วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > ออง ซาน ซูจี เยือนไทย และจังหวะก้าวที่กว้างไกลของอาเซียน?

ออง ซาน ซูจี เยือนไทย และจังหวะก้าวที่กว้างไกลของอาเซียน?

 
 
ข่าวการเยือนประเทศไทยของออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน ที่ผ่านมา ต้องถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของทั้งไทยและเมียนมา ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
 
เพราะในด้านหนึ่งนี่คือการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของออง ซาน ซูจี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนและที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา หลังจากต่อสู้จนสามารถนำพาประเทศกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง
 
ความน่าสนใจของการเยือน นอกจากจะอยู่ที่พิธีการเข้าพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐไทยและปาฐกถาพิศษที่กระทรวงการต่างประเทศในหัวข้อ “Myanmar, ASEAN and the World: The Way Forward” แล้ว
 
ฉากแห่งการเดินทางเยี่ยมเยือนและพบปะแรงงานพม่าที่ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร ยังเป็นประหนึ่งการกระตุ้นเตือนถึงความสำคัญและเปราะบางในประเด็นว่าด้วยแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาข้อเสนอเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานชาวเมียนมา ผ่านทางออง ซาน ซูจี ที่ปรากฏในเวลาต่อมา
 
ข้อเสนอเรียกร้องดังกล่าวประกอบด้วย 1. ขอให้เปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามรอบใหม่ ภายใต้เหตุผลว่ายังมีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายและลักลอบทำงานในไทย ประมาณ 1-2 ล้านคน
 
โดยให้รัฐบาลเมียนมาจัดส่งทีมเจ้าหน้าที่และจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าร่วมกับทางการไทย เพื่อให้สามารถออกเอกสารรับรองสถานะและสัญชาติเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในลักษณะของหนังสือแสดงตัวบุคคล ซึ่งไม่ใช่หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ก่อน และออกเป็นพาสปอร์ตภายหลัง ทั้งกลุ่มแรงงานเมียนมา ที่จดทะเบียนใหม่ และกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ
 
2. ขอให้ไทยบังคับใช้กฎหมาย ให้นายจ้างไทยจ่ายค่าจ้างตามข้อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เนื่องจากขณะนี้นายจ้างบางส่วนทั้งในกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และจังหวัดต่างๆ ยังจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 300 บาท
 
3. ขอสิทธิแรงงานเมียนมาที่มีบัตรสีชมพู สามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ โดยไม่ถูกจำกัดการเดินทางให้อยู่เฉพาะในจังหวัดที่ทำงานเท่านั้น
 
4. ขอให้ลงนาม MOU ระหว่างทางการไทยกับเมียนมา ในการนำเข้าแรงงานมาทำงานในไทย โดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีกระบวนการนายหน้าเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์
 
5. ขอให้ทางการไทยดูแลบุตรหลานแรงงานเมียนมาให้ได้รับการศึกษาและสาธารณสุข รวมทั้งสามารถเทียบโอนวุฒิการศึกษาระหว่างไทยกับเมียนมาได้
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอยู่ที่กำหนดการเยือนครั้งนี้ ทั้งไทยและเมียนมา มีกำหนดจะลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน และความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน เพื่อประโยชน์ร่วมกันของภาคเอกชนไทยและแรงงานเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทยด้วย
 
และทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวจะดูเหมือนได้รับการตอบสนองจากผู้นำทหารในรัฐไทย อย่างรวดเร็วโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ลงนามในคำสั่งย้ายข้าราชการระดับสูงทั้งผู้ว่าราชการ อัยการ และข้าราชการระดับสูงในจังหวัดสมุทรสาครอีกหลายตำแหน่ง พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน
 
เรียกได้ว่าการเยือนตลาดทะเลไทยของ ออง ซาน ซูจี ส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งจังหวัดสมุทรสาครเลยก็ว่าได้ และอาจส่งผ่านแรงกระเพื่อมไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
 
ขณะที่ในปาฐกถาพิเศษที่กระทรวงการต่างประเทศ ออง ซาน ซูจี ยังได้เน้นย้ำว่า มีชาวพม่าจำนวนมากอยู่ในประเทศไทย ไทยและพม่ามีความสัมพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นเพื่อนบ้านที่ไม่สามารถย้ายไปจากกันได้ จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สามัคคี และเป็นมิตรภาพ
 
“ประสบการณ์หลายปีที่ผ่านมาได้เรียนรู้ว่า คุณสมบัติของมนุษย์ที่สำคัญ คือความเมตตากรุณา ที่ทั้งภาษาไทยและพม่าใช้รากศัพท์ของคำว่า “กรุณา” เหมือนกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเชื่อมั่นก่อนว่า มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีความหวังและความกลัวเช่นเดียวกัน ซึ่งหากมีกรุณาแล้วจะทำให้โลกมีสันติภาพได้” ออง ซาน ซูจี ระบุในช่วงหนึ่งของปาฐกถา
 
เนื้อหาของปาฐกถาพิเศษ “Myanmar, ASEAN and the World: The Way Forward” นี้ เกิดขึ้นในห้วงยามที่แนวความคิดว่าด้วยการรวมกลุ่มความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคกำลังถูกสั่นคลอนหลังจากที่สหราชอาณาจักรเพิ่งลงประชามติเพื่อขอถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
 
“การพัฒนาไปข้างหน้าที่เกิดจริง จะต้องมีสันติภาพก่อน เรากำลังทำงานร่วมกัน เพื่อเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นสันติภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเข้าใจ โดยมนุษย์ทุกคนไม่ได้มีใครดีหรือแย่กว่ากัน เพียงแต่มีความแตกต่างและความเหมือนกัน จึงต้องแสวงหาจุดร่วมในความเหมือนเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้” ออง ซาน ซูจี ระบุ
 
สิ่งที่ออง ซาน ซูจี ดูจะเน้นย้ำเป็นพิเศษจากปาฐกถาครั้งนี้อยู่ที่ความร่วมมือกับอาเซียน โดยระบุว่าความหลากหลายคือจุดแข็งของอาเซียน ซึ่งการเผชิญปัญหาและแก้ไขปัญหาภายในได้ อาเซียนก็ต้องมีความเป็นปึกแผ่น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในหลายมิติ ทั้งความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนต่อประชาชน
 
ประเด็นที่น่าสนใจหลังจากนี้อยู่ที่ว่า ภายใต้ข้อเสนอเรียกร้องว่าด้วยสวัสดิภาพแรงงานต่างด้าว และข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นและดำเนินอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ ประชาชนต่อประชาชนจะมีความเข้าใจต่อกันมากน้อยเพียงใด
 
และจะสามารถนำพาสำนึกอาเซียนผ่านพ้นความคิดชาตินิยมที่พร้อมจะนำพาตัวเองออกจากกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคได้หรือไม่ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญครั้งใหม่ของอาเซียนที่น่าสนใจยิ่ง