วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ หญิงแกร่งแห่งอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้ปลุกอุตสาหกรรมยาให้ตื่นตัว

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ หญิงแกร่งแห่งอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้ปลุกอุตสาหกรรมยาให้ตื่นตัว

“ธุรกิจเอ็กซิบิชัน” ธุรกิจซึ่งเป็นเสมือนโซ่ข้อกลางที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบการให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แน่นอนว่าความยากของธุรกิจนี้คือการเปลี่ยนจินตนาการ เปลี่ยนความตั้งใจ ในทางรูปธรรมให้เป็นนามธรรม อีกทั้งยังต้องนำเสนอสิ่งที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นล่วงหน้าให้แก่ Exihibitor ต่างๆ จนกระทั่งได้รับการตอบตกลงที่จะมาร่วมงาน และยังต้องทำการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมงานได้มากที่สุด

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ คือหนึ่งในบริษัทที่มักจะอยู่เบื้องหลังและสร้างตัวเองให้เป็นโซ่ข้อกลางที่แข็งแรง เชื่อมต่อสิ่งต่างๆ ระหว่าง Exihibitor และ Visitor ให้มีโอกาสได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งอาจนำไปสู่การร่วมทำธุรกิจระหว่างกันในอนาคต

กระแสความตื่นตัวของผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรม Health and Wellness ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะวิกฤตโรคอุบัติใหม่อย่างโควิดที่เป็นตัวเร่งสำคัญนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้ชีวิตของผู้คน “ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลที่เสมือนผู้ปลุกอุตสาหกรรมนี้ให้ตื่นตัวมากขึ้น “รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์” ผู้อำนวยการกลุ่มโครงสร้าง ภูมิภาคอาเซียน ผู้จัดการทั่วไป-ฟิลิปปินส์

“เราเป็นเหมือน Vertical Lead ในอินฟอร์มาฯ ได้รับมอบหมายสายธุรกิจที่ถนัด พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เรามีผลิตภัณฑ์ในมือแล้วนำไปขยาย นำเสนอในประเทศต่างๆ ปัจจุบันโรสดูอยู่ 4 พอร์ต คือ Food Ingredient, CPHI, Vitafoods, Medical Devices ปัจจุบันยังรับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ในอินฟอร์มาฟิลิปปินส์เพิ่มด้วย”

ทั้ง 4 พอร์ตที่รุ้งเพชรดูแลล้วนอยู่ในอุตสาหกรรม Health and Wellness ทั้งส่วนประกอบของอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ แม้จะมีกระแสเทรนด์สุขภาพ อุตสาหกรรม Health and Wellness ที่ขยายตัว แต่นั่นยังไม่อาจเติมเต็มส่วนที่ขาดของอุตสาหกรรมนี้ในไทยได้

“เราเป็นเสมือนตัวกลางที่นำพาผู้ร่วมงานที่เป็นเสมือนผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนั้นๆ ให้มีโอกาสได้มาพบกับผู้ประกอบการ ผู้เข้าชมงานที่มีความสนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้ ซึ่งการจะสานต่อจนเกิดธุรกิจใหม่ๆ นั้นยังเป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย เราเพียงหวังว่าจะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของ Startup หรือ ธุรกิจ SMEs ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมนี้ของไทยมีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น” รุ้งเพชรเคยกล่าวไว้ในงานแถลงข่าวการจัดงาน Vitafoods 2023

การจัดงานในนาม อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ยังครอบคลุมไปในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายหากจะขนทีมงานจากไทยเข้าไปดูแลเมื่อต้องจัดงานในต่างแดน “เรามีทีมงานทั้งในไทยและในภูมิภาคอาเซียน แบ่งเป็นทีม เช่น ทีมดูแล CPHI ทีมดูแล VitaFoods แต่เวลาที่เราไปจัดงานที่ไหนจะมีแผนกส่วนกลาง ซึ่งจะใช้ความถนัดของบุคลากรที่อยู่ในแต่ละประเทศ เช่น แผนกปฏิบัติการ เรามาจัดงานที่ไทยก็ใช้แผนกปฏิบัติการคนไทยเป็นคนดูแล ไปจัดที่เวียดนามก็ใช้ทีมปฏิบัติการคนเวียดนาม”

เหตุผลที่อินฟอร์มาฯ มักเลือกจัดงานเอ็กซิบิชันในไทย เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน การสนับสนุนจากภาครัฐ และต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับสเกลการจัดงาน “ประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างครบ โดยเฉพาะการโปรโมตเรื่อง MICE เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ งานบางตัว เช่น VitaFoods หรือ MedLab ที่เป็นงาน Medical Devices เคยอยู่สิงคโปร์ทั้งหมด แต่ที่สิงคโปร์มีต้นทุนที่สูงสำหรับการที่จะให้ International Visitor เดินทางเข้าไป สเกลในระดับหนึ่งถ้างานเล็กๆ ไปอยู่ที่สิงคโปร์คนจะเริ่มตัดสินใจยากในการเดินทางไปสิงคโปร์ อย่าง VitaFoods เราจึงเลือกที่จะมาจัดที่ไทย ด้วยความพร้อมด้านเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีจำนวนมาก โรงแรมที่พักเพียงพอต่อความต้องการของผู้เดินทาง สถานที่การจัดงานสามารถรองรับสเกลขนาดใหญ่ได้”

แม้ว่าที่ไทยจะมีกฎระเบียบค่อนข้างมากเกี่ยวกับอาหารและยา แต่การจัดงานที่ไทยในแต่ละครั้งเป็นผลให้ทิศทางการเติบโตของธุรกิจเอ็กซิบิชันขยายตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันอุตสาหกรรม Health and Wellness ผู้ประกอบการตื่นตัวเพิ่มขึ้น

โดยก่อนหน้านี้ งานของอินฟอร์มาฯ มักจัดที่ไทยทุกปี แต่งานกลับพบจุดอิ่มตัวไวกว่าที่คาด เมื่อพิจารณาจากพื้นที่การจัดงานที่ไม่สามารถเพิ่มได้ รุ้งเพชรจึงตัดสินใจย้ายไปจัดงานที่อินโดนีเซีย 1 ปี และกลับมาจัดที่ไทยในปีถัดไป สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อใช้กลยุทธ์นี้ คือ ธุรกิจมีการเติบโตแบบดับเบิล

“CPHI งานเกี่ยวกับยา เป้าหมายแรกที่บริษัทเลือกที่จะมาจัด คือ ที่อินโดนีเซีย เพราะเป็นตลาดที่อุตสาหกรรมยาจะโต แต่ปรากฏว่าการไปจัดงานที่อินโดนีเซียต้องเจอกฎระเบียบมากมาย ส่งผลให้งานไม่โตเท่าที่ควร จากนั้นจึงย้ายกลับมาจัดงานในไทย กลายเป็นว่าเราขยายตัวได้สองเท่าของการจัดงานที่อินโดนีเซีย พอเรามีอัตราการเติบโตจากการจัดงานที่ไทย อินโดนีเซียหรือมาเลเซียก็อยากให้เราไปจัดงานในประเทศเขา เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ ได้เดินทางมาดูงานด้วย”

นอกจากเหตุผลด้านความพร้อมและโอกาสเติบโตทางธุรกิจแล้ว ไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว “เวลาที่ผู้ร่วมงานเดินทางมาไทย สำหรับเอ็กซิบิชันนั้นๆ แต่หลังจบงานหลายคนยังเลือกที่จะท่องเที่ยวและพักผ่อนในไทยต่ออีกนิด เพราะเสน่ห์ของกรุงเทพฯ อีกทั้งการโปรโมตของภาคการท่องเที่ยว มีผลทำให้ผู้เข้าร่วมงานยินดีที่จะมาไทย”

อุตสาหกรรม Health and Wellness มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ โดย Global Wellness Institute ประมาณมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ไว้ราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2022 และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ในช่วงปี 2022-2024 ประมาณการว่ามูลค่าจะเพิ่มอีกราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์

ในขณะที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่สังคมไทยต้องการ คือ การที่ผู้สูงวัยต้องไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ และด้วยปัจจัยนี้ที่ส่งเสริมให้ทั้งอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นด้วยอัตราเร่งที่สูง “Wellness and Healthcare จะเข้ามาช่วยให้คนแก่รู้สึกว่าเป็นคนสูงวัยที่มีคุณค่าในสังคม เข้าถึงการรักษาง่ายขึ้น หรือการบำรุงรักษาสุขภาพ ก่อนที่ร่างกายจะป่วยทำได้ง่ายขึ้น ก็มองว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโต

“ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันเป็นตัวส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้เติบโต ทั้งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะที่การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมยังเป็นไปด้วยความเร่งรีบ ฉะนั้นหลายคนอาจไม่มีเวลามากพอที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง ดังนั้น Health and Wellness เข้ามาในกลุ่มคนที่ต้องการดูแลตัวเอง เขาจะหาอะไรที่หยิบจับง่าย เช่น คนที่ไม่สามารถรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ หรือครบทุกมื้อได้ ก็อาจจะเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้ามาเป็นตัวช่วยสำหรับตัวเอง นี่เป็นวิถีชีวิตที่ขับเคลื่อนหลัก”

แต่การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้อาจไม่เพียงพอหรือเท่าทันการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในระดับสุดยอด ที่จะมีจำนวนผู้สูงวัยมากถึง 28% ในอีก 10 ปีข้างหน้า รุ้งเพชรมองว่า ไทยยังต้องเร่งขับเคลื่อนหากต้องการเป็น Medical Hub ในขณะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์อะไรเลย นอกจากการผลักดันพื้นที่อีอีซีให้เป็นระเบียงสุขภาพ

“แม้ไทยจะมีทรัพยากรสำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่เรายังต้องส่งออกเพื่อนำไปสกัดเป็นสารที่จะนำกลับเข้ามาใช้ในไทย นั่นคือเรายังไม่มีเทคโนโลยีด้านการสกัดที่เพียงพอ ทั้งที่เราน่าจะผลิตเอง ใช้เองได้ ซึ่งในส่วนนี้มองว่าหากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนน่าจะช่วยให้อุตสาหกรรมนี้ขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น เพราะผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อยหรือกลุ่ม Startup ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพียงพอต่อการพัฒนาหรือการลงทุนด้านเครื่องจักรสำหรับทำสารสกัด หรืออาจทำในลักษณะของเซอร์วิสแชริ่ง ที่จะให้ผู้ประกอบการในไทยสามารถใช้เครื่องจักรในการทำสารสกัด โดยไม่จำเป็นต้องส่งออกไปยังต่างประเทศ และซื้อสารสกัดกลับมาใช้ในไทยอีกครั้ง

“ถ้ารัฐบาลไม่เป็นพระเอกในการชูเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร ก็อาจจะทำให้เราไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงวัยในระดับสุดยอด ผู้ประกอบการเองคงไม่อยากจะพึ่งพารัฐบาลทั้งหมด แต่รัฐควรมีนโยบายที่สอดคล้องและส่งเสริมผู้ประกอบการเล็กๆ ได้มีธุรกิจที่ยั่งยืน และภาคเกษตรคือภาคที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม Health and Wellness” รุ้งเพชร ทิ้งท้าย.