วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
Home > Cover Story > มุมมองของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ต่อโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทย

มุมมองของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ต่อโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทย

 
ช่วงเวลาท้ายปีหลายหน่วยงานมักนิยมจัดงานเสวนา งานสัมมนา และหัวข้อที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของงานคงหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจไทย หรือความพร้อมของไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นปลายปีนี้
 
ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ไม่มั่นคง ซึ่งมีเหตุมาจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ และผลกระทบจากสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ทำให้หลายฝ่ายมีคำถามขึ้นในใจว่า ประเทศไทยพร้อมเพียงใด และยังรวมไปถึงแนวทางที่ควรปฏิบัติ
 
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา มีการจัดสัมมนาและเสวนาพร้อมกันสองงาน ซึ่งหัวข้อของทั้งสองงานนี้คล้ายเป็นการตั้งคำถามในทิศทางเดียวกัน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่จัดสัมมนาในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทยปี 2559 โอกาสและความท้าทาย” และนิโอ ทาร์เก็ตจัดเสวนาเรื่อง “ก้าวสู่เออีซี โอกาสและความท้าทาย”
 
ซึ่งบุคคลที่เป็นแม่งานทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นว่าผู้ที่จะให้คำตอบ แนวคิด หรือคำนิยามที่ดีและเหมาะสมที่สุดคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและประธานสถาบันนวัตกรรมแห่งอนาคต (FIT) 
 
“คนรุ่นใหม่เป็นความหวังของชาติ รู้จักแปรเปลี่ยนปรับวิธีคิด ท่ามกลางกระแสที่เกิดขึ้นรอบด้าน” ดร.สุรินทร์กล่าว อีกทั้งยังแสดงทัศนะต่อว่า อาเซียนเป็นโอกาสและเวทีในการแข่งขัน นับเป็นพื้นที่พิเศษที่ถูกบูรณาการเข้าหากัน ประเทศไทยต้องอาศัยความหลากหลายที่มี โดยเฉพาะตำแหน่งที่ตั้งของไทยที่อยู่กึ่งกลางของ GMS Corridors 
 
ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าไทยอยู่ในขณะนี้เป็นผลมาจากการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นที่เมื่อประสบกับสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ปัญหาเหล่านั้นจะมีผลต่อความมั่นคงทางการเมือง
 
นอกเหนือไปจากปัญหาเศรษฐกิจ ความพร้อมด้านภาษาของคนไทยถือได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง “เราต้องปรับตัว อย่ายึดติดกับอดีตมากเกินไป ไม่อย่างนั้นไทยจะไม่สามารถต่อสู้กับทั่วโลกได้” 
 
คนไทยบางส่วนยังขาดความสามารถด้านภาษา ซึ่งภาษาอังกฤษถือว่าเป็นภาษาทางการของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หากแต่หลายคนยังให้คำตอบต่อประเด็นนี้ว่า เพราะประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของชาติใด ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของใคร จึงไม่แปลกที่เราจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ 
 
นี่เองที่ทำให้ ดร.สุรินทร์มองว่าคนไทยบางส่วนยังยึดติดอยู่กับอดีตจนเกินพอดี อีกทั้ง “เราต้องไม่พอใจความเป็นอยู่ในตอนนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดการพัฒนา” ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังก้าวไปข้างหน้าและเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ไทยกลับไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะความอิหลักอิเหลื่อ และกีฬาสีในประเทศที่ทำให้เราสะดุด
 
ทั้งนี้ ดร.สุรินทร์ยังแนะให้มองประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่กำลังถูกจับตามองจากประเทศรอบนอกอาเซียน และประเทศในอาเซียนเอง เพราะเสถียรภาพทางการเมืองที่มีความมั่นคงกว่า และการพัฒนาที่จะเสริมสร้างศักยภาพของประเทศให้เหมาะแก่การแข่งขัน 
 
ตำแหน่งอันดับหนึ่งที่ไทยเคยได้รับในหลายๆ บริบท เช่นที่เวียดนามเคยชนะไทยในเรื่องการเป็นผู้ส่งออกข้าวสู่ตลาดโลก ทั้งที่ไทยมีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก 
 
อย่างไรก็ดี ดร.สุรินทร์แสดงความคิดเห็นที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยได้ดี ทั้งในเรื่องการเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยี ที่เป็นตัวแปรสำคัญซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของการผลิต ทั้งในหมวดของสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่
 
กระนั้นการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นผลพวงมาจากค่านิยมทางสังคมในเรื่องของการศึกษา ที่ให้ค่ากับการศึกษาในสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ ทั้งที่แรงงานไทยยังขาดแคลนผู้มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีอยู่อีกมาก
 
SMEs ขนาดย่อม และขนาดกลางจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นใน AEC ซึ่งสัดส่วน SMEs ในประเทศที่มีอยู่ถึง 2 ล้านรายนั้น ต้องกล้าที่จะก้าวออกมาหาโอกาสใหม่ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเวลานี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายออกมาสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อม ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องอาศัยโอกาสอันดีนี้รุกตลาดใหม่
 
นอกจากนี้ ดร.สุรินทร์ยังเน้นย้ำว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้ ด้วยการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น จะทำให้ภูมิภาคนี้มีลักษณะเป็นตลาดร่วม มีฐานการผลิตร่วมกัน เกิดการไหลเวียนของสินค้า เงินทุน บริการ และแรงงานอย่างอิสระในภูมิภาค ด้วยประชากรทั้งหมดรวม 600 ล้านคน จะทำให้อาเซียนเป็นตลาดใหญ่ในภูมิภาคและเวทีโลก  
 
เศรษฐกิจในอนาคตจะต้องเติบโตนอกประเทศของตนเองให้มากขึ้น ดังนั้นการกำหนดนโยบายให้การสนับสนุนในภาคการเงิน ให้มีการลงทุนในต่างประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการทำให้สินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับ การสร้างชื่อเสียงของสินค้าให้คำว่า Made in Thailand เป็นที่ยอมรับกว้างขวางในระดับโลกเป็นเรื่องจำเป็นและต้องทำ 
 
การปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการแข่งขันที่เน้นค่าแรงขั้นต่ำ การควบคุมคุณภาพอย่างไม่เป็นระบบและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ลงทุนและไม่มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในระบบการผลิตหรือการเพิ่มผลผลิต ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยหลักในการยกระดับการผลิตในระดับสากลด้วย
 
ไม่เพียงแต่เรื่องการผลิตเท่านั้น ระบบโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าในต่างประเทศให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอย่างยิ่ง รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณสมบัติแบบมัลติฟังก์ชั่นนัล มีความสามารถด้านภาษาเพื่อพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง
 
อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังสามารถที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันไม่น้อยหน้าประเทศอื่นในอาเซียน หากมีการปรับกระบวนการศึกษา ปรับวิธีการเรียนการสอนใหม่ เลิกสอนให้เด็กจำ เด็กไทยสามารถแข่งขันวิชาการ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ได้ในระดับโลก แต่พอถึงเวลาใช้งานจริง กลับไม่สามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
 
“ต้องเลิกคิดว่าตัวเองเป็นข้อยกเว้น ไทยชกต่ำกว่าน้ำหนักของตัวเองมานาน 5 ปี ต้องเน้นลงทุนด้านการศึกษา งานวิจัย สนับสนุนสร้างทรัพย์สินทางปัญญาให้มากกว่าปัจจุบัน ถึงเวลาเลิกยืมจมูกคนอื่นหายใจได้แล้ว หยุดทะเลาะ อย่าเอาเปรียบประชาธิปไตย หยุดเอาประชาธิปไตยเป็นข้ออ้าง
 
โลกไม่มีพรมแดนแล้ว พัฒนาและก้าวขึ้นไปยืนบนเวทีโลกด้วยความสง่างาม สร้าง Confident สร้าง Reputation ให้เกิดขึ้นในไทย” ดร.สุรินทร์ทิ้งท้ายในการปาฐกถา 
 
ดูว่ามุมมองของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ กับแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไทยของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะมีความคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติไม่ต่างกันนัก หากขั้นตอนการปฏิบัติเป็นไปอย่างที่กล่าวน่าจะทำให้ประชาชนคนไทยหายใจได้สะดวกขึ้น หากเศรษฐกิจไทยมีวี่แววฟื้นตัวแม้จะเล็กน้อยก็ตาม