วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > เจาะธุรกิจแมวประกวด ไม่มีเงิน ไปไม่ถึงดวงดาว

เจาะธุรกิจแมวประกวด ไม่มีเงิน ไปไม่ถึงดวงดาว

“ใครคิดจะเข้าสู่วงการประกวด ข้อแรกต้องมีเงินและไม่ใช่มีเงินอย่างเดียว ต้องมีเวลา มีวินัย ต้องมีพื้นที่เฉพาะสำหรับแมว ดูแลน้องยิ่งกว่าลูก ประคบประหงมจนกว่าจะถึงดวงดาว…”
จินตนา จรกรรณ เจ้าของฟาร์มแมวขาสั้น Maki Cattery ผู้ปลุกปั้นน้อง “ซูโม่ว่า” แมวมันช์กิ้น (Munchkin)” ขึ้นเวทีประกวดและคว้าหลายรางวัล กวาดคะแนนสะสมจนได้ตำแหน่งท็อปโลกเมื่อปี 2561

เธอบอกว่า การทำแมวประกวดไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสายพันธุ์ต่างประเทศ เริ่มต้นตั้งแต่คัดเลือกจากพ่อแม่พันธุ์ที่มีใบ Certified รับรองสายพันธุ์ และเลือกแหล่งที่มา อย่างพันธุ์บริติช ชอร์ตแฮร์ (British Shorthair) ถ้าได้สายพันธุ์เยอรมันจะมีโครงสร้างรูปร่างขนาดใหญ่ ขนแน่น ราคาแพงมาก ซึ่งแมวที่ฟาร์มซื้อมาตัวละแสนห้าถึงห้าแสน และการซื้อแมวจะซื้อช่วงวัยใกล้ผสมพันธุ์แล้ว อายุ 10 เดือนขึ้นไป เพราะจะเห็นโครงสร้างรูปร่างชัดเจน เพื่อเข้าประกวดรุ่น Adult ได้ หรือกรณีแมวสายพันธุ์เข้าประกวดรุ่น Kitten อายุ 4-8 เดือน ตกตัวละ 6-7 หมื่นบาท

ข้อต่อมา เรื่องอาหารต้องมีคุณภาพ เกรดโฮลิสติก อาหารสูตรเนื้อแกะ เนื้อกระต่าย เนื้อเป็ด เนื้อแซลมอน และป้อนอาหารให้อ้วน เพิ่มวิตามิน เพื่อบ่งบอกความเป็นแมวสุขภาพดี เพราะโครงสร้างที่ดีมาจากอาหารและต้องให้ตั้งแต่เล็ก ไม่ใช่แค่เดือนสองเดือน ไม่มีขี้หู ไรหู ขี้มูก ควบคุมโรคต่างๆ

“แมวประกวด ตาต้องกลมแบ๊วเหมือนแมวในแมกาซีน นิสัยดี ไม่ตบกัด โดยเฉพาะการเตรียมตัวก่อนการประกวด 1 เดือน ต้องเคลียร์ทุกด้าน อาบน้ำวีกละ 1 ครั้ง จากเดิม 2 สัปดาห์ครั้ง ซึ่งค่าอาบน้ำเบ็ดเสร็จแพงมาก 2,500-3,000 บาท เราอาบเองจะไม่ได้เรื่องขนนุ่มสวย บางคนลงทุนเข้าคอร์สเรียนอาบน้ำแมว ราคาเริ่มต้น 5-6 หมื่นบาท”

นอกจากนั้น แมวประกวดต้องอยู่ในบ็อกซ์ เพื่อเก็บรักษาขนนุ่มสวย ให้อาหารตามเวลา เหมือนเข้าคอร์สประกวดนางงาม เปิดแอร์ 20 องศา มีการปิดไฟให้น้องนอน ซึ่งการเลี้ยงในบ็อกซ์ ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้แมวมีอารมณ์ทางเพศด้วย

จินตนากล่าวว่า แมวประกวดจะไม่ได้อยู่อย่างแมวปกติ จนกว่าจะคว้าตำแหน่งสุดท้ายตามเป้าหมายของเจ้าของจึงจะมีชีวิตปกติได้ ซึ่งในต่างประเทศต้องได้รับการตรวจยีนและโครโมโซม กรณีตรวจเลือดเจอโรคจะไม่ได้เข้าประกวด และถูกสมาคมแมวระดับโลกระบุ NOT FOR BREED ทันที

ทั้งนี้ มีสมาคมแมวหลายแห่งในโลกรับขึ้นทะเบียนและพัฒนาสายพันธุ์ รวมถึงจัดกิจกรรมประกวด เช่น CFA (The Cat Fanciers’ Association) จัดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1906 ถือเป็นสมาคมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีสมาชิกทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ถือเป็นสมาคมที่เข้มงวดมากในเรื่องการบรีด (Breed) และจัดสายพันธุ์แมว

WCF (The World Cat Federation) เป็นสมาคมแมวของยุโรปที่มีเครือข่ายมากกว่า 374 แห่ง สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมนี มีการควบคุมมาตรฐานและสุขภาพแมวสายพันธุ์ต่างๆ โดยกำหนดให้แมวเพศเมียมีลูกได้ไม่เกิน 2 ครอกในรอบ 1 ปี ลูกแมวทุกตัวที่ได้รับใบ Certified Pedigree จะไม่สามารถนำไปขยายพันธุ์ขายในเชิงพาณิชย์ หรือ NOT FOR BREED และแม้มีลูกรุ่นต่อมาจะไม่สามารถขอเอกสารรับรองได้

TICA (The International Cat Association) เป็นสมาคมขนาดใหญ่จากฝั่งอเมริกาที่รับจดทะเบียนแมวเกือบทุกสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่สมาคมอื่นปฏิเสธ สายพันธุ์ใหม่ๆ และแมวบ้าน
CFCT (Cat Fancire’s Club of Thailand) หรือชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 เป็นการรวมกลุ่มของผู้รักแมวในประเทศไทย เน้นพัฒนาการเลี้ยง การเพาะพันธุ์แมวตามมาตรฐานสายพันธุ์ เพื่อส่งออกและลดการนำเข้า นอกจากนั้น เผยแพร่สายพันธุ์แมวไทยโบราณให้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ

จินตนากล่าวว่า แมวประกวดส่วนใหญ่มักไต่อันดับต่อเนื่อง เริ่มต้นจากระดับแชมเปี้ยนก่อน มีกรรมการ 3 คน อินเตอร์แชมป์ กรรมการ 6 คน แกรนด์อินเตอร์แชมป์ กรรมการ 9 คน ไปจนถึงยูโรเปี้ยนแชมป์ แกรนด์ยูโรเปี้ยนแชมป์ และเวิลด์แชมป์ ขึ้นอยู่กับสมาคมต่างๆ กรณีในประเทศไทยมีการจัดประกวดถึงขั้นแกรนด์อินเตอร์แชมป์ จากนั้นต้องไปประกวดในต่างประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งการประกวดในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป คนมีเงินเท่านั้นจะก้าวไปถึงดวงดาวได้

ขณะที่วงการประกวดไม่ได้กว้างมาก แมวประกวดส่วนใหญ่ 200-300 ตัว หน้าซ้ำๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นฟาร์ม หรือเจ้าของคนไทยที่อยากเอาน้องเข้าประกวด และชาวต่างชาติ ถือเป็นธุรกิจที่ดีอย่างหนึ่ง เงินสะพัดมาก รวยทุกคน ทุ่มซื้อแมวกันหลักแสนหลักล้าน มีเงินเท่าไรประเคนให้น้องหมด ไม่มีเงินประกวดไม่ได้ แต่ Maki Cattery ประกวดจนไม่ไหวแล้ว หมดเงินกับแมวเยอะมาก ซูโม่ว่าได้ท็อปโลก เวทีต่อไปต้องเดินทางไปต่างประเทศ ลงทุนสูง ต้องหยุดและเปลี่ยนมาบรีดส่งต่อให้ลูกค้าส่งประกวดแทน

เธอเล่าอีกว่า จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจเข้าสู่วงการประกวด ฟลุกมากกว่า อยู่ดีๆ ลูกชายซื้อมันช์กิ้นเป็นของขวัญ และไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์ประกวด น้องสวยมากจนลองเข้าประกวด ปรากฏว่า ซูโม่ว่าคว้าหลายรางวัลกลายเป็นตกกระไดพลอยโจนมาทำธุรกิจฟาร์มแมวอีก เพราะมีแมวสวย อยากบรีด พอบรีดปุ๊บ มีบางส่วนขายได้ บางส่วนขายไม่ได้ ซึ่งฟาร์มต้องโอบอุ้มไว้

อย่างไรก็ตาม การคว้ารางวัลหมายถึงค่าสินสอดหรือค่าตัวพุ่งพรวดทันที ยิ่งคว้าได้หลายรางวัล ราคาเพิ่มขึ้นอีกหลายแสนบาท และเมื่อขยับไปถึงเป้าหมายแล้ว น้องแมวจะกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ราคาสูงมาก ซึ่งในวงการจะบรีดแค่ 2 ครอก และเลือกตัวที่ดีที่สุดไปประกวด เพื่อเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ ไม่ใช่เอาตัวเดียวกันผสมต่อๆ กัน จะได้สายพันธุ์ไม่ดี

ล่าสุด ฟาร์มบรีดพันธุ์ Lambkin Cat หรือแมวขนแกะ เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ Munchkin และ Selkirk Rex มีขนหนานุ่มเป็นลอน โดยซื้อพ่อแม่พันธุ์แพงมาก 3 แสนกว่าบาท บรีดขายตัวละแสนกว่าบาท แต่ยอมรับว่า ธุรกิจฟาร์มแมวไม่ได้มีกำไร ทำฟาร์ม 7 ปี มีแต่ขาดทุน เพราะค่าอาหารต่อเดือน ค่าทรายเต้าหู้แมว ค่าไฟ ซึ่งต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา หลายแสนบาทต่อเดือน

ส่วนการขายแมวไม่ใช่ขายได้ทุกเดือน ถ้าเจ็บป่วยต้องรักษา ซึ่งสูงมาก บางเคสมากกว่า 3 แสนบาท แต่ยังลุยต่อ เพราะตัดใจปล่อยแมวที่มีอยู่ไม่ได้ จำเป็นต้องบรีดน้อง เพื่อนำเงินมาเลี้ยงน้องๆ ที่มีอยู่อีกนับร้อยตัว

ที่สำคัญ ลูกค้าของฟาร์มนอกจากกลุ่มประกวดแล้ว เธอยังร่วมกับคุณหมอส่งน้องแมวให้กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชและโรคซึมเศร้า ถือเป็นนโยบายสนับสนุนการใช้แมวบำบัด เพราะแมวที่นี่ต่างจากฟาร์มอื่นๆ นิสัยขี้อ้อน ชอบคลอเคลีย เพราะมีพ่อแม่สายพันธุ์ประกวด นิสัยดี บวกกับการเลี้ยงดูอีก 20% อยู่ในห้องนอนตลอดเวลา เลี้ยงดูแบบรักจริงๆ ป้อนนม กระตุ้นอึ เลี้ยงด้วยความรักทำให้น้องแมวไว้ใจจนกลายเป็นแมวขี้อ้อน เป็นซิกเนเจอร์สำคัญของ Maki Cattery ด้วย.