วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > นางสาวสยาม กิมมิกงานฉลองรัฐธรรมนูญ

นางสาวสยาม กิมมิกงานฉลองรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลจัดการประกวดนางสาวไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2477 ใช้ชื่อว่า “นางสาวสยาม” ในงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ภายในพระราชอุทยานสราญรมย์ สโมสรคณะราษฎร โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมงานฉลองรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนซึ่งเดินทางมาจากทุกจังหวัด เพราะมีการคัดเลือกตัวแทนสาวงามจากทั่วประเทศ 

ปี 2482 รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ว่าด้วยนามของประเทศ เปลี่ยนเรียกชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” การประกวด “นางสาวสยาม” จึงเปลี่ยนเป็น “นางสาวไทย” พร้อมปรับใช้ชุดผ้าไหม เสื้อเปิดหลัง กางเกงกระโปรงยาวถึงเข่า และเพิ่มการสวมใส่ชุดกีฬา กางเกงขาสั้น เสื้อแขนกุดเปิดหลังในปีถัดมา

ปี 2484-2488 ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสงครามหลังกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งหลายแห่ง ต้องยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญจนสงครามสงบและใช้เวลาฟื้นฟูประเทศระยะหนึ่ง

ปี 2491 รัฐบาลฟื้นงานฉลองรัฐธรรมนูญ รวมถึงการประกวดนางสาวไทย โดยปี 2492 เพิ่มการสวมใส่ชุดว่ายน้ำ

ปี 2497 เป็นปีสุดท้ายที่รัฐบาลมีบทบาทในการจัดการประกวด เพราะงานฉลองรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกด้วยเหตุผลทางการเมืองในช่วงรอยต่อของประชาธิปไตยและเผด็จการ แต่มีการจัดประกวดระดับท้องถิ่นและในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น การประกวดเทพีลุมพินี การประกวดนางสาวไทย โทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม การประกวดนางงามตุ๊กตาทอง ในงานประกวดภาพยนตร์ตุ๊กตาทอง การประกวดสาวงาม องค์กฐินชิงถ้วยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ปี 2503 สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทดลองจัดการประกวด “นางงามวชิราวุธ” ในงานวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่งเป็นงานน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงประเทศและเข้าร่วมประกวดนางงามระดับชาติทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ปี 2507 คณะกรรมการการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์เปลี่ยนชื่อเป็นการประกวดนางสาวไทย

ปี 2516 เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองและหยุดจัดการประกวดนางสาวไทย

นางสาวไทยคนแรก เรียม เพศยนาวิน

ปี 2527 องค์การนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization) มอบสิทธิจัดหาผู้แทนประเทศไทย เพื่อเข้าประกวดนางงามจักรวาล ให้นายชาติเชื้อ กรรณสูต กรรมการผู้จัดการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และนายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิการประกวดนางสาวไทย เขาจึงนำทั้งสององค์กรมาร่วมกันจัดการประกวดนางสาวไทย เพื่อส่งผู้ชนะเลิศเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าประกวดนางงามจักรวาล มีการจัดการประกวดที่เวทีกลางแจ้ง โรงแรมแกรนด์พาเลซ พัทยา จังหวัดชลบุรี และปีถัดมาเปลี่ยนไปใช้เวทีกลางสวนน้ำสวนสยาม แต่เจอฝนตกอย่างหนัก หลังจากนั้นการประกวดจึงจัดในอาคาร

เมื่อนายชาติเชื้อเสียชีวิต องค์การนางงามจักรวาลจึงสนับสนุนให้ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ น้องสาว เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ต่อไป

ช่วงปี 2543 เกิดปัญหาสิทธิประโยชน์ในชื่อ “นางสาวไทย” ระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ กับเจ้าของสิทธิ์การจัดการประกวดคัดเลือกตัวแทนสาวไทยไปประกวดนางงามจักรวาล คือ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ในขณะนั้น

ทั้งสองฝ่ายจึงแยกกันจัด โดยสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ จัดการประกวดนางสาวไทย แต่ไม่ได้สิทธิ์ไปประกวดนางงามจักรวาล และให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นผู้ดำเนินการ ก่อนย้ายไปจัดร่วมกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ตั้งแต่ปี 2551-2558 โดยนางสาวไทยดำรงตำแหน่ง “ทูตวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว” ทำหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของไทยทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เปิดเวทีประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส เพื่อคัดเลือกตัวแทนของประเทศไทยเข้าประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe) ต่อมาองค์การมิสยูนิเวิร์สมีนโยบายให้เปลี่ยนชื่อเป็นรูปแบบเดียวกัน คือ มิสยูนิเวิร์ส ตามด้วยชื่อประเทศ จึงเป็นที่มาของ “มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์” ในปี 2555 พร้อมทั้งเปลี่ยนผู้ดำเนินการถ่ายทอดโทรทัศน์ จากช่อง 7 สี เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เนื่องจากบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุมีคำสั่งให้สุรางค์พ้นจากทุกตำแหน่ง

ปี 2562 เกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อบริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด ของสมชาย ชีวสุทธานนท์ ปิยาภรณ์ แสนโกศิก และณรงค์ เลิศกิตศิริ คว้าลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์แทนสุรางค์ ระยะเวลา 5 ปี (ปี 2562-2566) ซึ่งปี 2563 ทีพีเอ็น 2018 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทีพีเอ็น โกลบอล จำกัด และเปลี่ยนผู้ถ่ายทอดเป็น พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36

ด้านลิขสิทธิ์การจัดประกวดนางสาวไทย มีบริษัท ทีดับเบิลยู เพเจ้นส์ จำกัด  ได้รับลิขสิทธิ์ระหว่างปี 2558-2562 และเปลี่ยนมาอยู่ในมือ ทีพีเอ็น โกลบอล เช่นเดียวกัน ซึ่งนางสาวไทยจะเป็นตัวแทนประเทศไทยในการประกวดนางงามนานาชาติ โดยปี 2565 ใช้ชื่อธีมว่า “Revival of the Original” กำเนิดใหม่ไปด้วยกัน

26 ตุลาคม 2565 บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเข้าซื้อกิจการทั้งหมดขององค์กรนางงามจักรวาล รวมถึงลิขสิทธิ์ จาก IMG Worldwide, LLC ซึ่งถือหุ้น 100% โดย Endeavor Group Holdings, Inc. มูลค่ารวม 20 ล้านดอลลาร์ หรือราว 800 ล้านบาท แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงสมาชิกผู้ถือลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์.