วันจันทร์, พฤษภาคม 20, 2024
Home > Cover Story > NEDA กับเส้นทางที่ไม่เคยง่าย เชื่อมเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

NEDA กับเส้นทางที่ไม่เคยง่าย เชื่อมเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

การค้าชายแดน เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค แต่ในบางครั้งปัญหาและอุปสรรคจากจุดผ่านแดน หรือประตูหน้าด่านที่เป็นช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งความล่าช้าในการขนส่งจากการที่รถขนส่งสินค้ากระจุกตัว เพราะความคับแคบของจุดผ่านแดน ซึ่งจะส่งผลเสียในวงกว้าง

สินค้าส่งออกที่สำคัญจากจังหวัดสระแก้ว สู่ประเทศกัมพูชา ได้แก่ รถยนต์ รถเพื่อการเกษตร อะไหล่ และสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่ไทยนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มันสำปะหลัง เศษเหล็ก แม้ว่าไทยจะมีการเพาะปลูกมันสำปะหลังอยู่ในหลายพื้นที่ แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอต่อการผลิต ทำให้ไทยจำเป็นต้องนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยสภาพพื้นที่ทางการเกษตรมีความคล้ายคลึงกัน จึงทำให้กัมพูชาสามารถเพาะปลูกและให้ผลผลิตมันสำปะหลังในปริมาณมาก

ข้อมูลการค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาด้านจังหวัดสระแก้วในเดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 7,629.09 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 220.95 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลง 2,874.39 ล้านบาท หากดูตัวเลขมูลค่าการค้าของทั้งปี 2566 (มกราคม-ธันวาคม 2566) มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 102,451.17 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 29,075.60 ล้านบาท

ด้วยมูลค่าการค้าต่อปีที่สูงกว่าหนึ่งแสนบาท หากเกิดความล่าช้า หรือเสียหายย่อมส่งผลต่อตัวเลขส่งออกของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย แม้ว่าการค้าชายแดนจากจังหวัดสระแก้วจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมก็ตาม

ปัญหาความแออัดและความไม่สะดวกสบายของการเข้าออกจุดผ่านแดนระหว่างสองประเทศ หน่วยงานที่มักจะเข้ามาแก้ปัญหาและร่วมพัฒนาคือ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. (Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency) หรือ NEDAที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน

ภารกิจของ NEDA คือ การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ด้านวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ติมอร์เลสเต ภูฏาน และศรีลังกา โดยมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาเมือง และการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ซึ่ง สพพ. เป็นองค์กรที่ก่อให้เกิดกลไกสำคัญของรัฐบาลในการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลไทย ด้านการต่างประเทศ และการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคและอนุภูมิภาคให้เกิดการขยายตัวด้านการค้า การลงทุน กระจายโอกาสความเจริญเติบโตและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศเมียนมาที่มีความขัดแย้งภายในย่อมส่งผลต่อการทำงานของ สพพ. ซึ่งโครงการที่เมียนมาขอรับความช่วยเหลือ เช่น การปรับปรุงโครงการระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้ง และโครงการบริหารจัดการขยะในเมืองเมียวดี ต้องถูกชะลอไว้

“จากปัญหาภายในเมียนมา แน่นอนว่านั่น ทำให้โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าที่ย่างกุ้ง และโครงการบริหารจัดการขยะที่เมียวดี ต้องชะลอไว้ก่อน แต่ NEDA เรายังมีโครงการที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา” พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) อธิบาย

หากมองจากภายนอก ประชาชนทั่วไปย่อมมีคำถามต่อเป้าประสงค์ของการทำงานของ NEDAที่มุ่งเน้นไปในเรื่องการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ว่าเพราะเหตุใดหน่วยงานภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลังของไทย ต้องไปให้ความช่วยเหลือ และพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ในขณะที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยเองยังรอรับการพัฒนาเช่นเดียวกัน

“โครงการให้ความช่วยเหลือในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่แล้วจะมีเป้าหมายไปที่โครงการที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับจังหวัดของไทยที่มีชายแดนติดกัน เส้นทางเหล่านี้จะเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อการค้าชายแดน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม เป็นฟันเฟืองที่สำคัญทางเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์จากโครงการที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งความช่วยเหลือที่เราหยิบยื่นให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่เม็ดเงินที่เป็นการให้เปล่า แต่เป็นไปในลักษณะการกู้เงินและมีดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ภาครัฐกำหนด”

จังหวัดสระแก้วที่มีชายแดนที่ติดกับกัมพูชา และมีมูลค่าค้าชายแดนประมาณแสนล้านบาท มีโครงการที่ NEDA ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่กัมพูชาเช่นกัน นั่นคือ โครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท และถนนเชื่อมโยงไปยังถนนหมายเลข 5 ราชอาณาจักรกัมพูชา

“โครงการที่เรามองว่า เมื่อเราให้ความช่วยเหลือจะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศ คือ จุดผ่านแดนถาวรสตึงบท บริเวณบ้านสตึงบท อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย ภายใต้งบประมาณ 928,110,681 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี อายุสัญญา 25 ปี โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี ปัจจุบันจุดผ่านนี้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย แม้ว่าจะใช้ระยะนานกว่าที่คาดการณ์ เพราะโครงการนี้เริ่มอนุมัติตั้งแต่ปี 2559 แต่เพิ่งแล้วเสร็จ ส่วนหนึ่งของความล่าช้าคือสถานการณ์โควิด

โดยปัจจุบันจุดนี้จะเป็นจุดผ่านแดนชั่วคราว และเราจะเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรหลังจากที่มีการก่อสร้างจุดผ่านแดนฝั่งไทยบริเวณบ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ แล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2568 หลังจากนั้นจุดผ่านแดนสตึงบทจะเปลี่ยนเป็นด่านขนส่งสินค้าข้ามแดนเพียงอย่างเดียว” พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ เสริม

ด้าน Dr.Yit Bunna ปลัดกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ให้ข้อมูลว่า โครงการที่ได้รับความร่วมมือจาก NEDA เป็นไปเพื่อผลประโยชน์หลักของประชาชน หากการค้าระหว่างประเทศเป็นไปในทางที่ดี ลดความคับคั่ง ความหนาแน่นบริเวณหน้าด่าน จะช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น นั่นจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ เมื่อจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท และจุดผ่านแดนบริเวณบ้านหนองเอี่ยนแล้วเสร็จ จะหนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศมากขึ้น

นอกจากโครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบทแล้ว NEDA ยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกัมพูชา นั่นคือ โครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 ช่วงเสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงำ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ไปยังจังหวัดเสียมราฐ ของกัมพูชา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน และโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 68 ช่องจอม/โอเสม็ด ที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

สิ่งที่น่าติดตามหลังจากนี้ คือ ตัวเลขการค้าชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดสระแก้วไปยังประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่าการค้าจะสูงขึ้นหรือไม่ เมื่อมีช่องทางการค้าการขนส่งที่สะดวกมากขึ้น แม้ว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างให้เกิดความกังวล แต่ดูจากตัวเลขของมูลค่าค้าชายแดนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ประกอบการสินค้าเพื่อการส่งออกมีโอกาสมากขึ้น.