วันพฤหัสบดี, กันยายน 12, 2024
Home > Cover Story > เคาน์เตอร์เซอร์วิส “ธุรกิจเก็บเศษเงิน” มูลค่ามหาศาล

เคาน์เตอร์เซอร์วิส “ธุรกิจเก็บเศษเงิน” มูลค่ามหาศาล

 
อย่าแปลกใจ ถ้าขณะจ่ายเงินค่าสินค้าในร้าน 7-11 แล้วได้ยินพนักงานขายถามว่า “รับขนมจีบ ซาลาเปา กรมธรรม์ หรือตั๋วเครื่องบิน เพิ่มไหมคะ” เพราะทั้งหมดนี้ล้วนมีจำหน่ายแล้วภายในร้าน 7-11 ที่มีสัญลักษณ์ “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” ทุกร้านทั่วประเทศ
 
ทั้งนี้ ร้าน 7-11 เปิดจำหน่ายบัตรโดยสารเครื่องบินเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย ในการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศอย่างครบวงจรที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส จากเดิมที่ทำหน้าที่รับชำระเงินค่าตั๋วที่จองผ่าน Call Center หรือเว็บไซต์มาแล้วเท่านั้น สำหรับบริการใหม่ ผู้โดยสารสามารถเลือกเส้นทาง วันเดินทาง ที่นั่ง รวมทั้งบริการเสริม จากนั้นก็ชำระเงิน และรับตั๋ว (e-ticket) ได้ทันที  
 
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เคาน์เตอร์เซอร์วิสขายตัวไทยแอร์เอเชียไปแล้วกว่า 1 หมื่นฉบับ โดยปัจจุบัน บริษัทยังให้บริการจำหน่ายตั๋วครบวงจรให้กับสายการบิน “นกแอร์” แล้วด้วย 
 
ไม่เพียงขายตั๋วเครื่องบิน เมื่อปีแล้วเคาน์เตอร์เซอร์วิสยังได้รับใบอนุญาตในการเป็นตัวแทนขาย “ไมโครอินชัวรันส์” หรือกรมธรรม์สำหรับรายย่อย แบบที่เข้าใจง่ายและราคาไม่แพง ให้กับ 6 พันธมิตรชั้นนำ ได้แก่ เมืองไทยประกันชีวิต เมืองไทยประกันภัย อลิอันซ์ ซี.พี. ไทยวิวัฒน์ กรุงเทพประกันภัย และเอไอเอ รวมถึงเป็นตัวแทนขายและรับชำระเบี้ย “ประกันภัย 200” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา 
 
บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส (Counter Service) ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 เพื่อเป็นธุรกิจให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ตลอดจนบริการจำหน่ายบัตรผ่านเข้าชมการแสดงต่างๆ อีกทั้งยังมีเป้าหมายเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนให้ร้าน 7-11 กลายเป็น “One Stop Service Shop” โดยบริษัทเกิดขึ้นหลังจากร้าน 7-11 เปิดดำเนินการเพียง 6 ปี และบริษัทได้ถูกรวมเข้าสู่กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและจัดจำหน่ายของเครือ CP ในปี 2539 
 
ช่วงเริ่มต้น เคาน์เตอร์เซอร์วิสถือเป็นธุรกิจใหม่สำหรับคนไทย บวกกับจำนวนสาขายังมีน้อย ผู้บริโภคจึงยังไม่ให้การยอมรับ โดยส่วนใหญ่นิยมชำระค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการต่างๆ ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารเป็นหลัก
 
“ช่วงแรกผู้บริโภคยังไม่มั่นใจว่าจะเชื่อได้จริงหรือ สู้ไปชำระเองแล้วได้ใบเสร็จมา เขารู้สึกว่ามั่นใจกว่า ขณะที่องค์กรต่างๆ ที่เราไปคุย หลายรายยินดีต้อนรับแต่ไม่มีใครยินดีให้เรารับชำระให้ เพราะยังไม่เข้าใจว่าธุรกิจของเราคืออะไร กว่าจะมาถึงวันนี้ ต้องบอกว่าที่รอดมาได้เพราะมีผู้ปกครองชื่อ CP ALL” 
 
วีรเดช อัครผลพานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เล่าว่า ราวปี 2539-2540 เคาน์เตอร์เซอร์วิสได้พันธมิตรสำคัญรายแรกอย่างการประปาฯ ที่ยอมให้บริษัทเป็นตัวแทนรับชำระค่าน้ำ จึงเริ่มมีผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ จากนั้นก็ได้การไฟฟ้าฯ และองค์การโทรศัพท์ฯ เข้ามาร่วมตามลำดับ จึงกลายเป็นที่มาของลำดับ “น้ำ-ไฟ-โทรศัพท์” เวลาที่เอ่ยถึงค่าสาธารณูปโภค ด้วยบริการชำระค่าสาธารณูปโภคเป็นหลัก บวกกับจำนวนเพียงไม่กี่ร้อยสาขา ส่งผลให้ในช่วงแรก บริษัทมียอดรับชำระเฉลี่ยเพียงเดือนละ 3,600บิล/เดือน 
 
จุดเปลี่ยนสำคัญในธุรกิจนี้เกิดขึ้นในปี 2552 เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้มอบใบอนุญาตเป็นตัวแทนรับชำระตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเคาน์เตอร์เซอร์วิสถือเป็นผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงินรายแรกที่ได้รับใบอนุญาต ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดกว้างให้ “ผู้เล่น” รายอื่นเข้าสู่ตลาดด้วยเช่นกัน
 
เนื่องจากการเป็นตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีสิทธิออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี แทนองค์กรที่มอบหมายให้เคาน์เตอร์เซอร์วิสรับชำระแทน มีผลให้ผู้ใช้บริการที่ถือใบเสร็จหรือหลักฐานการรับเงินที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสออกให้ ได้รับความคุ้มครองเสมือนได้รับใบเสร็จจากองค์กรนั้น จึงทำให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจในการชำระเงินกับเคาน์เตอร์เซอร์วิสมากขึ้น
 
ปัจจุบัน ด้วยเครือข่ายสาขาถึง 9,300 แห่ง อยู่ในร้าน 7-11 กว่า 7,600 สาขา อีกเกือบ 2 พันสาขาอยู่ในห้างและร้านค้าชุมชน บวกกับบริการที่มีถึงกว่าพันรายการ ทำให้ยอดรับชำระเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 10 ล้านบิล/เดือน โดยค่าธรรมเนียมการรับชำระบิลอยู่ที่ 10-15 บาทต่อรายการ
 
บริการการรับชำระ (Bill Payment) ประกอบด้วย ค่าสาธารณูปโภคทั้งหลาย, ค่าบัตรเครดิตและสินเชื่อของธนาคาร, ชำระสินค้าเงินผ่อน, ค่าประกัน, ค่าเทอม, ค่าปรับจราจร, บริการต่อภาษีรถยนต์, ค่าสมัครทดสอบO-NET GAT PAT ฯลฯ, ค่าสินค้าและบริการที่ซื้อผ่านระบบออนไลน์, ค่าสินค้าธุรกิจขายตรง, รับชำระค่าตั๋วโดยสาร และตั๋วชมภาพยนตร์ หรือการแสดงต่างๆ ฯลฯ 
 
รวมถึงบริการเติมเงินในบัตร Easy Pas, ระบบ Pay TV ฯลฯ หรือบริการ “เติมบุญ” ด้วยการเลือกทำบุญกับวัดที่ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร มูลนิธิ และองค์กรเพื่อการกุศล ต่างๆ หรือทำบุญแพคเกจ 9 วัดในแคมเปญ “สะดวกบุญ” โดยเคาน์เตอร์เซอร์วิสจะเป็น “ตัวกลาง” รับและส่งมอบเงินบริจาคให้กับองค์กรเหล่านั้น 
 
“ตลอด 20 ปีในการเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน เราไม่เคยหยุดยั้งที่จะนำเสนอ “นวัตกรรม” การให้บริการแก่ลูกค้า โดยนับจากนี้ เราจะไม่เพียงให้บริการทางการเงินแบบ “สะดวกจ่าย” แต่เราจะก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้าน “สบายรับ” อีกด้วย” 
 
คำกล่าวของวีรเดชแสดงถึง “จุดเปลี่ยนสำคัญ” อีกครั้งของเคาน์เตอร์เซอร์วิส นั่นคือการเป็นพันธมิตรกับผู้นำในธุรกิจธนาคารอย่างกสิกรไทย เปิดตัวบริการ “รับโอนเงินผ่านเอทีเอ็มรับเงินสดที่ร้าน 7-11” หรือ “K-ATM to 7-Eleven” โดยผู้รับเงินไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินฝาก เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ ผู้โอนเงินต้องเป็นผู้ถือบัตรเดบิตหรือ ATM ของกสิกรไทย โดยทำรายการโอนเงินผ่านตู้ ATM กสิกรไทยที่มีกว่า 7,800 เครื่อง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โอนได้สูงสุด 5,000 บาท/รายการ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ค่าธรรมเนียมรายการละ 30 บาท จากนั้นนำรหัสที่ได้จากตู้ ATM บอกหรือส่งต่อให้ผู้รับทาง SMS ผู้รับสามารถรับเงินสดได้ทันที เพียงแค่นำบัตรประชาชนและแจ้งรหัสที่ร้าน 7-11 ที่มีเคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา
 
ว่ากันว่า ตลาดธุรกรรมการโอนเงินโดยกลุ่มลูกค้าบุคคลผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นตลาดใหญ่ มีการขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 15% โดยมูลค่าตลาดในปี 2556น่าจะสูงถึงราว 1,500 ล้านล้านบาท 
 
นี่จึงถือเป็น “ก้าว” สำคัญในการขยายสู่ฐานรายได้แหล่งใหม่ของเคาน์เตอร์เซอร์วิส นักวิเคราะห์ประเมินว่า บริษัทน่าจะได้รับค่าธรรมเนียมจากการรับโอนเงินแทนเป็นจำนวนมาก และยังมีโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกรรมทำนองเดียวกันหากขยายบริการไปยังธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น
 
แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมในอุตสาหกรรมรับชำระบิลจะอยู่ที่หลัก “ไมกี่สิบบาท” ต่อรายการ แต่เมื่อดูจากจำนวนบิลต่อเดือนในท้องตลาด ซึ่งคาดว่าไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบิล/เดือน ขณะที่ “ผู้เล่น” บางรายเชื่อว่าอาจสูงถึง 50 ล้านบิล/เดือน ยิ่งบวกกับอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 15-20% ต่อปี ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดรับชำระเงินดูเย้ายวน จนคู่แข่งค้าปลีกอย่าง “เทสโก้ โลตัส” “บิ๊กซี” รวมถึง “ไปรษณีย์ไทย” ต้องเข้ามาปันส่วนแบ่ง โดย “แฟมิลี่มาร์ท” เป็นผู้เล่นรายล่าสุด โดยร่วมกับไทยพาณิชย์ เปิดบริการรับชำระบิลเมื่อกลางปีที่แล้ว ขณะที่อดีตช่องทางหลักอย่างกลุ่มธนาคาร ต่างก็งัดกลยุทธ์ทั้งราคาและโปรโมชั่นมาสู้อย่างหนักเช่นกัน 
 
ไม่เพียง “คู่แข่ง” รูปแบบเคาน์เตอร์ หรือ “ออฟไลน์” ในตลาดยังมี “ผู้เล่น” ที่เป็นช่องทางใหม่คือ “Online Payment” และ “Mobile Payment” อาทิ easybill, True Money Wallet หรือ Bank on Mobile ค่อยๆ เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เริ่มยอมรับเทคโนโลยีทางการเงินเหล่านี้มากขึ้น 
 
วีรเดชเชื่อมั่นว่า ด้วยเครือข่ายสาขาที่มากกว่าคู่แข่ง นวัตกรรมบริการที่หลากหลายกว่า บวกกับการมี “แบ็กอัพชั้นดี” อย่างเครือ CP ถือเป็นข้อได้เปรียบที่แข็งแกร่งที่ทำให้เคาน์เตอร์เซอร์วิสเป็น “ผู้นำตลาด” มาตลอดและน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไป 
 
สำหรับเป้าหมายปีนี้ วีรเดชกล่าวว่า น่าจะเติบโต 15-20% ส่วนรายได้น่าจะแตะระดับ 2 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยปีนี้จะขยายสาขาอีก 850 สาขา ซึ่งจะทำให้เครือข่ายเคาน์เตอร์เซอร์วิสทะลุหลักหมื่นในปีนี้  
 
“รายได้หลักพันล้านอาจดูเยอะ แต่กำไรในธุรกิจนี้ “บางเฉียบ” เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงทั้งเรื่องไอทีและบุคลากร แต่ก็จำเป็น ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความเป็นผู้นำ และที่มากกว่ากำไร คือการเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน 7-11 ซึ่งเป็นรายได้หลักของเครือ ผลพลอยได้คือ “พันธมิตร” และ “โอกาส” ทางธุรกิจใหม่ๆ ของบริษัทแม่” 
 
อรรถาธิบายทิ้งท้ายของวีรเดช สะท้อนภาพธุรกิจเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่หลายคนเรียกว่าเป็นธุรกิจแห่ง “การเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” ได้เป็นอย่างดี