วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Life > คุณรู้จักไขมันในตัวคุณดีแค่ไหน

คุณรู้จักไขมันในตัวคุณดีแค่ไหน

 
Column: Well-being
 
นิตยสาร GoodHealth นำเสนอข้อมูลล่าสุดที่น่าสนใจยิ่งว่า วงการวิทยาศาสตร์ค้นพบข้อเท็จจริงที่น่าทึ่งเกี่ยวกับไขมันที่คุณต้องไม่พลาดที่จะรู้ เพื่อกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างถูกวิธี
 
แต่ก่อนอื่น อยากให้ทำความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับไขมันที่มีบทบาทต่อน้ำหนักตัวของเรา โดยบทความของนายแพทย์มานิตย์ วัชรชัยนันท์กล่าวว่า ขณะที่ออกกำลังกาย เซลล์กล้ามเนื้อจำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อการขับเคลื่อน โดยได้จากการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลในร่างกายนั่นเอง
 
กล้ามเนื้อที่ผ่านการบริหารเป็นประจำจะสร้างฮอร์โมน Irisin ขึ้นไหลเวียนในกระแสเลือด มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงเซลล์ไขมัน ด้วยการทำหน้าที่สะสมไขมันเอาไว้ภายในเซลล์ เพื่อเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น เซลล์ไขมันเหล่านี้เรียกว่า เซลล์ไขมันสีขาว (white fat cells) แต่ในร่างกายยังมีเซลล์ไขมันอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า เซลล์ไขมันสีน้ำตาล (brown fat cells) ไม่มีหน้าที่สะสมไขมัน แต่มีบทบาทในการใช้ไขมันที่สะสมภายในเซลล์ไขมัน ดังนั้น ถ้าต้องการลดน้ำหนักตัว คุณจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณเซลล์ไขมันสีน้ำตาล และลดปริมาณเซลล์ไขมันสีขาวลง
 
บทความของ Thai Anti Aging ยังกล่าวถึงไขมันว่ามีประโยชน์มากมาย เช่น ให้พลังงานและความอบอุ่น ละลายวิตามินบางตัวที่ต้องทำละลายในไขมันเท่านั้น ได้แก่ เอ ดี อี เค เพื่อดูดซึมเข้ากระแสเลือด ภาวะอ้วนของคนเราเกิดจากมีไขมันสะสมตามกล้ามเนื้อและอวัยวะภายใน ในกรณีนี้คือการสะสมไขมันหน้าท้องซึ่งมี 2 ประเภทคือ
 
ไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat) เป็นไขมันที่มองเห็นได้ เพราะสะสมอยู่ที่หน้าท้อง ทำให้ท้องเรานูนออกมา ไขมันชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากนัก อีกประเภทหนึ่งคือ ไขมันในช่องท้อง (visceral fat) เป็นไขมันที่ไม่ทำให้พุงเรายื่นออกมา แต่จะอยู่ระหว่างกล้ามเนื้อท้องกับอวัยวะภายใน หากมีมากเกินไป จะไปสะสมอยู่ตามอวัยวะภายในด้วย
 
ไขมันในช่องท้องทำให้อวัยวะภายในเกิดการอักเสบที่ระดับของเซลล์ เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก โคเลสเตอรอลสูง เป็นต้น
 
คราวนี้เรามาทำความรู้จักไขมันให้มากขึ้นตามที่ GoodHealth ได้สรุปเป็นหัวข้อสั้นกระชับและง่ายต่อการทำความเข้าใจดังนี้
 
ไขมันเป็นสิ่งจำเป็น
ดร. จาร์รอด เมียร์กิน แห่งสถาบัน MeasureUp ในซิดนีย์กล่าวว่า “ไขมันทำหน้าที่เป็นพลังงานสำรองให้แก่ร่างกาย ในกรณีที่น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมาก เป็นฉนวนปกป้องผิวหนังทั้งจากความหนาวเย็นและความร้อน ช่วยขนส่งอาหารระหว่างเนื้อเยื่อของเซลล์ รวมทั้งเป็นส่วนประกอบของการสร้างฮอร์โมน
 
ไขมันเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน
เป็นข้อเท็จจริงล่าสุดที่แม้นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งรู้เมื่อช่วงต้นปีนี้เอง โดยชั้นไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat) ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากผู้บุกรุกอย่างแข็งขัน จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังผิวหนังถูกโจมตีจากแบคทีเรีย “สเตปฟิโลคอกคัส”  เซลล์ไขมันบริเวณนั้นจะผลิตสารเคมีต่อต้านเชื้อโรคออกมาทำลายแบคทีเรียทันที
 
ดร. เมียร์กินกล่าวถึงนัยแห่งข้อเท็จจริงนี้ว่า การที่ร่างกายมีไขมันในระดับต่ำนั้นถือเป็นคุณอย่างยิ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า ปริมาณไขมันในระดับที่ต่ำมากๆ จะดีกว่า ปกติแล้วผู้หญิงควรมีปริมาณไขมันร้อยละ 21–33 ขึ้นอยู่กับอายุ
 
ใช้เชือกวัดรอบเอวแทนสายวัด
การใช้สายวัดตามปกติไม่สามารถบอกปริมาณไขมันในร่างกายได้ รวมถึงตัวเลขปริมาณร้อยละของไขมันในร่างกายก็ไม่อาจบ่งชี้สุขภาพของคุณได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ตำแหน่งที่ไขมันไปสะสมมากกว่า
 
ไขมันที่สะสมบริเวณกลางลำตัว เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าไขมันที่สะสมบริเวณสะโพกและต้นขา
 
พญ. มาร์กาเร็ต แอชเวลล์ ชาวอังกฤษ จึงคิดค้นวิธีวัดง่ายๆ ว่า ไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้องของคุณมีปริมาณมากเกินไปหรือไม่ โดยตัดเชือกมาหนึ่งเส้น ให้มีความยาวเท่าความสูงของตัวคุณ จากนั้นทบครึ่ง แล้วนำมาพันรอบเอว ถ้าปลายเชือกทั้งสองข้างไม่สามารถบรรจบกันได้ หมายความว่าคุณมีไขมันสะสมที่หน้าท้องมากเกินไป “หากต้องการมีสุขภาพดี คุณต้องมีขนาดรอบเอวน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของความสูงของตัวคุณเอง”
 
ไขมันพอกสะโพก … อย่ากังวล
เป็นที่รู้กันว่า น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น หมายถึงการเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน แต่เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์กลับค้นพบข้อเท็จจริงที่น่าแปลกว่า คนที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติไปสองสามกิโลกรัม กลับมีความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคที่กล่าวในข้างต้นน้อยกว่าคนที่ผอมมากจนน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
 
ดร. คาร์ล เลวี แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ผู้เขียนหนังสือ The Obesity Paradox ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มแพทย์คนแรกๆ ที่ค้นพบข้อเท็จจริงนี้ “คนที่ผอมมากๆ มักป่วยเป็นโรคร้ายแรง โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขามีร่างกายอ่อนแอ เพราะพวกเขามีมวลกล้ามเนื้อต่ำ และกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการคาดการณ์อัตราการรอดชีวิตจากภาวะป่วยหนัก น้ำหนักตัวที่เกินมาไม่กี่กิโลกรัมสามารถเป็นพลังงานสำรองได้”
 
อย่างไรก็ตาม ดร. เลวีตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าคุณปล่อยตัวจนข้ามพ้นภาวะน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติเล็กน้อยนี้ไปสู่ภาวะอ้วน คุณจะไม่ได้ประโยชน์จากการปกป้องดังกล่าวนี้อีก ที่สำคัญคือ ข้อมูลนี้ไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนมีน้ำหนักตัวเกิน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเกณฑ์ผอม ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งเพิ่มน้ำหนักตัวเพื่อประโยชน์จากข้อมูลนี้ แต่ควรปรับปรุงความแข็งแรงของร่างกาย และพยายามสร้างกล้ามเนื้อเพื่อให้ร่างกายทั้งระบบแข็งแกร่งขึ้น
 
กำจัดไขมันไม่ใช่การลดน้ำหนัก
การที่บางคนมีรูปร่างเป็นรูปทรง “แอปเปิล” นั้น เป็นเพราะมีการสะสมไขมัน visceral fat ในช่องท้องและรอบๆ อวัยวะภายใน เช่น ตับและตับอ่อน ทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคหัวใจ และโรคตับ
 
การออกกำลังกายช่วยลดไขมันตัวร้ายนี้ได้ แม้น้ำหนักตัวของคุณจะไม่ลดลงก็ตาม เพียงเปลี่ยนไขมันให้กลายเป็นกล้ามเนื้อเท่านั้น ผลการศึกษาของออสเตรเลียยืนยันว่า ออกกำลังกายครั้งละ 45 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ช่วยกำจัดไขมันในช่องท้องได้
 
ไขมันถูกกำจัดทางลมหายใจออก
เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อปีที่แล้วนี้เองที่เราเพิ่งมีความรู้อย่างแน่ชัดว่า เกิดอะไรขึ้นกับการกำจัดไขมันในร่างกายด้วยวิธีควบคุมอาหารหรือออกกำลังกาย
 
และเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์เพิ่งค้นพบว่า จริงๆ แล้วเรากำจัดไขมันออกจากร่างกายผ่านทางลมหายใจออก โดยปะปนกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง
 
ที่น่าเศร้าสำหรับคนขี้เกียจออกกำลังกายคือ มันไม่ได้หมายความว่าคุณหายใจให้เร็วขึ้นก็สามารถกำจัดไขมันและลดน้ำหนักตัวได้ แต่คุณต้องออกกำลังกายเท่านั้น
 
ดูดไขมันทำให้ยิ่งอ้วนขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ผลการศึกษาสองชิ้นพบว่า คุณไม่สามารถโกงเซลล์ไขมันได้ การทดลองแรกใช้วิธีดูดไขมันที่ต้นขา และดูดไขมันที่หน้าท้องในการทดลองที่สอง ปรากฏว่าผ่านไปเพียงปีเดียว ไขมันกลับมาพอกพูนในปริมาณเท่ากับที่ดูดออกไป ที่สำคัญคือ ไขมันที่พอกพูนใหม่นี้กลายเป็น visceral fat ที่เป็นอันตรายเหมือนกับไขมันที่สะสมตามช่องท้องนั่นเอง
 
หากไม่ต้องการให้เกิดผลข้างต้น ต้องออกกำลังกายเท่านั้น โดยนักวิจัยบราซิลพบว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอและเวทเทรนนิ่งผสมผสานกันสัปดาห์ละ 3 ครั้ง สามารถคงรูปร่างใหม่ที่สวยงามหลังการดูดไขมันโดยไม่มีไขมันกลับมาพอกพูนอีก
 
ร่างกายต้องการเซลล์ไขมันสีน้ำตาล
คุณสร้างขึ้นเองได้ด้วยการเปิดเครื่องปรับอากาศ เซลล์ไขมันสีน้ำตาล (brown fat cells) เป็นไขมันที่สะสมอยู่บริเวณคอ ไหล่ และหน้าอก ขณะเป็นทารก เราใช้ไขมันสีน้ำตาลให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ในอดีตเราคิดว่า เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เราได้สูญเสียไขมันสีน้ำตาลนี้ไปหมดแล้ว
 
เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า เราส่วนใหญ่ยังมีไขมันชนิดนี้อยู่ เพียงแต่ต้องปลุกขึ้นมาใหม่ และหนึ่งในวิธีนั้นคือทำให้รู้สึกหนาวเย็น
 
ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยทางการแพทย์การ์แวนในซิดนีย์กล่าวว่า เมื่อให้ผู้ชายอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 เดือน พวกเขาสามารถเพิ่มระดับไขมันสีน้ำตาลราวร้อยละ 30–40
 
ไขมันสีน้ำตาลสำคัญต่อเรา เพราะมีหน้าที่ช่วยเผาผลาญพลังงาน และช่วยให้คุณควบคุมน้ำหนักตัวได้
 
เซลล์ไขมันสื่อสารกับร่างกายส่วนอื่นๆ
ปี 2013 ทีมนักวิจัยเทกซัสค้นพบว่า เซลล์ไขมันคอยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราเชื่อว่า ร่างกายกำลังถูกโจมตี จากนั้น ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองด้วยการทำให้เกิดภาวะอักเสบ เพื่อหยุดยั้งการโจมตีนั้น จึงเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอักเสบเรื้อรังในระบบภูมิคุ้มกัน
 
เคท จอห์นสตัน นักธรรมชาติบำบัดและนักกำหนดอาหารแห่งสถาบัน Kore Well–Being ในซิดนีย์กล่าวว่า “โดยธรรมชาติแล้ว ภาวะอักเสบเรื้อรังเป็นผลเสียอย่างมาก และเป็นตัวขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
 
การลดน้ำหนักเพื่อกำจัดไขมันส่วนเกินช่วยแก้ปัญหานี้ได้มาก นอกจากนี้ การบริโภคขมิ้นชันทั้งในรูปของส่วนผสมในอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และบริโภคน้ำมันปลาคุณภาพเป็นประจำก็ช่วยได้มาก
 
ไวน์แดงช่วยเผาผลาญไขมัน
ผลการศึกษาของสหรัฐพบว่า สารเคมีในผลองุ่นคือ ellagic acid ช่วยเผาผลาญไขมัน และช่วยชะลอการก่อตัวหรือพอกพูนเซลล์ไขมัน แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณใช้วิธีบริโภคไวน์แดงแล้วจะผอมลง เพราะการเผาผลาญไขมันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นที่ตับ ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า มันอาจช่วยทำให้ตับทำงานได้ดีขึ้น