วันพฤหัสบดี, กันยายน 12, 2024
Home > Cover Story > แผนปลุกแลนด์มาร์ครังสิต แจ้งเกิด “ฟิวเจอร์ซิตี้”

แผนปลุกแลนด์มาร์ครังสิต แจ้งเกิด “ฟิวเจอร์ซิตี้”

 
พิมพ์ผกา หวั่งหลี ใช้เวลา 20 ปี ปลุกปั้นที่ดินผืนใหญ่ 600 ไร่ มรดกตกทอดจากย่าทองพูล หวั่งหลี จนกลายเป็นแลนด์มาร์คย่านรังสิต ปรับกลยุทธ์และฝ่าวิกฤตหลายรอบ ล่าสุดเปิดโครงการ Zpell @ Futurepark  ปรับภาพลักษณ์ใหม่ ไม่ใช่แค่ศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ตอนเหนือ แต่เป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัยของกลุ่มลูกค้าทุกไลฟ์สไตล์ และกำลังเร่งต่อจิ๊กซอว์แจ้งเกิดอาณาจักร “ฟิวเจอร์ซิตี้ (Future City)” เต็มรูปแบบ หลังประกาศแนวคิดนี้มานานกว่า 10 ปี 
 
จาก “ห้างกลางทุ่งนา” เมื่อครั้งอดีต ที่ใครๆ มักกระทบกระเทียบว่า “จะเปิดร้านไปขายให้ควายที่ไหน” แต่ ณ วันนี้ ย่านรังสิตหรือพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนเหนือต่อเนื่องกับจังหวัดปทุมธานีกลายเป็นทำเลทอง แหล่งชุมชนหนาแน่น
 
เฉพาะพื้นที่คลอง 1-6 จากข้อมูลของบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายทั้งหมด 67 โครงการ แยกเป็นโครงการบ้านจัดสรร 55 โครงการ จำนวน 12,437 หน่วย และเป็นบ้านเดี่ยวมากที่สุดจำนวน 5,028 หน่วย โดย 81% เป็นบ้านเดี่ยวที่ขายในระดับราคามากกว่า 3-5 ล้านบาทขึ้นไป
 
ขณะเดียวกัน ภาครัฐมีแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งการพัฒนาระบบราง ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วปานกลางและรถไฟความเร็วสูง การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อรังสิต และสายสีแดงส่วนต่อขยายรังสิตธรรมศาสตร์ โครงการรถโดยสารปรับอากาศพิเศษ (บีอาร์ที) โซนรังสิต โครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอินโคราช โครงการปรับปรุงและขยายสนามบินดอนเมือง ยกระดับศูนย์กลางการเดินทางด้วยสายการบินโลว์คอสต์ 
 
ที่สำคัญ ย่านรังสิตกลายเป็นสมรภูมิค้าปลีกกรุงเทพฯ ตอนเหนือ ที่แข่งขันดุเดือดไม่แพ้โซนตะวันออกอย่างศรีนครินทร์ หรือโซนตะวันตกแถบบางใหญ่ ราชพฤกษ์ โดย “ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต” สามารถผูกขาดตลาดและขยับฐานะจากศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ตอนเหนือ พื้นที่ก่อสร้าง 506,000 ตารางเมตร กลายเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อบวกโครงการสเปลล์ ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ ที่เชื่อมต่อกับตัวอาคารของศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รวมพื้นที่เป็น 600,000 กว่า ตร.ม.
 
พิมพ์ผกา หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการบริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการสเปลล์ช่วยเสริมศักยภาพให้ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คมีความแข็งแกร่งมากขึ้นและรองรับโครงการพัฒนาที่ดิน 600 ไร่ รอบศูนย์การค้า ให้เป็นเมืองแห่งการค้าและบริการที่สมบูรณ์แบบ ภายใต้ชื่อ “ฟิวเจอร์ซิตี้” ซึ่งตามแผนจะใช้เวลา 7-10 ปี เติมเต็มองค์ประกอบต่างๆ จนเต็มรูปแบบและอาจใช้เงินลงทุนเกือบ 100,000 ล้านบาท 
 
หากมองภาพรวมของ “ฟิวเจอร์ซิตี้” ในปัจจุบัน โซนค้าปลีก ประกอบด้วย ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค, สเปลล์, ห้างเซ็นทรัล, ห้างโรบินสัน, บิ๊กซี, ท็อปส์มาร์เก็ต, โฮมโปร, อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ และออฟฟิศเมท 
 
โซนเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ได้แก่ เมเจอร์ซินีเพล็กซ์ โรงเบียร์เยอรมัน คันทรีเพลส โดยแผนขั้นต่อไป พิมพ์ผกากำลังเติมเต็มองค์ประกอบต่างๆ ในทุกพื้นที่ ทั้งฝั่งฟิวเจอร์พาร์ค ฝั่งตลาดรังสิตและฝั่งเทสโก้โลตัส 
 
เฉพาะปี 2557-2558 บริษัทเปิดให้บริการสนามฟุตซอล ฟิวเจอร์อารีน่า และโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล โดยหลังจากนี้จะพิจารณาดึงบริษัทในเครือเข้ามาพัฒนาโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และโรงแรมระดับ 4 ดาว รวมทั้งเปิดโอกาสทางธุรกิจในการร่วมทุนกับพันธมิตรอีกหลายราย เพื่อเพิ่มความเป็นเมืองในพื้นที่ที่เหลืออยู่ รองรับแผนการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายและผู้ใช้บริการที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว 
 
ไม่ใช่แค่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีจำนวนประชากรมากถึง 4.5 ล้านคน ในพื้นที่รัศมี 20 กิโลเมตร ทั้งโครงการที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ สถาบันการศึกษา 22 แห่ง และหน่วยงานราชการอีก 30 หน่วยงาน แต่รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะหลั่งไหลจากทั่วประเทศ เนื่องจากฟิวเจอร์ซิตี้ตั้งอยู่บนจุดที่เรียกว่า “เกตเวย์” เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ ไปสู่ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 56 จังหวัด
 
แน่นอนว่า แผนแจ้งเกิด “ฟิวเจอร์ซิตี้” ยังถือเป็นบททดสอบที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของกลุ่มทุนของคนตระกูลหวั่งหลีและเครือพูลผลกรุ๊ป ซึ่งเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นขึ้นโดยคุณนายทองพูล ล่ำซำ เมื่อ 60 กว่าปีก่อน และหากสืบสาวที่มาที่ไป แม้คุณนายทองพูลจะเป็นลูกสาวของตระกูลล่ำซำ และเป็นภรรยา ตันซิวเม้ง ทายาทรุ่นแรกๆ ของตระกูลหวั่งหลี แต่ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของทั้งสองตระกูล เพราะสินทรัพย์ต่างๆ มักตกอยู่กับทายาทผู้ชาย 
 
คุณนายทองพูลจึงตัดสินใจตั้งบริษัทพูลผล สร้างธุรกิจของตัวเอง โดยมีสามีและลูกชายลูกสาวนามสกุลหวั่งหลี 12 คน ช่วยกันขยายกิจการจากธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารจนรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีบริษัทในเครือหลายบริษัท เช่น บริษัท พูลผล ค้าขายพืชผลทางการเกษตร ทั้งในและต่างประเทศ บริษัท สิทธินันท์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าวุ้นเส้นตราต้นสน ต้นถั่ว ต้นไผ่ และแป้งถั่วเขียวตราต้นสน บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืช “กุ๊ก” และบริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลัง 
 
ส่วนกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสร้างเมืองฟิวเจอร์ซิตี้ ประกอบด้วย บริษัทพิพัฒนสิน จำกัด ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการออฟฟิศบิวดิ้ง บริษัท พูลพิพัฒน์ จำกัด ประกอบธุรกิจคลังสินค้า โกดังให้เช่า บริษัท รังสิตร่วมพัฒนา จำกัด เจ้าของและผู้บริหารตลาดสดรังสิตและอพาร์ตเมนต์รังสิต และบริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด ผู้บริหารธุรกิจศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต 
 
สำหรับพิมพ์ผกาเข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัวเมื่อปี 2534 โดยหลังจบปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา และเริ่มงานเป็นวาณิชธนกิจให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) เอกธนกิจฯ หรือฟินวัน  แต่ทำได้ปีเดียว สุกิจ หวั่งหลี ผู้เป็นพ่อดึงเข้ามาลุยงานพัฒนาที่ดินย่านรังสิตของย่าทองพูล
   
เวลานั้น คนในตระกูล “หวั่งหลี” เชิญผู้บริหารห้างสรรพสินค้า 3 กลุ่มเข้ามาเสนองาน คือ กลุ่มเดอะมอลล์ เซ็นทรัล และฟิวเจอร์ พาร์ค ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มยูนิเวสท์จับมือกับโรบินสันและสุดท้ายกลุ่มฟิวเจอร์ พาร์ค ได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนของหวั่งหลี ต่อมากลุ่มหวั่งหลีขอซื้อหุ้นจากกลุ่มฟิวเจอร์พาร์ค
 
พิมพ์ผกากล่าวกับ “ผู้จัดการ360 ํ” ว่า เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผู้บริหารในเครือต่างมองเห็นศักยภาพของที่ดินผืนใหญ่และตั้งเป้าพัฒนาโครงการเมืองขนาดใหญ่ แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยเริ่มหมุดตัวแรกสร้างศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จนกระทั่งทำเลมีการพัฒนาต่อเนื่อง จากเดิมกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าระดับ B เปลี่ยนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น ขณะที่ไม่มีศูนย์การค้ารองรับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายใหม่คนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ทำให้ฟิวเจอร์พาร์คต้องพัฒนาและยกระดับตามไลฟ์สไตล์ให้ทัน
 
 ปัจจุบัน ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต มีจำนวนผู้มาใช้บริการเฉลี่ย 157,000 คนต่อวัน เป็นลูกค้าระดับ A ถึง 40% และระดับ A-B ประมาณ80% ซึ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ แต่ใช้ชีวิตการทำงานในเมือง และมีไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง ซึ่งไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้ต้องการความสะดวกสบาย ไม่ต้องฟันฝ่าการจราจรไปชอปปิ้งในเมือง และต้องการอัพเดทเทรนด์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ฟิวเจอร์พาร์คลงทุนโครงการสเปลล์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ 
 
“สเปลล์” ใช้เงินลงทุนรวม 4,000 ล้านบาท โดยวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นศูนย์การค้าที่ไม่ธรรมดา หรือ Never Regular  แหล่งรวมแฟชั่นชั้นนำและกลุ่มไดนิ่ง จำนวนมากกว่า 200 ร้าน อย่างกลุ่มแฟชั่น เช่น Cath Kidston, Aldo, H&M, MNG, Top Shop, Asics, Under Amour, Paul Frank Caf?  และกลุ่มไดนิ่ง ได้แก่ ร้าน Coffee Bean by Dao, Akiyoshi, On the Table, After you, Muteki By Mugendai  
 
มีพื้นที่จัดกิจกรรมกลางแจ้งกว่า 7,000ตร.ม. กับคอนเซ็ปต์ “ECO PARK”  มี Ice Skate ลานน้ำแข็งแบบโอเพ่น พื้นที่ 800 ตร.ม. รองรับการแข่งขันระดับทัวนาเมนต์ และลานฝึกสกีในร่ม “สกี 365” ซึ่งจำลองบรรยากาศลานฝึกสกีในร่ม พื้นที่ 1,000 ตารางเมตร พร้อมสโลปฝึกเล่นสกีและสโนว์บอร์ด ความยาวกว่า 11 เมตร จำนวน 3 สโลป  โดยบริษัท อัลไพน์ เอ็นจิเนียริ่ง ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ผลิตอุปกรณ์เล่นสกีและสโนว์บอร์ดชั้นนำในยุโรปเป็นผู้บริหารและจัดการทั้งหมด
 
พิมพ์ผกามั่นใจว่า สเปลล์จะดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก 50,000 คนต่อวัน เป็น 2 แสนคนต่อวัน และยังถือเป็นการจุดพลุกระหึ่มโครงการ “ฟิวเจอร์ซิตี้” ที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้ด้วย