วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > “ขยะ” วาระแห่งชาติ จากมูลฝอยสู่พลังงานทดแทน

“ขยะ” วาระแห่งชาติ จากมูลฝอยสู่พลังงานทดแทน

 
 
เหตุการณ์น้ำท่วมขังบนพื้นผิวถนนหลังจากฝนตกได้ไม่นาน แม้จะเป็นเรื่องที่เห็นจนชินตาและคาดเดาได้ง่าย รวมไปถึงต้นสายปลายเหตุที่รับรู้โดยทั่วกันว่ามาจากการสะสมของปริมาณขยะมูลฝอยบริเวณท่อระบายน้ำ แต่ดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนเสียที
 
อีกทั้งระบบการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานและขาดประสิทธิภาพ จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหามลพิษให้รุนแรงมากขึ้น ดังที่ปรากฏให้เห็นมาแล้วจากการเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะหลายแห่ง 
 
จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อรัฐบาลผู้ชอบแก้ไขออกประกาศให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำโรดแมป เพื่อจัดการปัญหาขยะและของเสียอันตรายที่สั่งสมเป็นจำนวนมาก โดยทิศทางของรัฐบาลคือการแปรรูปขยะมาเป็นพลังงาน โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจำนวน 53 โรงทั่วประเทศ
 
แน่นอนว่าปัญหาในพื้นที่กรุงเทพมหานครน่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของ กทม. หากแต่การหนีปัญหาด้วยการย้ายขึ้นไปอยู่บนดอยเพื่อที่จะไม่ต้องพบกับปัญหาน้ำท่วมขัง หรือการเชิญชวนให้ช่วยกันภาวนาให้ฝนตกเพื่อแก้ไขวิกฤตน้ำแล้ง ซึ่งปัญหาเหมือนจะรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา และนั่นไม่ใช่ทางออกที่ฉลาดนัก
 
องค์กรความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือไจก้า ประมาณการว่าประเทศไทยผลิตขยะเฉลี่ย 13,000 ตันต่อวัน หรือประชากรหนึ่งคน ผลิตขยะประมาณ 1.2 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่ง กทม. สามารถจัดเก็บขยะได้ประมาณ 9,000 ตันต่อวัน ซึ่งส่วนที่เหลือเป็นขยะตกค้างตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ทั้งนี้สำนักสิ่งแวดล้อมจึงแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งขยะบริเวณดังกล่าวโดยการจัดทำเป็นสวนหากพบว่าบริเวณนั้นมีการทิ้งขยะ 
 
แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากแต่การแก้ปัญหาขยะที่กำลังล้นเมืองอยู่ในขณะนี้นั้น หนทางที่อาจเรียกได้ว่าจีรังยั่งยืนคือการสร้างวินัยของคนไทย ให้รู้จักและเข้าใจแยกแยะขยะได้ ซึ่งจะนำไปสู่การคัดแยกก่อนทิ้งอย่างถูกต้อง
 
ประเทศญี่ปุ่นนับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี นั่นเพราะญี่ปุ่นเคยประสบปัญหาวิกฤตขยะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งญี่ปุ่นประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติไม่ต่างจากไทย  หากแต่การที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดทำ “คู่มือการอยู่อาศัย” ที่อธิบายถึงลักษณะของขยะแต่ละชิ้น และแยกแยะอย่างละเอียด ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี 
 
ทั้งนี้ญี่ปุ่นแบ่งประเภทของขยะดังนี้ ขยะเผาได้ เป็นวัสดุที่เผาไฟได้ ขนาดไม่ใหญ่เกินไป ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปเผาในเตาเผาขยะและนำพลังงานความร้อนมาผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้การไฟฟ้า
 
ขยะเผาไม่ได้ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากแก้ว ยาง เครื่องหนัง แผ่นซีดี จะถูกส่งไปโรงงานคัดแยกเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ ต่อไป 
 
ขยะรีไซเคิล เช่นกระดาษต่างๆ จะถูกส่งไปโรงงานผลิตกระดาษและวัสดุอื่นๆ 
 
ขยะมีพิษ หรือขยะอันตราย ภาชนะบรรจุสารเคมีที่เป็นพิษ ขยะติดเชื้อ แบตเตอรี่ ขยะมีคม ขยะเหล่านี้ต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะกำจัดเพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ
 
การแยกขยะจากบ้านเรือนจะช่วยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดการขยะได้เป็นอย่างดี ซึ่งหัวใจสำคัญนั้นอยู่ที่ “ความมีวินัยของประชาชนและความเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่” นอกเหนือไปจากเทคโนโลยีล้ำสมัยของญี่ปุ่นที่เรามักเปิดใจรับเข้ามาด้วยความยินดี ความมีวินัยของคนญี่ปุ่นคืออีกหนึ่งสิ่งที่เราควรเอาอย่างเช่นกัน
 
การทำงานของ กทม.ในการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ ดูจะกระจ่างชัดขึ้น เมื่อ กทม. ลงนามในสัญญาสัมปทานกับบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนแมนทอล โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการให้เอกชนเข้ามาลงทุน 100% ภายใต้กรอบสัญญาที่ตกลงกันระยะเวลา 20 ปี จากนั้นจะโอนสิทธิคืนให้รัฐบาลภายหลัง เรียกว่า Build-Operate-Transfet (BOT) 
 
โดยซีแอนด์จีหอบเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 2,124.3 ล้านบาท โดยดำเนินการที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2558 โดยสามารถกำจัดขยะได้ 300-500 ตันต่อวัน ซึ่งจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 6-7 เมกะวัตต์ และคาดการณ์ว่าจะผลิตเพิ่มได้สูงสุดถึง 9.8 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้บางส่วนจะใช้ภายในโรงงาน และจะนำส่วนที่เหลือจะส่งขายให้การไฟฟ้านครหลวง 
 
อย่างไรก็ตาม กทม. ต้องจ่ายค่าจ้างในการเผาขยะให้แก่ซีแอนด์จี ในอัตรา 970 บาทต่อตันต่อวัน ทั้งนี้ กทม. มองว่าเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่าที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาแก้ปัญหาขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ 
แต่ที่น่าแปลกใจในเวลานี้คือการที่ กทม. ไม่ตอบสนองต่อข้อเสนอจากญี่ปุ่น ที่จะเข้ามาดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมูลค่าถึง 1,800 ล้านบาทให้ฟรี 
 
องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) หน่วยงานที่เป็นตัวแทนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เข้ามาประสานงานการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ โดยจะสามารถเผาขยะได้ 500 ตันต่อวันโดยที่ไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 
 
หากแต่คำตอบจาก กทม. ต่อข้อเสนอดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายต้องแปลกใจเมื่อ กทม. แสดงความกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นน่าจะมีมาตรฐานสูงเทียบเท่าบริษัทจากประเทศจีน ที่กำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้
 
นั่นทำให้ กรอ. หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องเข้าหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่ 2-3 แห่งสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะขนาด 500 ตันโดยเร็ว อีกทั้งยังต้องเป็นสถานที่ที่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ มากจนเกินไป เพื่อความสะดวกในการขนส่งขยะจากชุมชน 350 ตันต่อวัน และขยะอุตสาหกรรม 150 ตันต่อวัน โดยญี่ปุ่นตั้งเป้าจะให้โครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบในการศึกษาดูงานอีกด้วย
 
แม้เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการขยะจะเป็นการแก้ปัญหาที่กำลังสุมหัวอยู่ในขณะนี้ได้รวดเร็วกว่าวิธีอื่น อีกทั้งยังสามารถสร้างพลังงานให้หมุนกลับมาใช้ได้อีก แต่มักจะถูกต่อต้านจากคนในชุมชนโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ในขณะที่สามารถยอมรับการนำขยะไปฝังกลบที่จะก่อมลพิษต่อน้ำใต้ดินได้ 
 
นั่นอาจเป็นเพราะในอดีตมีการนำเทคโนโลยีถูกๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอมาใช้ในการกำจัดขยะ ส่งผลให้ชาวบ้านขาดความเชื่อถือ และตั้งธงปฏิเสธไม่ยอมรับไว้ก่อน ดังเช่นกรณีชาวบ้านตำบลเชียงรากใหญ่ จ.ปทุมธานี กำลังรวมตัวกันคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะทันทีหลังจากที่องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากใหญ่กำลังทำข้อตกลงสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะกับบริษัท ปทุมธานี คลีน เอนเนอร์จี จำกัด บนเนื้อที่ 193 ไร่
 
ซึ่งหากมีการอธิบายถึงหลักการและเหตุผลในการสร้าง รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง และการทำประชาพิจารณ์ที่โปร่งใส น่าจะเป็นหนทางในการคลี่คลายความข้องใจสงสัยระหว่างชุมชนและหน่วยงานภาครัฐได้  ไม่เช่นนั้นแล้วคงจะมีกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะตามพื้นที่ที่รัฐวางแผนไว้ว่าจะตั้งโรงไฟฟ้าพลังานขยะ 53 โรงทั่วประเทศ
 
ในห้วงเวลาที่ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ผนวกกับความคิดความเห็นจากฝ่ายบริหารประเทศ ทำให้ภาคเอกชนออกแอกชั่นได้ชัดเจนกว่าในเรื่องการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ แม้จะเป็นไปเพื่อผลกำไรในอนาคต หากแต่ความรวดเร็วก็ช่วยลดปัญหาขยะได้ไปบ้าง 
 
ธุรกิจพลังงานทดแทนไม่เพียงแต่เป็นที่สนใจของนักลงทุนที่มีความชำนาญในด้านนี้เท่านั้น หากแต่พลังงานทางเลือกยังดึงดูดนักธุรกิจนอกวงให้เข้ามาร่วมลงทุนในตลาดนี้ แน่นอนว่าเงินลงทุนจำนวนมากย่อมมาควบคู่กับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการใช้งาน
 
การเข้ามาของภาคเอกชนน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่รัฐ ทั้งนี้ทั้งนั้นภาครัฐควรจะออกเป็นพระราชบัญญัติเรื่องการจัดการขยะ รวมไปถึง พ.ร.บ.ที่เอื้อต่อการลงทุนในด้านพลังงานทดแทน เพื่อเชิญชวนให้นักธุรกิจหันมาสนใจมากยิ่งขึ้น
 
คงหมดเวลาที่จะโยนความรับผิดชอบให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแล้ว วิกฤตที่เกิดขึ้นอาจช่วยให้เกิดการหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันหาทางออกของปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญ นอกเหนือจากการแก้ปัญหาด้วยฮาร์ดแวร์อย่างการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ การสร้างซอฟต์แวร์ใหม่ที่เรียกว่า “วินัยและจิตสำนึกต่อส่วนรวม” อาจเป็นคำตอบถูกต้องที่สุดในเวลานี้ก็เป็นได้