วันพุธ, พฤษภาคม 1, 2024
Home > Cover Story > ปมขัดแย้ง “ณุศาศิริ” ความท้าทายระลอกใหม่

ปมขัดแย้ง “ณุศาศิริ” ความท้าทายระลอกใหม่

นี่อาจเป็นการเริ่มต้นปีที่ไม่ค่อยผ่อนคลายนักสำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง “ณุศาศิริ” ที่กำลังเผชิญความท้าทายระลอกใหม่จากปมขัดแย้งของสองกลุ่มผู้บริหารที่ส่อแววมาตั้งแต่ปลายปี 2566

ข่าวคราวความขัดแย้งของสองกลุ่มผู้บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA อย่างนายวิษณุ เทพเจริญ ผู้ก่อตั้งณุศาศิริ และยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มาแต่เดิม กับ นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ผู้บริหารจากบริษัทพลังงานรายใหญ่ “วิน เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” หรือ WEH ที่เพิ่งเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของณุศาศิริเมื่อไม่นานมานี้ ส่อเค้าความขัดแย้งในการบริหารณุศาศิริจนเป็นข่าวดังบนหน้าสื่อและวงการหุ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ในประเด็นที่นายประเดช กิตติอิสรานนท์ นำทีม 6 กรรมการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) และกรรมการอีก 7 คนของบริษัทฯ ที่นำโดย “วิษณุ เทพเจริญ” ในการที่สนับสนุนให้ผู้บริหารเทขายทรัพย์สินบริษัทล็อตใหญ่ 6 รายการ มูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 70% ของทรัพย์สินทั้งหมด โดยไม่มีอำนาจและแผนรองรับที่ชัดเจน ชี้ละเมิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ พร้อมขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติขายทรัพย์สินดังกล่าว โดยล่าสุดศาลแพ่งได้กำหนดนัดพิจารณาสองสถาน เพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดีในวันที่ 4 มีนาคม 2567

ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติหลักการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท 6 รายการ ได้แก่ 1. ที่ดิน อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี 5-2-71 ไร่, 2.  ที่ดิน ต. ป่าคลอก อ. ถลาง จ. ภูเก็ต 75-2-31.8 ไร่, 3. สนามกอล์ฟ มายโอโซน ต. วังไทร อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา 362-1-62 ไร่, 4. เลเจนด์, ณุศามันนี่, ชีวานีพัทยา ต. นาจอมเทียน อ. สัตหีบ จ. ชลบุรี 273-3-77.1 ไร่, 5. หุ้น บริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) 7,748,294 หุ้น และ 6. หุ้น บมจ. เด็มโก้ (DEMCO) 170,000,000 หุ้น เพื่อนำเงินไปชำระหนี้และบริหารสภาพคล่องของบริษัท ซึ่งมีกระแสข่าวออกมาอีกว่าบริษัทฯ จะขายทรัพย์สินดังกล่าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาด

ล่าสุดปลายเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นายเสรี หัตถะรัชต์ นำผู้ถือหุ้นรายย่อยณุศาศิริ รวม 30 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบการดำเนินการที่เชื่อว่าไม่โปร่งใสของคณะกรรมการที่อนุมัติให้ผู้บริหารขายทรัพย์สินของบริษัทออกไป 6 รายการ รวมถึงกรณีการซื้อโรงแรม Panacee Grand Roemerbad ประเทศเยอรมนี ที่ยังเป็นประเด็นถกเถียง โดยเชื่อว่าเป็นการปกปิดธุรกรรมอันมีสาระสำคัญในการดำเนินงาน อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงนักลงทุน ละเมิดสิทธิผู้ถือหุ้น และยังเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อีกด้วย

โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นดังกล่าวอ้างว่า การเข้าซื้อธุรกิจโรงแรม Panacee Grand Roemerbad มีการจ่ายเงินไปแล้ว 711 ล้านบาท จากทั้งหมด 740 ล้านบาท แต่ผู้รับเงินไม่ใช่เจ้าของโรงแรม ภายหลังมาประกาศเปลี่ยนจากซื้อธุรกิจโรงแรม ไปซื้อหุ้นบริษัทที่เป็นเจ้าของโรงแรมแทน ผลลัพธ์ตอนนี้ณุศาศิริเลยได้หุ้นบริษัทเยอรมันที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 407 ล้านบาท ส่วนตัวโรงแรมที่ได้มาก็ยังเปิดบริการไม่ได้เลยไม่มีรายได้ เรื่องนี้สร้างความเสียหายแก่บริษัทและผู้ถือหุ้น จึงต้องมายื่นเรื่องกับดีเอสไอให้ตรวจสอบ

ซึ่งข่าวคราวดังกล่าวได้สร้างความปั่นป่วนและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของณุศาศิริอย่างยากที่จะปฏิเสธ ทำให้ผู้บริหารอย่าง “วิษณุ เทพเจริญ” ประธานกรรมการบริษัท และ “ศิริญา เทพเจริญ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาดของณุศาศิริ ต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงเพื่อโต้กลับในประเด็นต่างๆ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าปมขัดแย้งน่าจะมาจากการขายหุ้น บริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 รายการทรัพย์สินที่ต้องการขายออกไป

ชี้แจงเรื่องการขายทรัพย์สินในราคาต่ำ

วิษณุเปิดเผยว่า ณุศาศิริเติบโตมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มต้นจากโครงการหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม และขยายธุรกิจสู่การโรงแรม โดยมีโรงแรมในเครือเปิดให้บริการแล้ว 5 แห่ง ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ก่อนจะลงทุนในธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพเพื่อขยายฐานธุรกิจใน 10 ปีที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุดได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานด้วยการลงทุนใน DEMCO และ WEH เพราะเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และเป็น passive income ต่างจากอสังหาริมทรัพย์ที่เวลาเกิดวิกฤตมักได้รับผลกระทบหนัก

ทั้งนี้จากการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 มีมติอนุมัติหลักการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทจริง โดยเป็นการอนุมัติในหลักการเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหาสภาพคล่อง และหาเงินรองรับการชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดในปี 2567 ประมาณ 2,450 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ 450 ล้านบาท และค่าก่อสร้างโครงการเลเจนด์สยามกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องปกติของบริษัทและทั้งหมดได้ผ่านการพิจารณาจากบอร์ดบริษัทแล้ว

สำหรับประเด็นตามที่ปรากฏตามสื่อว่าบริษัทฯ จะขายทรัพย์สินในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เช่น โครงการเลเจนด์ ณุศา มันนี่ และชีวานีพัทยา ราคาประเมิน 5,105 ล้านบาท แต่ขาย 845.36 ล้านบาท บริษัทฯ ขอชี้แจงว่าข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามข่าวแต่อย่างใด โดยบริษัทฯ ได้ขอมติบอร์ดไว้ว่าทรัพย์สินที่จะนำออกขายทั้ง 6 รายการ “ให้ขายได้ไม่ต่ำกว่าราคาตลาดหรือมูลค่าทางบัญชี หรือราคาใดราคาหนึ่งที่มีมูลค่าสูงกว่า” จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำทรัพย์สินราคาสูงมาขายในราคาต่ำ

อีกทั้งการขายทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ เป็นการขออนุมัติในหลักการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในทางปฏิบัติเท่านั้น โดยเลือกทรัพย์สินที่มีภาระน้อย และเป็นการทยอยขายเพื่อให้บริษัทฯ มีเงินพอชำระหนี้ที่ครบกำหนด ไม่ได้เป็นการขายในคราวเดียว ซึ่งการขายทรัพย์สินเพียง 1-2 รายการก็น่าจะเพียงพอในการชำระหนี้และสามารถทำให้บริษัท Turnaround ได้แล้ว

“ในที่ประชุมฝั่งเขาโหวตค้านไม่ให้ขาย แต่บอร์ดส่วนใหญ่อนุมัติให้ขาย เราขอมติจากบอร์ดเป็นเรื่องปกติ เขาเองก็อยู่ในที่ประชุมรับรู้ทุกอย่าง และน่าจะกังวลเรื่องหุ้นวินด์ฯ ที่เป็นหนึ่งใน 6 รายการที่บอร์ดอนุมัติขายออกไป เราขอแจ้งให้ทราบว่ามีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะขายทรัพย์สินให้ได้ราคาที่ดีที่สุด เพื่อพลิกฟื้นบริษัทให้กลับมามีกำไร และไม่ได้มีการทุจริตใดๆ ทั้งสิ้น เราสร้างบริษัทนี้มากับมือ ไม่มีความคิดที่ไม่ดีกับบริษัทที่สร้างมาแน่นอน” วิษณุเน้นย้ำ

ประเด็นการซื้อโรงแรม Panacee Grand Roemerbad

สำหรับในประเด็นนี้ วิษณุชี้แจงว่า บริษัทฯ มีการซื้อโรงแรมดังกล่าวมาตั้งแต่ก่อนช่วงเกิดโควิด-19 หรือราวๆ ปี 2562 และซื้อก่อนการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อแลกหุ้นกับผู้ถือหุ้น WEH โดยมีการขออนุมัติบอร์ดซื้อในราคา 20 ล้านยูโร หรือ 740 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นมีการสนับสนุนราคาที่จะซื้อจากการประเมินทรัพย์สินของที่ปรึกษาการเงินอิสระ ที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ซื้อไม่ต่ำกว่า 20 ล้านยูโร บริษัทฯ จึงเข้าทำรายการผ่านหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ อีกทั้งยังได้โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของบริษัทฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีภาระหนี้สินใดๆ รอเพียงการเปิดให้บริการเท่านั้นก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้

ส่วนเหตุผลในการซื้อโรงแรมที่เยอรมนีเนื่องจากนวัตกรรมการรักษาด้วย Stem Cell ของเยอรมนีไปไกลมาก และเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจที่มีอยู่ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างโรงพยาบาลพานาซีที่อยู่ในเครือของณุศาศิริ อีกทั้งยังได้ทำสัญญากับกลุ่มการแพทย์ประเทศจีน เพื่อส่งลูกค้าไปรับการรักษาที่เยอรมนีโดยมีการทำสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเห็นว่าสมควรซื้อโรงแรมดังกล่าว

โดยวิษณุยืนยันว่าได้ทำทุกอย่างตามกระบวนการที่ถูกต้องและพร้อมชี้แจงตามความเป็นจริง และทุกการพูดคุยรวมถึงการซื้อโรงแรมที่เยอรมนีมีการบันทึกเป็นหลักฐานไว้ทั้งหมด พร้อมทิ้งท้ายว่า การออกมาพูดในครั้งนี้เพื่อปกป้องชื่อเสียงของณุศาศิริและทีมบริหาร

ปัจจุบันณุศาศิริมียอดขาดทุนสะสมประมาณ 3,400 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนสะสมจากภาระดอกเบี้ยที่ดินที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา สำหรับแผนธุรกิจของปี 2567 ณุศาศิริจะมุ่งโตในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และสุขภาพเป็นหลัก

โดยวางแผนเปิดตัวโครงการไม่น้อยกว่า 2 โครงการ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรระดับโลก มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทต่อโครงการ สำหรับโครงการแรกเป็นการพัฒนาพื้นที่ภายใน มาย โอโซน เขาใหญ่ ในรูปแบบโรงแรมและที่พักอาศัย ซึ่งจะเปิดตัวภายในไตรมาสแรกของปี 2567 ส่วนอีกหนึ่งโครงการกำลังพิจารณาพื้นที่โซนศรีราชาและพัทยา วางแผนเปิดตัวภายในไตรมาส 2-3 ตามมา.