วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > TAO BIN Cafe + กิ้งก่าอีวี ลุ้นฟีดแบ็ก ลุยโมเดลใหม่เจาะตลาด

TAO BIN Cafe + กิ้งก่าอีวี ลุ้นฟีดแบ็ก ลุยโมเดลใหม่เจาะตลาด

“ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส” ในเครือฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) เตรียมเปิดเกมรุกขั้นต่อไป หลังเผยโฉมป๊อปอัปสโตร์ “เต่าบินคาเฟ่” (TAO BIN Café) สาขาต้นแบบที่เดอะมอลล์ ไลฟ์ สโตร์ บางกะปิ ก่อนปูพรมกระจายทั่วเมือง และแตกโมเดลใหม่ คอนเซ็ปต์ Ecosystem ใน “สถานีกิ้งก่าอีวี (GINKA EV)” ที่สามารถบวกตู้เต่าบิน หรือเต่าบินคาเฟ่ และตู้สารพัดบริการ “บุญเติม” ตู้กดน้ำดื่ม ไปจนถึงตู้จำหน่ายอาหารและขนม ชนิดกิน ดื่ม ชาร์จ ครบวงจร

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก Thai Franchise Center ระบุว่า ธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger Station ครบวงจร กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่จะเติบโตในตลาดประเทศไทย โดยเฉพาะโมเดลของบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ที่นำเสนอแนวคิดสูตรการขยายเต่าบินคาเฟ่เข้าสู่ปั๊ม GINKA EV รับกระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่มาแรงต่อเนื่อง ผลจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาล

ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ FSMART กล่าวว่า ปี 2567 บริษัทวางแผนเปิด “เต่าบินคาเฟ่” นอกห้าง รูปแบบ Stand Alone ซึ่งมีบริการเครื่องดื่ม อาหาร และพื้นที่บริการลูกค้า โดยมีสถานีบริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Station) GINKA อยู่ด้านนอก 2 รูปแบบ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

รูปแบบแรก ไซส์ขนาดเล็ก พื้นที่ 100-200 ตารางเมตร มีเคาน์เตอร์เต่าบิน ที่จอดรถยนต์ไฟฟ้าและเครื่องชาร์จกิ้งก่าอีวี

รูปแบบที่ 2 ไซส์ขนาดใหญ่ พื้นที่ 1-2 ไร่ รูปแบบปั๊มกิ้งก่าอีวี เต่าบินคาเฟ่ ร้านอาหารอื่นๆ และห้องน้ำ

ทั้งนี้ เต่าบินคาเฟ่ เป็นโมเดลคาเฟ่อัตโนมัติยุคใหม่ เน้นบริการตัวเอง เป็นโมเดลการบริหารจัดการร้านคาเฟ่ที่แก้ไขปัญหา (pain point) คาเฟ่ปัจจุบัน ทั้งเรื่องเมนูที่หลากหลาย แต่สามารถควบคุมรสชาติทุกแก้ว การบริหารจัดการบุคคล ค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาสการขายมากขึ้น โดยร้านต้นแบบสาขาแรกในห้างเดอะมอลล์ ให้บริการเครื่องดื่มกว่า 300 เมนู เทียบกับตู้เต่าบินทั่วไปที่มี 200 เมนู มีเมนูขนมหวานและไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ มีที่นั่งให้นั่งรับประทาน

ลูกค้าสามารถกดสั่งเมนูเครื่องดื่มและของหวานได้จากตู้อัตโนมัติ จากนั้นรอคิวรับสินค้าขนมหวาน ไอศกรีม โดยมีพนักงานคอยให้บริการเพียงไม่กี่คน

ที่สำคัญ เต่าบินคาเฟ่สามารถเพิ่มเติมสินค้าอื่นๆ เท่ากับเพิ่มโอกาสทำยอดขายเครื่องดื่มและขนมหวานได้มากกว่าตู้เต่าบิน รวมถึงการต่อยอดทำร้านแฟรนไชส์ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สนใจติดต่อขอเป็นแฟรนไชส์ตู้เต่าบินจำนวนมาก แต่การติดตั้งตู้เต่าบินเพียงตู้เดียวอาจทำกำไรไม่สูงมาก

ขณะที่หากเป็นโมเดล “เต่าบินคาเฟ่” มีสินค้าหลากหลาย ทั้งเครื่องดื่มและขนมหวาน เปิดในทำเลที่มีศักยภาพ และขายได้ 24 ชั่วโมง ใช้พนักงานสาขาละ 1-2 คน เพราะเครื่องดื่มชงแบบอัตโนมัติอยู่แล้ว รูปแบบร้านแฟรนไชส์ย่อมมีโอกาสสร้างรายได้และกำไรสูงมากขึ้น

ส่วนธุรกิจตู้เต่าบินนั้น ช่วงปี 2566 สามารถติดตั้งรวม 7,000 ตู้ กระจายอยู่ตามชุมชนขนาดใหญ่ ย่านธุรกิจ หน้าร้านค้าต่างๆ และปี 2567 ตั้งเป้าหมายติดตั้งเพิ่มอีก 3,000 ตู้ หรือมีจำนวนรวม 10,000 ตู้ โดยยังคงเป้าหมายเดิม คือ เปิดให้ได้ 20,000 ตู้ สร้างยอดขายวันละ 1 ล้านแก้ว รวมทั้งปีที่ผ่านมา เริ่มขยายไปต่างประเทศ คือ ประเทศมาเลเซีย 100 ตู้  และออสเตรเลีย 20 ตู้  ซึ่งมีกระแสตอบรับดีมาก

ต้องยอมรับว่า การแจ้งเกิด “ตู้เต่าบิน” สร้างความต่างในตลาดกาแฟ เพราะเป็นคาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง อยู่ใกล้ที่พักอาศัยผู้บริโภคตลอดเวลา ไม่ต้องเดินทางไปไกล และถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติสามารถชงกาแฟด้วยเมล็ดกาแฟสด มีคุณภาพเทียบเท่ากับร้านดังอย่าง สตาร์บัคส์ และมีจุดเด่น คือ การชงกาแฟสูตรพิเศษได้แบบ Café Hopping ในราคาครึ่งเดียว กลายเป็นจุดขายตีตลาดกาแฟและสร้างกลุ่มลูกค้าขาประจำได้ โดยตู้เต่าบินวางตัวเองเป็นเครื่องดื่มพรีเมียมในราคาที่เข้าถึงได้ (Affordable) เพราะใช้เทคโนโลยีลดการใช้แรงงาน ต้นทุนต่ำลง และสถานที่ติดตั้งตู้ใช้พื้นที่เพียง 1 ตารางเมตร

ปัจจุบันตู้เต่าบินมีเมนูเครื่องดื่มหลากหลายกว่า 200 เมนู ทั้งเมนูร้อน เย็น ปั่น โดยสัดส่วนการขายเครื่องดื่มของตู้เต่าบินไม่ได้มาจากกาแฟเป็นหลักเหมือนเดิม แต่มาจากเครื่องดื่มประเภทนมและช็อกโกแลตมากสุด 28% กลุ่มเครื่องดื่มโซดา 26% กาแฟ 23% ชา 13% Energy Drink 4% เครื่องดื่มสุขภาพ 2% และอื่นๆ 4% ซึ่งตู้เต่าบินมีการพัฒนาโปรดักต์ตามเทรนด์สุขภาพ ให้ผู้บริโภคเลือกระดับความหวานได้เอง พร้อมแสดงข้อมูลสารอาหารและแคลอรีเครื่องดื่มแต่ละประเภท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เต่าบินสามารถรองรับลูกค้าได้ทุกกลุ่ม

ด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า GINKA Charge Point เป็นระบบการจัดการสายชาร์จด้วยสายเคเบิลอัจฉริยะ สามารถใช้งานหัวชาร์จได้รวดเร็ว ใช้งานง่าย หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส ไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันบนมือถือ มีการแจ้งเตือนผ่าน SMS เมื่อชาร์จเต็ม และมีระบบการชำระเงินได้หลายช่องทาง ทั้ง Mobile Banking ของทุกธนาคาร E-Wallet และ GINKA เครดิต ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในการเก็บเครดิตในเบอร์โทรศัพท์ของกลุ่มบริษัทฟอร์ทเท่านั้น นอกจากนี้ มีบริการ Call Center ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง

จริงๆ แล้ว บริษัทดำเนินธุรกิจเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 3 ปีก่อน มีการพัฒนาและผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ FORTH แต่จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในขณะนั้นมีปริมาณน้อย และยังไม่มีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ จึงเป็นการทดสอบระบบและเก็บรวบรวมรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้ จนทำให้บริษัทมีข้อมูลพัฒนา GINKA ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ตัวกิ้งก่าอีวีปรับดีไซน์รูปแบบเครื่อง การใช้งาน ทั้งระบบสายชาร์จแบบเคเบิล ระบบการชำระเงิน และการสร้างตราสัญลักษณ์

อย่างชื่อกิ้งก่าอีวีมาจากจุดประสงค์ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการพลังงานสะอาด จะนึกถึงสีเขียวที่รักษ์โลก และคนไทยคุ้นชื่อ “เต่าบิน” ซึ่งมีที่มาแบบซิกเนเจอร์ คือ การปรุงเครื่องดื่มโดยบาริสต้าบอต ที่สั่งได้ตามใจ แต่อาจใช้เวลารอประมาณ 1 นาที ช้าเหมือนเต่า แต่รสชาติอร่อยเหาะเป็นเต่าบิน ทำให้นึกถึงกิ้งก่า สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และเข้ากับภาพลักษณ์ของบริษัทที่ปรับตัวตลอดเวลา ที่สำคัญเป็นชื่อแนวเดียวกับเต่าบินด้วย

เป้าหมายเบื้องต้นของ GINKA Charge Point คือ 5,000 จุดภายในปี 2567-2568 ตามอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ลานเช่าจอดรถ ลานจอดในตลาด ร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านสะดวกซื้อ โดยมีพันธมิตรรายใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และโรงพยาบาลเอกชัยการแพทย์นำมาให้บริการกับลูกค้า ภายใต้คอนเซ็ปต์ “SMOOTH for CHARGE”

ผู้บริหาร FSMART ย้ำว่า บริษัทวางเป้าหมายการดำเนินการธุรกิจในอนาคต New S-Curve และการเติบโตในระยะยาว ทั้งธุรกิจเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า “GINKA” ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติ “เต่าบิน” ซึ่งมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง ทั้งจำนวนตู้ จำนวนแก้วและยอดขาย รวมถึงป๊อปอัปสโตร์ “เต่าบินคาเฟ่” ซึ่งรอดูผลตอบรับอีกระยะก่อนลุยสาขาต่อไป.