วันอังคาร, กันยายน 17, 2024
Home > Cover Story > หนองน้ำ ดอกจอก ชุมชนมุสลิมนับร้อยปี

หนองน้ำ ดอกจอก ชุมชนมุสลิมนับร้อยปี

ย่านเก่าแก่ดั้งเดิม “หนองจอก” คาดว่ามาจากหนองน้ำและดอกจอกอยู่มาก

เล่ากันว่า ชาวมุสลิมเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน อพยพมาจากภาคใต้ อาชีพส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร ซึ่งในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ยังยึดหลักทำเกษตรกรรมตามบรรพบุรุษ

จากรายงานเรื่อง “การอพยพของมุสลิมไทย ช่วงทศวรรษ 2550 กรณีศึกษาพื้นที่เขตหนองจอก” โดยพรพรรณ โปร่งจิตร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ค้นพบว่า มุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายูอยู่ทางภาคใต้ ต่อมามีการอพยพครั้งสำคัญในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และถือเป็นมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุด นอกจากนั้น เป็นมุสลิมไทยเชื้อสายจีน เชื้อสายเขมร เชื้อสายปาทาน เชื้อสายอาหรับและเชื้อสายอิหร่าน

สำหรับกรุงเทพฯ มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสี่แยกบ้านแขก ทุ่งครุ พระประแดง บางคอแหลม มหานาค พระโขนง คลองตัน หนองจอก และมีนบุรี

ตามประวัติความเป็นมา เดิมเขตหนองจอกมีฐานะเป็นอำเภอหนองจอก ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากป่ารกร้างว่างเปล่า มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยมาก ผู้ที่มาตั้งถิ่นฐานพวกแรก ๆ เป็นมุสลิมไทยที่อพยพมาจากหัวเมืองภาคใต้ โดยตั้งชุมชนตามแนวคลองแสนแสบ ซึ่งขุดลอกขยายคลองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปี 2445 มีการตั้งหัวเมืองใหม่ชื่อ “เมืองมีนบุรี” ในมณฑลกรุงเทพ มีอำเภอคลองสามวา แสนแสบ เจียรดับ และหนองจอก โดยชื่อ “เมืองมีนบุรี” หมายถึงเมืองปลา ให้คู่กับ “เมืองธัญญบุรี” แปลว่า เมืองข้าว

ปี 2474 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จังหวัดมีนบุรีถูกยุบรวมกับจังหวัดพระนคร เพื่อประหยัดงบราชการ โดยโอนอำเภอหนองจอกไปขึ้นกับจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ความไม่สะดวกในการเดินทางและติดต่อระหว่างกัน ปีถัดมา ทางราชการจึงย้าย อ.หนองจอก มาอยู่ในจังหวัดพระนคร

กระทั่งปี 2514 มีประกาศคณะปฏิวัติให้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี

ปี 2515 มีประกาศคณะปฏิวัติเปลี่ยนรูปแบบการบริหารเมืองหลวงใหม่อีกครั้ง จากนครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็นกรุงเทพมหานคร แบ่งพื้นที่เป็นเขตและแขวงแทนอำเภอและตำบล อ.หนองจอกจึงเปลี่ยนฐานะเป็นเขตหนองจอก

อย่างที่ว่าไว้ ชุมชนมุสลิมเขตหนองจอกมาจากการอพยพตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งใหม่ที่กรุงเทพมหานคร ในหน่วยงานราชการมีมุสลิมกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทหลายด้าน โดยมุสลิมพวกเก่าแก่ที่สุดสืบเชื้อสายมาจากสมัยอยุธยาและธนบุรี ซึ่งอพยพหลบภัยมาตามลำน้ำหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า และมาตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายอยู่ตามฝั่งคลอง ชานเมืองหลวง

ขณะเดียวกัน มีมุสลิมกลุ่มที่ 2 อพยพมาจากหัวเมืองประเทศราชทางภาคใต้ หรือมุสลิมมลายู เนื่องจากเมื่อปี 2328 พม่ายกทัพเข้ามาตีไทยหลายทาง แต่ไทยยังช่วงชิงยึดหัวเมืองมลายูเป็นเมืองขึ้น มีการนำเชลยมุสลิมมลายูจำนวนมากเข้ามา และแยกอาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เช่น สี่แยกบ้านแขกฝั่งธนบุรี ทุ่งครุ ในอำเภอพระประแดง บางคอแหลม มหานาค พระโขนง คลองตัน มีนบุรี หนองจอก

ในภาคกลางที่จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี อยุธยา นนทบุรี และภาคใต้ที่สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

รวมถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ให้เลิกการปกครองแบบเก่าที่ให้เจ้าเมืองมีอำนาจเด็ดขาดมาเป็นการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล แต่ยังทรงแต่งตั้งรายาหรือสุลต่านที่เคยมีอำนาจปกครองเมืองต่างๆ ทางหัวเมืองมลายู และทรงแบ่งหัวเมือง 7 หัวเมืองเดิมของปัตตานี เหลือ 4 หัวเมือง ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สายบุรี และระแงะ กระทั่งปี 2476 มณฑลปัตตานีถูกแบ่งเป็นจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสจนถึงทุกวันนี้

เล่ากันว่า ทางการไทยมีนโยบายให้ชาวมุสลิมไปอาศัยอยู่ตามริมลำคลองไร่นา เพราะชาวปัตตานีส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ปลูกข้าว ซึ่งหนองจอกเดิมเป็นเพียงทุ่งราบ ไม่มีคลองตัดผ่าน ต่อมามีการขุดคลองแสนแสบ เพื่อขนเสบียงและอาวุธไปทำศึกกับเขมรและญวน รวมทั้งใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มอพยพจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัจจัยด้านเชื้อชาติ ศาสนา และความเป็นมาของบรรพบุรุษในชุมชนมีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติเกือบทุกครอบครัว ประกอบกับคนในชุมชนไม่นิยมแต่งงานกับคนนอกศาสนา ทำให้มีพลังของความเป็นอิสลามอย่างเหนียวแน่น มีความเป็นวัฒนธรรมมุสลิมแบบดั้งเดิม เช่น การประกอบอาชีพ อาหาร การแต่งกาย ภาษาพูด

กล่าวได้ว่า หนองจอกเป็นชุมชนที่มุสลิมไทยเชื้อสายมลายูเข้ามาตั้งถิ่นฐานนานกว่า 200 ปี หลายคนยังทำนาเป็นอาชีพหลัก หลายคนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ๆ มีฐานะดีมาก ปลูกบ้านหลังใหญ่และจัดการแต่งงานใหญ่โตให้ลูกหลาน

แม้สภาพเศรษฐกิจจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ ที่ดินไร่นาที่คาดหวังจะขายได้กลับขายไม่ได้ มุสลิมที่มีอาชีพรับจ้างเป็นนายหน้าขายที่ดินตกงาน เศรษฐีที่ดินหลายคนเงินทุนร่อยหรอ แต่ชุมชนหนองจอกมีระบบการปกครองในชุมชนที่มีผู้นำทางศาสนาหรือ “อิหม่าม” เป็นผู้นำชุมชน เมื่อต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำ ชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับอิหม่ามมากกว่าผู้นำจากทางราชการ ซึ่งรูปแบบความช่วยเหลือกันทำให้ผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้.