วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > พม่าย้อนรอยไทย เปิดมหากาพย์เพย์ทีวี

พม่าย้อนรอยไทย เปิดมหากาพย์เพย์ทีวี

 
การเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรระหว่างบริษัท ชเวตันลวิน มีเดีย จำกัด (Shwe Than Lwin Media) ผู้บริหารธุรกิจสื่อโทรทัศน์รายใหญ่ในพม่ากับบริษัท ตี๋ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด มุมหนึ่งเป็นการช่วงชิงโอกาสรุกตลาดของนักธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมสื่อพม่าที่กำลังก้าวผ่านจากยุคปิดกั้นข่าวสาร แต่อีกมุมหนึ่งสะท้อนภาพการแข่งขันอย่างดุเดือดในสมรภูมิธุรกิจในพม่า ทั้งทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม ทั้งระบบฟรีทูแอร์ (Free-to-Air) และเพย์ทีวี (Pay TV)
 
ผู้สันทัดกรณีที่เข้ามาฝังรากในตลาดทีวีของประเทศพม่าสะท้อนสถานการณ์การแข่งขันไม่ต่างอะไรกับตลาดเพย์ทีวีของไทยเมื่อ 20 ปีก่อนและมีคู่แข่งรายใหญ่ห้ำหั่นกันเพียง 2 ค่าย โดยมีประชากร 50 กว่าล้านคน เป็นกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคข่าวสารอย่างหิวกระหาย หลังจากทางการควบคุมข่าวสารมานานหลายสิบปี 
 
ปัจจุบัน ช่องโทรทัศน์ในพม่ามี 4 สถานีหลัก เป็นของทางการ 2 ค่ายและเอกชน 2 ค่าย โดยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางโทรทัศน์เริ่มครั้งแรกเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน 
 
ช่องแรกเป็นช่องของรัฐบาลพม่า “MRTV” ออกอากาศครั้งแรกในเดือนเมษายน 2523 เน้นข่าวสารของรัฐบาล ทั้งภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของพม่า ก่อนที่จะย้ายสถานีหลักไปยังกรุงเนปิดอว์ในปี 2550 ส่วนสถานีในกรุงย่างกุ้งถูกใช้เป็นที่รับสัญญาณถ่ายทอดรายการจากกรุงเนปิดอว์อีกทอดหนึ่ง โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์กลางแห่งชาติจีน หรือ CCTV สถานีโทรทัศน์ CNN และบรรษัทกระจายเสียงแห่งญี่ปุ่น หรือ NHK ถ่ายทอดรายการข่าวผ่านดาวเทียมกับ MRTV ด้วย
 
ช่องต่อมา “MWD” หรือ Myawaddy TV” เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทหารพม่า หรือ “สลอร์ก (State Law and Order Restoration Council)” ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 2 ของประเทศ ดำเนินการโดยกองทัพทหารพม่า เริ่มออกอากาศเดือน มี.ค. 2538 ในช่วงเช้าและเย็น 
 
ส่วนอีก 2 สถานีเป็นของเอกชน 2 ค่าย คือ ฟอร์เอฟเวอร์กรุ๊ป (Forever Group) และ ชเวตันลวิน มีเดีย กรุ๊ป (Shwe Than Lwin Media) ซึ่งถือเป็น 2 ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสื่อของพม่า ทั้งสองกลุ่มมีหน่วยงานรัฐบาลสนับสนุนและประกอบธุรกิจมากมายในประเทศพม่า เรียกว่าเงินทุนอยู่ในมือจำนวนมหาศาล 
 
ฟอร์เอฟเวอร์กรุ๊ปเปิดตัวครั้งแรกในปี 2538 เริ่มจากธุรกิจ Graphic training center มีงานร่วมกับกระทรวงข่าวสารของพม่าอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2547 ร่วมทุนกันเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ MRTV4 ฟรีทีวีช่องแรกในพม่าที่ออกอากาศ 24 ชั่วโมง 
 
ปี 2548 เปิดตัวธุรกิจเพย์ทีวีเจ้าแรกในพม่า จำนวน 3 ช่อง คือ 5MOVIES, 5SERIES และ 5CARTOON 
 
ปี 2553 ฟอร์เอฟเวอร์กรุ๊ปพัฒนาระบบการออกอากาศเป็นระบบดิจิตอล ภายใต้ชื่อช่อง “4DIGITAL TV” และพัฒนาเทคโนโลยีสัญญาณภาพระบบ HD (High-definition) ภายใต้ชื่อช่อง “4HD” 
 
สงครามการแข่งขันเริ่มรุนแรงมากขึ้น เมื่อฟอร์เอฟเวอร์กรุ๊ปจับมือร่วมทุนกับบริษัท บีอีซี-เทโร จำกัด ตั้งบริษัทร่วมทุน “ฟอร์เอฟเวอร์ บีอีซี -เทโร” เพื่อผลิตคอนเทนต์รายการประเภท มอร์นิ่งทอล์คและละครพม่า ป้อนช่องฟรีทีวีใหม่ของฟอร์เอฟเวอร์ คือ Channel 7 เนื่องจากต้องการสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ จากประเทศที่มีวัฒนธรรมการสื่อสารคล้ายคลึงกันและเนื้อหาเทรนด์ใหม่ เจาะตลาดคนพม่าที่กำลังเปิดรับกระแสวัฒนธรรมใหม่จากประเทศต่างๆ 
 
ทั้งนี้ รายการยอดนิยมในพม่าไม่ได้แตกต่างจากไทย ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ต่างประเทศจากเกาหลี เกมโชว์แบบเรียลลิตี้ รายการประเภทวาไรตี้จากต่างประเทศ เช่น Ain Mat Soneyar หรือ Where dream meet รายการลักษณะเดียวกับ The voice และละครต่างๆ โดยช่วงเวลาไพร์มไทม์ (Prime time) การดูทีวีในพม่า จะอยู่ที่ 19.00-22.00 น. 
 
รูปแบบรายการที่บีอีซี-เทโรร่วมผลิตป้อนออกอากาศ Channel 7 ส่วนใหญ่จึงเน้นรายการประเภทละคร รายการเล่าข่าว และเกมโชว์ เช่น รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง รายการข่าวเช้า รวมถึงเกมโชว์ เช่น “ถ้าคุณแน่อย่าแพ้ ป.4” เวอร์ชั่นพม่า โดยเน้นเจาะฐานผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว
 
ต้องถือว่าการแข่งขันในธุรกิจทีวีของพม่าเน้นจุดขายเรื่องเนื้อหา หรือคอนเทนต์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะความพยายามสร้างจุดแข็งขยายแนวรบสู่ธุรกิจเพย์ทีวี ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถหารายได้มากกว่าระบบฟรีทีวี 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ฟอร์เอฟเวอร์กรุ๊ปมีช่องโทรทัศน์ระบบเคเบิลทีวีเกือบ 100 ช่อง แต่การออกอากาศครอบคลุมพื้นที่เฉพาะ 10 เมืองใหญ่ของประเทศพม่า ขณะที่ค่ายมาแรงอย่าง “ชเวตันลวิน มีเดีย” ออกอากาศผ่านระบบดาวเทียม สามารถกระจายสัญญาณทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
 
บริษัท ชเวตันลวิน มีเดีย เองก็เริ่มต้นจากฟรีทีวี ช่อง MNTV (Myanmar National), ช่อง MITV (Myanmar Internation) ซึ่งถือเป็นช่องทีวีอินเตอร์เนชั่นแนล ภาคภาษาอังกฤษ ที่เชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก มากกว่า 200 ประเทศ และขยายแนวรบสู่สงครามเพย์ทีวีภายใต้ชื่อ “สกายเน็ต (SKY NET)” เมื่อปี 2553 
 
ทั้งนี้ ความได้เปรียบในแง่การส่งสัญญาณผ่านระบบดาวเทียมที่ครอบคลุมมากกว่าระบบเคเบิลทีวีกลายเป็นจุดแข็งของชเวตันลวิน มีเดีย เพราะสามารถเจาะและขยายฐานผู้ชมในทุกพื้นที่ ทุกชุมชน ทั่วประเทศได้ ซึ่งล่าสุด สกายเน็ตมียอดผู้ดูมากกว่า 1 ล้านคนและยอดสมาชิกมากกว่า 4 แสนราย โดยยอดสมาชิก 1 ราย อาจหมายถึงผู้ดูต่อ 1 จุด อีก 10 หรือ100 คน เพราะคนพม่า โดยเฉพาะรากหญ้ายังไม่มีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง เนื่องจากกำลังซื้อยังไม่สูงมากและระบบไฟฟ้าที่ไปไม่ถึงทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่จึงอาศัยการดูในร้านชา ร้านอาหาร หรือบ้านที่มีโทรทัศน์และบอกรับสมาชิก
 
สกายเน็ตยังถือเป็นเพย์ทีวีที่มีรายการลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬามากที่สุด โดยเฉพาะการคว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 3 ฤดูกาลติดต่อกัน ทำให้ยอดสมาชิกเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นจุดแข็งที่ “ฟอร์เอฟเวอร์” ต้องหาทางต่อสู้ให้ได้ 
 
มหากาพย์เพย์ทีวีพม่าระหว่าง 2 ยักษ์ ล็อกธีมของเรื่องเหมือนไทยไม่มีผิด!!
 
 
Relate Story