วันพุธ, เมษายน 17, 2024
Home > Cover Story > ปิดปรับโฉมเซ็นทรัลรามอินทรา รถไฟฟ้าปลุกสมรภูมิห้างเดือด

ปิดปรับโฉมเซ็นทรัลรามอินทรา รถไฟฟ้าปลุกสมรภูมิห้างเดือด

เซ็นทรัล รามอินทรา ได้ฤกษ์จะปิดชั่วคราวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อปรับโฉมครั้งใหญ่ก่อนเปิดให้บริการรับลูกค้าอีกครั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งไม่ใช่แค่การทุ่มงบมากกว่า 1,500 ล้านบาท ยกเครื่องทุกมิติรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมพร้อมรุกแนวรบห้างค้าปลีกที่ต้องเจอโจทย์การตลาดยากมากขึ้น

สำหรับเซ็นทรัล รามอินทรา (Central Plaza Ramindra) ถือเป็นศูนย์การค้าแบบคอมมูนิตี้มอลล์ เนื้อที่รวม 10 ไร่ เน้นเจาะตลาดกลุ่มครอบครัวและชุมชน เริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2536 ภายในอาคารมี 5 ชั้น ประกอบด้วยร้านค้าเครือเซ็นทรัล ได้แก่ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านพาวเวอร์บาย ร้านซูเปอร์สปอร์ต และ B2S รวมถึงร้านขายปลีกประเภทต่างๆ ร้านอาหารแบรนด์ดัง สาขาธนาคาร และโรงภาพยนตร์ เอสเอฟ ซีเนม่า

การปรับโฉมครั้งนี้ถือเป็นบิ๊กรีโนเวตในรอบ 29 ปี เพื่อรองรับจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่เติบโตตามกลุ่มประชากร การขยายตัวของคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรร

ที่สำคัญ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี จะสร้างทราฟฟิกเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวตามแนวเส้นทาง โดยจุดต้นทางจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์ วิ่งไปตามเกาะกลางถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ดแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีโครงการก่อสร้างสายแยกเข้าศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานีด้วย

เมื่อผ่านทางแยกต่างระดับแจ้งวัฒนะ ลอดใต้จุดเชื่อมต่อระหว่างทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษอุดรรัถยา ข้ามคลองประปาเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ผ่านศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มที่สถานีหลักสี่ และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามถนนรามอินทรา ผ่านทางพิเศษฉลองรัชบริเวณแยกวัชรพล จนถึงทางแยกเมืองมีนแล้ววิ่งเข้าสู่เขตมีนบุรี ตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวา จะเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบ และข้ามถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) มาสิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม โดยในอนาคตมีแผนศึกษาส่วนต่อขยายจากมีนบุรีไปยังย่านลาดกระบัง และเชื่อมต่อการเดินทางสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยใช้แนวถนนร่มเกล้า

ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและทดสอบการเดินรถในบางช่วง โดยจะทยอยเปิดบริการ 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กลางปี 2565 จากสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ-สถานีมีนบุรี ยกเว้นสถานีนพรัตนราชธานี จากนั้นในเดือนสิงหาคม 2565 เปิดบริการเพิ่มจากสถานีชลประทาน-สถานีแจ้งวัฒนะ14 และสถานีนพรัตนราชธานี ก่อนเปิดครบตลอดสายทั้ง 32 สถานีในเดือนกรกฎาคม 2566 ระยะทางรวม 34–36 กิโลเมตร

จากการสอบถามบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทกำลังสรุปข้อมูลต่างๆ และเตรียมแถลงข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะแนวคิดการรีโนเวต แต่คาดว่าจะคงแนวคิดการเป็นศูนย์การค้าสำหรับครอบครัวและชุมชน ตั้งเป้าหมายเป็น Third Place ของผู้คนและเป็นเดสทิเนชันรองรับทุกความต้องการ

แน่นอนว่า คอนเซ็ปต์การรีโนเวตต้องสอดคล้องกับ Vision ใหม่ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ได้แถลงวิสัยทัศน์ Imagining better futures for all สร้าง Sustainable Ecosystem ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2022-2026) โดยใช้เงินลงทุนรวม 120,000 ล้านบาท ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก

กลยุทธ์ที่ 1 SYNERGY for new solutions สร้างแพลตฟอร์มยกระดับการใช้ชีวิตและธุรกิจอย่างครบวงจร โดยให้ศูนย์การค้าเป็นธุรกิจหลัก (Retail-Led Mixed-use development) ทั้งศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานและโรงแรม ตั้งเป้าอีก 5 ปี (2022-2026) ซีพีเอ็นจะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ใน 30 กว่าจังหวัด ได้แก่ ศูนย์การค้า 50 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ และคอมมูนิตี้มอลล์ 16 แห่ง โครงการที่พักอาศัย 68 แห่ง อาคารสำนักงาน 13 แห่ง และโรงแรม 37 แห่ง

ขณะเดียวกัน มากกว่า 50% จะเป็นรูปแบบมิกซ์ยูสที่มีมากกว่า 1 ธุรกิจ และมีศูนย์การค้าเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อเร่งขยายการเติบโตของทุกๆ ธุรกิจพร้อมกัน และยกระดับการใช้ชีวิตทุกรูปแบบทั้ง shop-work-stay-play-live ด้วยโครงการรีเทลที่เติมเต็มทุกฟอร์แมตและเทรนด์ใหม่ๆ โดยตั้งทีม Business & Digital Transformation ลงทุน 450 ล้านบาท ในปี 2022 เพื่อทรานส์ฟอร์มสู่การเป็น Omnichannel Platform มากกว่าการเชื่อม offline และ online แต่ยังเชื่อมโยงทุกธุรกิจและเชื่อมโยงธุรกิจไปยังลูกค้าด้วย เป็น B2B2C สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าในอนาคต

กลยุทธ์ที่ 2 PIONEER for better lives สร้างมาตรฐานใหม่ของพื้นที่แห่งการใช้ชีวิตที่ดีในอนาคต โดยภายในทุกโครงการใหม่จะเน้นความยั่งยืน ทั้ง Green & Energy ด้วย Green Building Standard มาตรฐานอาคารเขียวระดับสากล ติดตั้งเซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในทุกโครงการ พัฒนาอาคารอัจฉริยะ(Building Automation) เพิ่มจุด EV Charging และ Recycle Station

นอกจากนี้ เน้นแนวคิด Health & Wellness สร้างพื้นที่ยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คน เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้ง indoor-outdoor การออกแบบที่ตอบสนองคนทุกกลุ่ม (Inclusive Design) ให้ทุกคนมาใช้ได้จริง พื้นที่เพื่อชุมชน เช่น ลานออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ฉีดวัคซีน พื้นที่รับบริจาคโลหิต

กลยุทธ์ที่ 3 OPPORTUNITIES with Purpose เปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นองค์กรแห่งการสร้าง ‘โอกาส’ พัฒนาคน พัฒนาเมือง พัฒนาประเทศ และยกระดับวงการอสังหาฯ และรีเทลของไทย เทียบเท่าระดับโลก เช่น การเปิดโอกาสจับคู่ทางธุรกิจ และขยายไปทั้งในและต่างประเทศ ผ่านโครงการ Central Pattana Lead และ Retail Academy

ด้านทิศทางการลงทุนในปี 2565 จะเปิดโครงการใหม่ เซ็นทรัล จันทบุรี ภายในไตรมาสที่ 2 และปรับปรุงพลิกโฉมศูนย์การค้าเดิม ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพระราม 2 และเซ็นทรัล รามอินทรา รวมทั้งพัฒนาโครงการอาคารสำนักงาน โรงแรม และที่พักอาศัย เพื่อต่อยอดแนวคิดความเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของทุกคนในรูปแบบมิกซ์ยูส นอกจากนี้ ยังมีโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่ร่วมพัฒนากับบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2567

ล่าสุด เซ็นทรัลพัฒนาบริหารจัดการศูนย์การค้า 36 แห่ง มีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวม 1.9 ล้านตารางเมตร อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 โครงการ ต่างจังหวัด 20 โครงการ และในมาเลเซีย 1 โครงการ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ภายใต้กิจการร่วมค้า 1 แห่ง และคอมมูนิตี้ มอลล์ 18 แห่ง นอกจากนี้ บริหารศูนย์อาหาร 32 แห่ง อาคารสำนักงาน 10 อาคาร โรงแรม 2 แห่ง โครงการที่พักอาศัยอีก 22 โครงการ

ทั้งนี้ หากสำรวจเส้นถนนรามอินทรามีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง โดยช่วงรามอินทรา กม. 9 มีศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์และพรอมานาด ขณะที่ทำเลเลียบด่วนรามอินทรามีศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ แต่หลังจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดให้บริการจะเป็นโอกาสดึงกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ตั้งแต่นนทบุรียาวไปจนถึงมีนบุรี รามคำแหง ร่มเกล้า และสนามบินสุวรรณภูมิ แต่เซ็นทรัลรามอินทราโฉมใหม่จะต้องเพิ่มแรงดึงดูดกลายเป็นเดสทิเนชันใหม่ทุกความต้องการได้จริง

แต่ก่อนจะปิดยาวถึง 11 เดือน ซีพีเอ็นจัดรายการทิ้งทวน Big Thanks Sale ลดสินค้าล้างห้างสูงสุด 90% ถึงเดือนเมษายน ให้นักช้อปจับจ่ายและเห็นภาพสุดท้ายที่กำลังจะพลิกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง.

ใส่ความเห็น