาเวอร์ ดับบลิวเอชเอ 1 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

การเลือกพื้นที่ก่อตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของ บี.กริม ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ดูจะประจวบเหมาะกับแผนนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันเมืองชายแดนให้มีความกระเตื้องด้านเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นอยู่ จนท้ายที่สุด ภายใต้การนำทัพของหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจอย่าง ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EEC) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ด้วยเป้าหมายที่ประชาชนทั้งประเทศได้ยินแต่ยังไม่เข้าใจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ถึงความหมายที่แท้จริงเกี่ยวกับการนำประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่หวังว่านโยบายดังกล่าวจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นการนำไปสู่แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมหลัก เป้าหมายที่รัฐบาลเรียกขานว่า First S-curve และ New S-curve

ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมดังกล่าวประกอบไปด้วย 1. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 3. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ 4. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 5. การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ 6. เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ 7. อุตสาหกรรมการบิน 8. อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 9. อุตสาหกรรมดิจิทัล 10. การแพทย์ครบวงจร

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บี.กริม เพาเวอร์ (ดับบลิวเอชเอ) 1 หรือ BGP (WHA) 1 เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมระบบ Co-generation ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 130.2 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไอน้ำติดตั้ง 30.0 ตันต่อชั่วโมง และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2559

โดยนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี มีผู้ประกอบการกว่า 100 ราย ในภาคอุตสาหกรรมเหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน ชิ้นส่วนยานยนต์ “BGP (WHA) 1 เป็นโรงไฟฟ้า SPP โรงที่ 12 และเป็นแห่งล่าสุดของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดยกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 90 เมกะวัตต์ ภายใต้สัญญาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กเป็นระยะเวลา 25 ปี ส่วนไฟฟ้าส่วนที่เหลือและไอน้ำทั้งหมดจะถูกจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี โดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้มอบสิทธิให้ บี.กริม เพาเวอร์ แต่เพียงผู้เดียวในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่กำหนดไว้ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช

ขณะที่ บี.กริม พยายามอย่างหนักในการจะสร้างผลงานเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และแน่นอนว่าต้องสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนรายย่อยเพื่อให้ได้รับกระแสเสียงตอบรับในทางที่ดีหลังจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในเร็ววันนี้ด้วยเช่นกัน

กระนั้นความคาดหวังจากคนนอกดูจะเป็นแรงกดดันไม่น้อยสำหรับ บี.กริม เพาเวอร์ หากแต่ยังไม่เท่ากับแรงเสียดทานที่อาจจะได้รับเมื่อต้องเจอกับคู่แข่ง เช่น บริษัท ราชบุรี เวอลด์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของราชบุรีโฮลดิ้ง และบริษัท เอสเอสยูที จำกัด (เอสเอสยูที) ที่ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู

เมื่อพลังงานไฟฟ้าเป็นเมกะเทรนด์ที่ยังอยู่ในกระแส เพราะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ และแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยดูจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากตลอดหลายปีนี้จะมีผู้ประกอบการแห่แหนกันเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้ากันมากขึ้น

ซึ่งธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดูจะสดใสและมีอนาคตอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2551 เป็น 17 เปอร์เซ็นต์ในปี 2559 ข้อดีของโรงไฟฟ้าอุตสาหกรรมที่มีไฟฟ้าคุณภาพดีและมีเสถียรภาพสูง อีกทั้งยังมีไอน้ำจากกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นที่ต้องการของบรรดาผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม

การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมน่าจะส่งผลดีอย่างต่อเนื่องต่อธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยปัจจุบันภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด

ขณะที่บี.กริม เพาเวอร์ เองยังคงเดินหน้าสานต่อการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าตามที่วางไว้ทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 5 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 18,749.0 ล้านบาท และจะมีโรงไฟฟ้าที่สามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้อีก 2 โครงการในปี 2560 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเซน้ำน้อย 2 และ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเซกะตำ 1 ใน สปป.ลาว

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาอีกจำนวน 10 โครงการ โดยภายในปี 2564 บี.กริม จะมีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการได้ทั้งสิ้น 43 โครงการ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 2,357 เมกะวัตต์ และการผลิตไอน้ำรวมเพิ่มขึ้นเป็น 500.0 ตันต่อชั่วโมง โดยมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2,111.1 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 114.2 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 102.6 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 16.0 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง 13.0 เมกะวัตต์

เป้าหมายของความพยายามที่จะสร้างแบรนด์ B.Grimm ให้โลดแล่นในโลกธุรกิจพลังงานของปรียนาถ สุนทรวาทะ และวาทกรรมที่น่าขบคิดของผู้บริหารหญิงคนนี้ที่ว่า “เราเริ่มจากเล็กๆ เพื่อทำความเข้าใจ และเราจะเติบโตได้อย่างดี แต่ถ้าสิ่งไหนที่เราเข้าใจดีแล้ว เราจะเริ่มจากใหญ่ๆ เลยก็ได้”

บนสนามประลองที่เต็มไปด้วยคู่ต่อสู้ที่มากไปด้วยฝีมือและความพรั่งพร้อมด้านเทคโนโลยี น่าจะทำให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งการแข่งขันที่น่าจับตาไม่น้อย การขยายตัวของทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเติบโตของผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้า น่าจะเกื้อหนุนกันได้อย่างดี และแน่นอนว่า หากทั้งสองธุรกิจเติบโตไปได้ นั่นหมายถึงเศรษฐกิจไทยก็น่าจะสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เช่นกัน

ใส่ความเห็น