วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > ก้าวสำคัญของ ฐิติวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ สู่สะพานเชื่อมการลงทุนในนาม บริดจ์ แคปปิตอล

ก้าวสำคัญของ ฐิติวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ สู่สะพานเชื่อมการลงทุนในนาม บริดจ์ แคปปิตอล

ปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงตามสภาพความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ ในแง่มุมหนึ่งหากเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวสูง แต่ภาคครัวเรือนขาดสภาพคล่องส่งผลให้มีความต้องการธุรกิจสินเชื่อมากขึ้น

แต่ บริดจ์ แคปปิตอล ภายใต้การนำของ ฐิติวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ เป็นการปล่อยสินเชื่อระยะสั้นและผลิตภัณฑ์ร่วมลงทุนในหนี้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Private Credit Business and Real-Estate Investment Participation Product) แห่งแรกในประเทศไทย

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม และในแง่ของนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่มีเงินเย็น เงินเก็บ แต่ไม่รู้ว่าจะลงทุนที่ไหน คือจุดเริ่มต้นของ บริดจ์ แคปปิตอล

ฐิติวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริดจ์ แคปปิตอล แมเนจเม้นท์ จำกัด “เราเล็งเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย ในขณะที่ธุรกิจกำลังเติบโต การขาดเงินทุนส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันทางธุรกิจ และอีกด้านคือ นักลงทุนคนไทยมีเงินเก็บเยอะ แต่ไม่รู้ว่าจะลงทุนในด้านไหน เราจึงเป็นทางเลือกให้นักลงทุน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนน่าจูงใจ”

ฐิติวัฒน์นำประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจการเงินที่มีหลายสิบปี และการมองเห็นโอกาสที่จะสร้างธุรกิจนี้ เพื่อให้บริการปล่อยสินเชื่อภาคเอกชนแก่ผู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพในประเทศไทยเป็นหลักประกัน

หลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาในการขอเงินกู้จากแหล่งสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม แม้ว่าจะมีอสังหาริมทรัพย์มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และหลายครั้งผู้ประกอบการหันไปพึ่งพาการกู้เงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่อง

“ด้วยเหตุผลที่ว่ามา เราจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนที่ดี โดยบริดจ์ แคปปิตอล จะเป็นผู้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อระยะสั้นที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในวงเงินสินเชื่อจำนวน 10-50 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด และมีระยะเวลาชำระคืนภายใน 1-2 ปี โดยหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันต้องมีคุณภาพดี อยู่ในทำเลที่ดี เช่น ที่ดินเปล่า อาคารพาณิชย์ ทาวน์โฮม อาคารและห้องชุดอยู่อาศัย ซึ่งเราจะให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน”

ฐิติวัฒน์ขยายความถึงเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ โดยจะพิจารณาจาก เครดิตของผู้กู้ ธุรกิจของผู้กู้จะต้องไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย  และหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันว่าจะยังคงมูลค่าตลอดอายุสัญญาการกู้ของผู้ประกอบการหรือไม่ ผู้กู้จะต้องไม่ติด Black Credit

สำหรับแหล่งเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติให้กับผู้ขอกู้ที่ผ่านเกณฑ์ส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนจดทะเบียนของบริดจ์ แคปปิตอล และอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินร่วมลงทุนผ่านการออกสัญญาสิทธิในการลงทุนให้แก่นักลงทุนที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งบริษัทคาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับอัตราผลตอบแทนแบบคงที่ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5-8 ต่อปี และมีระยะเวลาการลงทุน 1-5 ปี โดยบริษัทมีเป้าหมายเจาะกลุ่มนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่มีเงินลงทุนตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ในสัดส่วนร้อยละ 70 และประเภทลูกค้ามั่งคั่งผ่านสถาบันการเงินในสัดส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30

บริดจ์ แคปปิตอล คือตัวกลาง คือสะพานเชื่อมโยงนักลงทุนที่มองหาผลตอบแทน และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการเงินกู้

“ที่มาของชื่อบริดจ์ แคปปิตอล มาจากการที่เราเป็นตัวกลางเสมือนสะพานเชื่อมโยงนักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนที่สูงกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการเงินกู้ให้มาเจอกัน เรามีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไทย บริดจ์ แคปปิตอล มีจุดแข็งเหนือคู่แข่งขันด้วยประสบการณ์ในการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกันและการปล่อยสินเชื่อ ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่แข็งแกร่งและมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลทางธุรกิจที่เข้มงวด

“นอกจากนี้ การร่วมมือกับบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำในด้านธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดหาและวางโครงสร้างดีล จะช่วยให้เราสามารถขยายช่องทางการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้มากยิ่งขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างเที่ยงธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ เรามีผู้เชี่ยวชาญจากสำนักกฎหมายที่ได้รับการรับรองในการดำเนินการด้านเอกสารสัญญาที่สำคัญ

“ในอนาคต เรามีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงแผนในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพื่อสร้างความปลอดภัยและความโปร่งใสในการจัดการธุรกรรมสัญญาของบริษัท และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยเราตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของตลาดหนี้สินภาคเอกชนในสัดส่วนร้อยละ 3-5 คิดเป็นมูลค่ากว่า 9-15 พันล้านบาท” ฐิติวัฒน์ขยายความ

บริดจ์ แคปปิตอล เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน บริดจ์ แคปปิตอล ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 40 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นเงินลงทุนจากบริษัทเพียงผู้เดียว และคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 จะสามารถมีมูลค่าพอร์ตสินเชื่อ 250 ล้านบาท

แม้มูลค่าพอร์ตที่คาดการณ์ไว้จะไม่สูงมาก แต่คำถามคือ เหตุใดจึงมั่นใจว่า จะมีผู้กู้ได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อสถาบันการเงินในไทยมีนโยบายให้สินเชื่อแก่กลุ่มผู้ประกอบการ SME

ฐิติวัฒน์อธิบายความแตกต่างระหว่างสถาบันการเงินและบริดจ์ แคปปิตอล ว่า ความเร็วในการอนุมัติเงินกู้ที่แตกต่างกันจะสามารถทำให้บริดจ์ แคปปิตอล เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้กู้ เพราะสถาบันการเงินอาจใช้เวลาในการอนุมัติประมาณ 30 วัน แต่บริดจ์ แคปปิตอล ตรวจสอบข้อมูลและอนุมัติได้ภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ ซึ่งอาจตอบโจทย์ความต้องการของผู้กู้ได้ง่ายกว่า ในกรณีที่ผู้กู้ต้องการใช้เงินในเวลาอันรวดเร็ว และหากผู้กู้ยังไม่มีข้อมูลหรือประวัติการกู้อาจทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถอนุมัติได้ง่าย

ปัจจุบันธุรกิจสินเชื่อเช่นเดียวกับที่บริดจ์ แคปปิตอลกำลังดำเนินการนี้ ยังไม่มีคู่แข่ง เพราะผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่อย่างสถาบันการเงินยังไม่ได้หยิบโมเดลนี้มาสร้างธุรกิจ

นอกจากนี้ หากเกิดกรณีผู้กู้ผิดนัดชำระในเวลา 2 ปี และนักลงทุนที่นำเงินเข้ามาร่วมปล่อยสินเชื่อกับบริดจ์ แคปปิตอลในอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันนั้น บริดจ์ แคปปิตอล จะรับภาระดอกเบี้ยที่นักลงทุนควรจะได้รับตลอดระยะเวลา 3 ปี ตามกรอบระยะเวลาการลงทุน 5 ปี และจะได้รับเงินต้นคืนภายในเวลา 3 ปี

“หากมีผู้กู้ผิดนัดชำระ หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ภายในเวลา 2 ปีแรก ตามกำหนดระยะเวลากู้ เราจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยแทนในส่วนที่นักลงทุนจะต้องได้รับ เราจึงกำหนดกรอบเวลาการลงทุนของนักลงทุนไว้ที่ 5 ปี เพื่อที่ 3 ปีหลังเราจะดำเนินการนำทรัพย์ที่เป็นหลักค้ำประกันนำมาขายทอดตลาด และนำเงินมาคืนให้แก่นักลงทุน แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่า ผู้กู้เองคงไม่ปล่อยให้เกิดการยึดทรัพย์ ด้วยมูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้นมีมูลค่ามากกว่าจำนวนเงินที่อนุมัติ” ฐิติวัฒน์อธิบายเพิ่มเติม

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า ฐิติวัฒน์ต้องการนำบริดจ์ แคปปิตอล เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยมีตลาด SET เป็นจุดหมายสำคัญ

คงต้องรอดูกันว่า ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากธุรกิจการเงินและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กว่า 20 ปี จะพาบริดจ์ แคปปิตอล ไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ แม้จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องการไร้คู่แข่ง และความง่ายในการเข้าถึงสินเชื่อที่เป็นจุดเด่นที่เชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้ามาขออนุมัติ นักลงทุนจะเข้ามาร่วมปล่อยสินเชื่อตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องของอนาคต.