วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
Home > Cover Story > แอลจี โดดชน “อ๊อตเทริวอช” สมรภูมิร้านสะดวกซักหมื่นล้าน

แอลจี โดดชน “อ๊อตเทริวอช” สมรภูมิร้านสะดวกซักหมื่นล้าน

แม้เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ลงทุนหลักล้าน แต่ร้านสะดวกซัก เครื่องหยอดเหรียญ ยังเป็นกิจการยอดนิยมและผุดเพิ่มขึ้นไม่หยุด มีหลายสิบแบรนด์ โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากปี 2564 ตลาดรวมมีสาขามากกว่า 2,400 แห่ง ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 3,400 กว่าแห่ง และปีที่ผ่านมาพุ่งพรวดอีกนับพันแห่ง เกือบ 5,000 สาขา เม็ดเงินทั้งตลาดทะลุหมื่นล้านบาท

ที่สำคัญตลาดมีแนวโน้มเติบโตตามการรุกขยายเจาะพื้นที่ชุมชนในทุกจังหวัด มีแบรนด์ยักษ์ใหญ่กระโดดเข้ามาเล่นในสมรภูมิมากขึ้น

ล่าสุด ค่ายแอลจี บิ๊กแบรนด์เกาหลี ประกาศแตกไลน์ธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าเชิงพาณิชย์ เปิดแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกของแอลจีทั่วโลก ภายใต้ชื่อ “LG Laundry Crew” ปักหมุดแรก เจาะทำเลรามคำแหงซอย 8

ซองฮัน จอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจร้านสะดวกซักในประเทศไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นและมีโอกาสเติบโตอีกมาก แอลจีมองเห็นโอกาสตรงนี้และที่ผ่านมามีสัดส่วนตลาดเครื่องซักผ้าเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทยมาตลอด 35 ปี จึงตัดสินใจเปิดตัว LG Laundry Crew ร้านสะดวกซักที่ใช้โมเดลธุรกิจใหม่ในประเทศไทยเป็นที่แรก

พูดง่ายๆ คือ จากเดิม บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าเชิงพาณิชย์ให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ แต่ตอนนี้แอลจีขอขยับมาเป็นผู้เล่นในตลาดแฟรนไชส์ โดยมีจุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์ เครื่องซักผ้า-อบผ้าเชิงพาณิชย์ที่มีขนาดความจุพอดี ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องซื้อเครื่องซักผ้า-อบผ้าขนาดใหญ่เกินจำเป็น ซึ่งช่วยลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง โดยแอลจีเป็นแบรนด์เดียวในตลาดประเทศไทยที่มีผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ และมีส่วนแบ่งอันดับหนึ่งในตลาดเครื่องซักผ้าไทย สัดส่วน 34.3% รวมทั้งเป็นผู้ผลิตเครื่องซักและอบเชิงพาณิชย์ที่มีรอบซักมากกว่าเครื่องซักผ้าตามบ้าน ประหยัดน้ำไฟ ซึ่งเหมาะกับการใช้งานในร้านสะดวกซัก สามารถคืนทุนให้ผู้ประกอบการภายใน 2-4 ปี

สำหรับงบประมาณการลงทุนต่อสาขา เฉลี่ย 1.5-3 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ค่าตกแต่งภายใน และการวางระบบหลังบ้านต่างๆ โดยบริษัทมีบริการหลังการขาย เช่น การส่งช่างมาดูแลเครื่องซักผ้า-อบผ้าทุกเดือนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ระยะเวลา 2 ปี บริการล้างถังซักฟรีปีละสองครั้ง

ด้านเกณฑ์การพิจารณาผู้ลงทุน ได้แก่ ทำเลที่ตั้งร้าน ซึ่งเน้นย่านคอนโดมิเนียม บ้าน หอพัก แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงแหล่งรวมธุรกิจบริการต่างๆ เช่น โรงแรม สปา นอกจากนั้น ต้องดูความพร้อมของสถานที่และเงินลงทุน โดยผู้สนใจสามารถเลือกชำระเงินลงทุนก้อนแรก ทั้งแบบจ่ายเป็นเงินสด หรือแบ่งจ่ายผ่านบัตรเครดิต

ส่วนโมเดลร้าน LG Laundry Crew มีทั้งหมด 4 ขนาด เริ่มจากไซซ์ S มีเครื่องซักผ้าและอบผ้า 4 ชุด 8 เครื่อง ไซซ์ M มีเครื่องซักผ้าและอบผ้า 6 ชุด 12 เครื่อง ไซซ์ L มีเครื่องซักผ้าและอบผ้า 8 ชุด 16 เครื่อง และไซซ์ XL มีเครื่องซักผ้าและอบผ้า 10 ชุดขึ้นไป 20 เครื่องขึ้นไป โดยขนาดพื้นที่เริ่มต้น 40 ตารางเมตร เพื่อวางเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า ขั้นต่ำ 4 ชุด พร้อมพื้นที่อำนวยความสะดวกในร้าน เช่น โต๊ะเก้าอี้รองรับลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ขนาดร้านอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของสถานที่และศักยภาพการทำธุรกิจของร้าน อย่างร้าน LG Laundry Crew สาขาแรกที่รามคำแหงซอย 8 เป็นร้านขนาดระหว่างไซซ์ M และ L มีเครื่องซักผ้าและอบผ้าให้บริการ 7 ชุด 14 เครื่อง

ผู้บริหารแอลจีย้ำว่า บริษัทต้องการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในช่วงเริ่มต้น เพื่อให้ผู้ลงทุนแฟรนไชส์เติบโตอย่างแข็งแรง โดยมองศักยภาพการขยายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น หัวเมืองต่างๆ หรือจังหวัดที่มีโรงงาน สถานศึกษา และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้น หลังประเมินผลตอบรับในสาขาต้นแบบแห่งแรก

แน่นอนว่า การกระโดดเข้าสู่สมรภูมิของยักษ์ใหญ่เกาหลีสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะเจ้าตลาด Otteri Wash & Dry ของบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งบุกเบิกรุกธุรกิจร้านสะดวกซักเมื่อสิบปีก่อน และสามารถขยายเครือข่ายอย่างรวดเร็วมากกว่า 600 สาขา จนเกิดดีลใหญ่สามารถร่วมทุนกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” ผ่านบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ได้เม็ดเงินถึง 1,105 ล้านบาท เมื่อกลางปี 2565

จริงๆ แล้ว กวิน นิทัศนจารุกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2555 ตั้งใจจะทำธุรกิจนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม ซัก อบ รีด จำหน่ายให้กลุ่มโรงแรม โรงพยาบาล และโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย แต่ช่วงเวลานั้นเจอคู่แข่งบิ๊กบึ้มจากต่างประเทศเข้ามาบุกแย่งส่วนแบ่งตลาดเครื่องจักรอุตสาหกรรม ซัก อบ รีด ในประเทศไทย

กวินจึงพยายามหากลยุทธ์ใหม่และปิ๊งไอเดีย เมื่อมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวประเทศมาเลเซีย เขาเห็นธุรกิจร้านสะดวกซักเติบโตดีมากในมาเลเซีย มีร้านสะดวกซักถึง 3,000 แห่ง ทั้งที่มีประชากรน้อยกว่าประเทศไทย

ขณะเดียวกัน เมืองไทยเมื่อสิบปีก่อนอยู่ในช่วงจังหวะสังคมเมืองขยายตัว มีรูปแบบการอยู่อาศัยบนตึกสูง พื้นที่จำกัด ทั้งคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หอพัก รวมถึงวิถีการทำงานเร่งรีบทำให้งานซักรีดเป็นปัญหาใหญ่ของคนรุ่นใหม่

ปี 2558 เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น ทดลองเปิดร้านสะดวกซักเครื่องอุตสาหกรรมแบบหยอดเหรียญ Koin Laundry โดยถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ต้องปรับแก้แผนใหม่

ปีต่อมา เขาตัดสินใจลงทุนธุรกิจร้านซักผ้าหยอดเหรียญโฉมใหม่สไตล์ญี่ปุ่น ชื่อ “Otteri Wash & Dry”  โดยพัฒนารูปแบบร้านทันสมัย เปิดบริการ 24 ชั่วโมง มีที่นั่งรอพร้อมบริการไวไฟ ติดตั้งกล้องวงจรปิด มีพนักงานทำความสะอาดร้านและเครื่องซักผ้าทุกวัน พร้อมเปิดแฟรนไชส์ เพื่อขยายเครือข่ายสาขาในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งใช้ชื่อแบรนด์ Otteri สไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งแปลกหู น่าสนใจ  โดย “Otteri” มาจากคำว่า “Otter” หรือ “นาก” และเติม “อิ” ตามภาษาญี่ปุ่น กลายเป็น “Otteri” หรือนากอ๊อตเทริ สัตว์น่ารัก ซุกซน ขี้เล่น สนุกสนาน และอยู่คู่กับน้ำ ฉลาด ว่องไวเหมือนบริการเครื่องซักผ้า Otteri wash & dry

ปัจจุบัน เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น ภายใต้แบ็กอัปใหญ่ “โออาร์” ลุยปูพรมสาขาทั่วประเทศ 1,104 แห่ง โดยเป็นสาขาแฟรนไชส์ 70 แห่ง และในปี 2567 ตั้งเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มอย่างน้อย 200 แห่ง ซึ่งร้านแฟรนไชส์มี 2 ขนาด คือ ไซซ์ M พื้นที่ 40-45 ตารางเมตรขึ้นไป ค่าแฟรนไชส์เริ่มต้น 2.4 ล้านบาท และไซซ์ L พื้นที่ 60-65 ตารางเมตรขึ้นไป ค่าแฟรนไชส์เริ่มต้น 3.1 ล้านบาท

ทำเลหลักๆ ได้แก่ แหล่งชุมชนขนาดใหญ่และใกล้ที่พักอาศัย มีพื้นที่จอดรถ เน้นแหล่งที่เป็น Lifestyle Community ซึ่งคนรุ่นใหม่ออกมาใช้ชีวิต และทำกิจกรรมข้างนอก เช่น สถานีบริการ EV charger, Co-working space, Lifestyle café และร้านอาหาร

ทว่า ไม่ใช่แค่แบรนด์ใหญ่อย่าง LG Laundry Crew และ Otteri wash & dry แต่ในวงการแฟรนไชส์ยังมีร้านสะดวกซัก เครื่องหยอดเหรียญอีกหลายสิบแบรนด์ บางแบรนด์มาจากมาเลเซีย ญี่ปุ่น ซึ่งทุกค่ายต่างเน้นคาแรกเตอร์สีสันน่ารักดึงดูดคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Dr.Tiger Laundry, Teru wash & dry, Laundry Bar, Wonder Wash, Code Clean, Tanjai wash & dry, WASHENJOY, Browny 24hr wash & dry, Sanook (สนุกซัก), Speed Queen Laundry, Maru Laundry, IMAGE WASH, Mr Jeff, CLEANMATE Dryclean & Laundry รวมถึงแบรนด์เก่าแก่ “ซินไฉฮั้ว”

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนภาพการเติบโต คือ การรุกหนักของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องซักผ้าเชิงพาณิชย์ เช่น บริษัท อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้ ซิสเต็มส์ จากอเมริกา เข้ามารุกตลาดประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 พุ่งเป้ารองรับกลุ่มร้านสะดวกซัก กระทั่งเปิดโรงงานแห่งใหญ่ในเมืองไทย และจากช่วงแรกที่มีร้านสะดวกซักซื้อสินค้าไม่กี่สาขา ล่าสุดมีแบรนด์หลักๆ และร้านสะดวกซักที่ใช้สินค้าของบริษัทนับพันแห่ง สร้างยอดขายเมื่อปี 2566 รวม 1,750 ล้านบาท และกำลังเร่งผลักดันยอดขายภายใต้แคมเปญ 1 อำเภอ 1 ร้านสะดวกซัก ทั่วประเทศด้วย.