วันเสาร์, พฤษภาคม 11, 2024
Home > On Globalization > ปัญหาการบังคับเด็กผู้หญิงแต่งงานในทวีปเอเชีย

ปัญหาการบังคับเด็กผู้หญิงแต่งงานในทวีปเอเชีย

 
Column: Women in Wonderland
 
คงเคยได้ยินเรื่องเด็กผู้หญิงถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้ชายที่มีอายุมากกว่าหรืออาจจะมีอายุพอๆ หรือมากกว่าบิดาของเด็กหญิงด้วยซ้ำ ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เยเมน เอธิโอเปีย บังกลาเทศ ปากีสถาน และอินโดนีเซียเป็นต้น เด็กสาวส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้ถูกบังคับให้แต่งงานเมื่อพวกเธออายุยังไม่ถึง 15 ปีเลยด้วยซ้ำ สาเหตุหลักที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกสาวของพวกเขาแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยเพราะต้องการประหยัดเงินค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู และยังได้เงินค่าสินสอดเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
 
ผู้อ่านหลายท่านอาจยังจำข่าวที่เด็กหญิงชาวเยเมน อายุ 8 ขวบถูกบังคับให้แต่งงานกับชายที่อายุมากกว่า 40 ปีและเสียชีวิตในคืนแรกที่แต่งงาน หลังจากมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าบ่าว ซึ่งภายหลังจากเสียชีวิต แพทย์ระบุว่าเธอเสียชีวิตเพราะร่างกายบอบช้ำภายในอย่างรุนแรง มีอาการตกเลือดและมดลูกแตก เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 หนำซ้ำคนในท้องถิ่นยังพยายามช่วยกันปิดข่าว
 
หลังจากเรื่องนี้ถูกเปิดเผย นักสิทธิมนุษยชนและนักสิทธิสตรีได้ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จับกุมครอบครัวของเด็กหญิงและเจ้าบ่าวของเธอ เพื่อช่วยยุติพฤติกรรมบังคับให้เด็กสาวอายุน้อยแต่งงานกับชายที่มีอายุมากกว่า แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมใครมาดำเนินคดีได้ เพราะเป็นความเชื่อของคนเยเมนที่ว่า การให้เด็กสาวแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้พวกเธอเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และป้องกันไม่ให้สนใจกับสิ่งยั่วยุขณะที่พวกเธอกำลังเข้าสู่วัยรุ่น
 
นอกจากนี้ การบังคับเด็กผู้หญิงให้แต่งงานเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานในประเทศเยเมนสหประชาชาติคาดการณ์ว่ามีเด็กผู้หญิงชาวเยเมนมากกว่า 1 ใน 4 ที่ถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 15 ปี และถึงแม้ว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชนจะพยายามกดดันรัฐบาลเยเมนให้ออกกฎหมายให้ผู้หญิงที่แต่งงานได้ต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี แต่รัฐบาลเยเมนก็ไม่สนใจ และยังยึดกฎหมายเดิมที่อนุญาตให้เด็กแต่งงานได้ถ้าพ่อแม่ของเด็กเห็นด้วยกับการแต่งงานนั้น และด้วยเหตุนี้ทำให้การบังคับเด็กผู้หญิงให้แต่งงานถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายในประเทศเยเมน
 
ปัญหาการบังคับเด็กผู้หญิงให้แต่งงานนี้ เป็นปัญหาที่นักสิทธิมนุษยชนและองค์กรระหว่างประเทศหลายๆองค์กรให้ความสำคัญและพยายามที่จะแก้ไขปัญหา อย่างเช่นองค์การสหประชาชาติ 
 
เมื่อปีที่แล้วสหประชาชาติได้จัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย และหนึ่งในนั้นคือ ยุติการบังคับให้เด็กแต่งงาน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ประเทศสมาชิกในองค์การสหประชาชาติจะต้องนำไปปฏิบัติในประเทศของตน แต่ไม่มีการลงโทษหากประเทศสมาชิกไม่ปฏิบัติตาม
 
ก่อนหน้านี้องค์การสหประชาชาติยังได้มีการผ่านอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) และได้มีการประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายน 2533 และประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในปี 2535 ว่าจะนำอนุสัญญาฉบับนี้มาใช้ในการให้สิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ สำหรับเด็กในประเทศไทย มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ไม่ให้สัตยาบันคือ โซมาเลีย ซูดานใต้ และสหรัฐอเมริกา ดังนั้นประเทศต่างๆ ที่ได้ให้สัตยาบันจะต้องให้สิทธิแก่เด็กในประเทศของตน รวมไปถึงกำหนดอายุขั้นต่ำของเด็กที่จะแต่งงานได้
 
นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติยังกำหนดให้ทุกวันที่ 11 ตุลาคม เป็นวันเด็กหญิงสากล (International Day of the Girl Child) เพื่อให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก และยุติการบังคับให้เด็กแต่งงาน
 
องค์กร Plan International ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีหน่วยงานอยู่ในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 51 ประเทศ ทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกา มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนสิทธิเด็กในประเทศต่างๆ  
 
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา องค์กร Plan International กับ Coram International ได้ร่วมมือกันทำการศึกษาเรื่องการบังคับเด็กผู้หญิงให้แต่งงาน (Asia Child Marriage Initiative – ACMI) ในประเทศปากีสถาน บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาในครั้งนี้คือ เก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงลึกว่าอะไรเป็นสาเหตุหลักของการบังคับให้เด็กผู้หญิงแต่งงานในประเทศเหล่านี้
 
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทั้งสององค์กรได้เปิดเผยรายงาน Getting the Evidence: Asia Child Marriage Initiative ซึ่งจากการศึกษาในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมาพบว่า ในประเทศบังกลาเทศ ปากีสถาน และอินโดนีเซีย มีเด็กผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกบังคับให้แต่งงาน รายงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กผู้หญิงถูกบังคับให้แต่งงาน 
 
สาเหตุหลักๆ มีด้วยกัน 3 สาเหตุ คือ (1) ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ เพราะผู้หญิงมีหน้าที่หลักในการเลี้ยงดูลูกและความเรียบร้อยในบ้าน ในขณะที่สามีทำหน้าที่เป็นคนหารายได้ทำให้ภรรยาต้องพึ่งพาและเชื่อฟังสามี เมื่อสามีรู้สึกว่าไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกสาวของตัวเองได้ จึงต้องการให้ลูกสาวแต่งงาน เพื่อให้สามีของพวกเธอเป็นคนรับผิดชอบ การบังคับให้ลูกสาวแต่งงานนี้ถึงแม้คนเป็นแม่จะไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถปฎิเสธการตัดสินใจของสามีได้ 
 
(2) โอกาสทางการศึกษา สืบเนื่องจากข้อแรกที่ครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอที่จะส่งลูกไปเรียนหนังสือ ทำให้เด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้ไปโรงเรียน รายงานฉบับนี้ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ถ้าเด็กคนไหนมีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนนานขึ้น พวกเขาก็จะถูกบังคับให้แต่งงานช้าลง หมายความว่าถ้าครอบครัวไหนเริ่มมีปัญหาการเงินและให้ลูกออกจากโรงเรียน ไม่นาน เด็กจะถูกบังคับให้แต่งงาน เพราะคนเป็นพ่อเห็นว่าลูกสาวอยู่บ้านไม่ได้ทำอะไรแล้วยังต้องรับภาระค่ากินอยู่เพิ่มอีก การแต่งงานออกไปจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า
 
และ (3) ประชาชนในประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ากฎหมายอนุญาตให้เด็กที่จะแต่งงานได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี คนในชนบทไม่เคยรู้เกี่ยวกับกฎหมายเหล่านี้ พวกเขายังคงปฏิบัติตามวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา ซึ่งเชื่อว่าการแต่งงานควรจะเกิดขึ้นเมื่อพ่อแม่เห็นว่าเหมาะสมและสมควรแก่เวลาโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอายุ อย่างในบังกลาเทศ มีเด็กผู้หญิงมากกว่า 73% ที่ถูกบังคับให้แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี ในขณะที่อินโดนีเซียและปากีสถานมีมากกว่า 38% และ 35% ตามลำดับ
 
จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่าบังกลาเทศเป็นประเทศที่มีเด็กผู้หญิงถูกบังคับให้แต่งงานมากที่สุดในสามประเทศที่ทำการศึกษา ถึงแม้ว่าการบังคับเด็กผู้หญิงให้แต่งงานจะเป็นประเพณีที่ทำกันในทั้งสามประเทศก็ตาม สาเหตุที่จำนวนสถิติแสดงออกมาแบบนี้ก็เพราะบังกลาเทศยังคงยึดถือประเพณีเหล่านี้อย่างเคร่งครัด ทำให้บังกลาเทศถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการบังคับเด็กผู้หญิงให้แต่งงานสูงสุดในทวีปเอเชียและเป็นอันดับสามของโลก
 
นอกจากนี้รายงาน Getting the Evidence: Asia Child Marriage Initiative ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ถึงแม้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กจะมีการประกาศให้นานาประเทศให้สัตยาบันและนำไปใช้ในประเทศ แต่ทั้งสามประเทศนี้ได้มีการผ่านกฎหมายการแต่งงานของเด็กก่อนที่อนุสัญญาฉบับนี้จะประกาศใช้ และยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในสามประเทศนี้ 
 
สำหรับบังกลาเทศ กฎหมายบังคับให้เด็กผู้หญิงต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี และผู้ชายต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 21 ปีถึงจะแต่งงานได้ อินโดนีเซีย กฎหมายระบุว่าผู้หญิงต้องมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และผู้ชาย 19 ปีขึ้นไป และจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุน้อยกว่า 21 ปี และกฎหมายประเทศปากีสถานระบุว่า ผู้หญิงต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไปและผู้ชายอายุ 18 ปีขึ้นไปจึงจะแต่งงานได้ 
 
แม้ว่าทั้งสามประเทศนี้จะมีกฎหมายที่กำหนดอายุขั้นต่ำในการแต่งงานไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายเหล่านี้จะทำได้ก็เฉพาะสำหรับคู่สมรสที่ต้องการจดทะเบียนเป็นสามีภรรยากันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชนบทไม่ได้รับรู้กฎหมายนี้ และพวกเขาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนสมรสเท่าไรนัก จึงทำให้ผู้คนในชนบทจัดงานแต่งงานตามขนบประเพณี โดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส ทำให้กฎหมายไม่ได้ถูกนำมาใช้ และทั้งสามประเทศนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนาและประเพณีที่ไม่ได้มองว่าการบังคับเด็กให้แต่งงานเป็นเรื่องผิด พวกเขาจึงจัดงานแต่งงานตามวัฒนธรรมที่มีผู้นำทางศาสนาเห็นชอบ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับกฎหมายอื่นๆ มากนัก 
 
การบังคับให้เด็กแต่งงานเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องให้ความสนใจ แต่วิธีการแก้ปัญหาจะต้องแก้ในระดับประเทศและชุมชน ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลของแต่ละประเทศควรจะต้องให้ทุนการศึกษากับเด็กๆ หรือให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อให้เด็กๆ มีโอกาสด้านการศึกษามากขึ้น และเมื่อเด็กๆ เหล่านี้สามารถไปโรงเรียนได้นานขึ้น ก็จะยืดเวลาการถูกบังคับให้แต่งงานออกไป 
 
นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการต่อต้านการบังคับเด็กให้แต่งงานให้กับพ่อแม่ ครู เด็ก และผู้ชายในสังคมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ถ้าหากรัฐบาลสามารถทำได้ตามนี้ จำนวนเด็กที่ถูกบังคับให้แต่งงานก็น่าจะลดลงในสังคม 
 
Photo Credit: http://www.freeimages.com/photo/arms-of-love-1311082