วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > จับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า เคลื่อนไหวคึกคักตลอดครึ่งปีแรก

จับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า เคลื่อนไหวคึกคักตลอดครึ่งปีแรก

เรียกได้ว่าเป็นครึ่งแรกของปีที่มีความเคลื่อนไหวออกมาอย่างสม่ำเสมอเลยทีเดียวสำหรับแวดวงยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ในประเทศไทย ทั้งข่าวการเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ จากบรรดาค่ายรถที่ออกสู่ตลาดกันอย่างต่อเนื่อง ยอดจดทะเบียนรถ EV ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด หรือความเคลื่อนไหวทางฝั่งผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในไทย รวมไปถึงผู้ประกอบการไทยเองที่ออกมาบุกตลาดด้วยเช่นกัน

นับตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ออกแนวทางในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 ด้วยการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero

รวมถึงยังมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนทางภาษีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Tax Incentive Package) ไปเมื่อปี 2565 ที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องออกมาตรการส่งเสริมการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุน มาตรการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า ลดหย่อนภาษีสรรพสามิต ทำให้แวดวงยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมีการขยับตัวมาอย่างต่อเนื่อง

ถ้าจำได้ในปี 2565 รถ EV พาเหรดเปิดตัวกันตลอดปี ทั้ง VOLT City EV 2022 รถยนต์ไฟฟ้าขนาดซูเปอร์มินิ, Pocco, Wuling Hongguang MINI EV, Takano TTE 500,  NETA V 2022, ORA Good Cat, MG EP 2022 และ BYD รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนที่เข้ามาสร้างสีสันในตลาดเมืองไทยด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นยอดนิยมอย่าง BYD ATTO 3 ที่สามารถทำยอดขายทะลุ 10,000 คัน ในเวลาเพียง 42 วัน

ไม่เพียงเท่านั้นค่ายรถหรูเองก็กระโดดชิงส่วนแบ่งการตลาดรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น MINI Cooper SE, Volvo XC40 Recharge Pure Electric, Lexus UX 300E 2022, BMW iX3 2022, Audi e-tron 2022 รวมถึงเมอร์เซเดส-เบนซ์ กับรุ่น “EQS” ที่ล้วนแต่สร้างสีสันและเรียกความสนใจจากตลาดไม่น้อย

กระทั่งปี 2566 สัญญาณตอบรับของผู้บริโภคชาวไทยต่อยานยนต์ไฟฟ้ายังมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากสถิติการจดทะเบียนรถใหม่ประเภทรถ EV จากกรมการขนส่งทางบก ในระยะเวลาแค่ 5 เดือนแรกของปี มีจำนวนพุ่งสูงถึง 32,450 คัน เพิ่มขึ้น 474.43% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า 100% อยู่ที่ 24,106 คัน โดย 4 ใน 5 อันดับแรกเป็นรถไฟฟ้าสัญชาติจีนอย่าง BYD, NETA, MG, และ Great Wall Motor

นอกจากยอดจดทะเบียนรถ EV ที่พุ่งสูงแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอื่นๆ ตามมาอีกเป็นระลอก โดยรายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า ปัจจุบันผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนกำลังหลั่งไหลมาลงทุนในประเทศไทยกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยเงินลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ หรือ 5.03 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตปี 2567 อันเป็นผลมาจากมาตรการจูงใจและสนับสนุนจากรัฐบาลไทย

เริ่มที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor : GWM) ที่เคยสร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการยานยนต์เมื่อประกาศซื้อโรงงานของ General Motors (GM) ที่จังหวัดระยอง ไปก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อปี 2563 ด้วยเงินลงทุนถึง 22,600 ล้านบาท

ซึ่งเกรท วอลล์ มอเตอร์ ตั้งเป้าให้โรงงานแห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดในภูมิภาค โดยคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Ora Good Cat EV ได้ในปี 2567 นอกจาก Ora แล้ว ยังมีแบรนด์ย่อยที่อยู่ในค่าย GWM ประกอบด้วย HAVAL, WEY, และ GWM POER

ในขณะที่บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่าง เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เพื่อผลิตและจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ เอ็มจี (MG) นั้น ก็ออกมาประกาศความคืบหน้าในการดำเนินงานไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยการทุ่มงบลงทุนเฟสแรกด้วยเงิน 500 ล้านบาท ในการพัฒนาพื้นที่ New Energy Industrial Park สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าพร้อมใช้งานในเดือนตุลาคม 2566

สำหรับโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของเอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี นั้น มีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 100,000 คันต่อปี ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังอาเซียน

ด้าน BYD ยักษ์ใหญ่จากจีนที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้านั้น ก็ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีมูลค่ารวมกันกว่า 2 หมื่นล้านบาท โครงการแรกเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท และอีกหนึ่งโครงการเป็นการลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่าการลงทุน 3,893 ล้านบาท ทั้งนี้ได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไปเรียบร้อยแล้ว คาดจะเริ่มผลิตในปี 2567 กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก BOI ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ได้รับการส่งเสริมแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 33,970 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 276,640 คันต่อปี ประกอบด้วย เช่น BYD, Great Wall Motor, SAIC (MG), Mercedes Benz และ Horizon Plus อีกทั้งยังมีผู้ผลิตรายใหญ่ที่ได้ประกาศแผนการลงทุนในไทยแล้ว เช่น Changan Automobile และ GAC AION ซึ่งคาดว่าจะทยอยยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของปี 2023

ไม่เพียงค่ายผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่หันหัวเรือมาลงทุนในไทยเท่านั้น แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเช่นกัน ทั้งการแสดงเพื่อนำเสนอนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในงาน “Fast Auto Show Thailand and EV Expo 2023” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 ก.ค. ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น EVme แพลตฟอร์มบริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน, On-ion สาธิตการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า พร้อมบริการจำหน่ายและติดตั้ง EV Charger ในที่พักอาศัย, Nuovo+ ระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ EV Value Chain และ Swap & Go บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ

ล่าสุด ปตท. ยังออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการผลิตรถ EV ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างอรุณพลัส (Arun Plus) ในเครือ ปตท. กับ Foxconn ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 3.6 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงงาน คาดว่าจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 เบื้องต้นจะผลิต 5 หมื่นคันต่อปี และภายในปี 2569-2570 จะขยายกำลังการผลิตเป็น 1.5 แสนคันต่อปี ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็เริ่มเจรจากับค่ายรถยนต์ทั้งจีน, ญี่ปุ่น และยุโรป เพื่อรับจ้างผลิตรถ EV แล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ ทางอรุณพลัสเองยังจับมือกับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่เพื่อผลิตระบบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบโมดูลแบตเตอรี่ และระบบ Cell-To-Pack (CTP) เพื่อรองรับรถ EV ทุกประเภท โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบและจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนคุณภาพสูง คาดว่าโรงงานจะสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และขยายกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ภายในปี 2568

ขณะเดียวกันบริษัทแบตเตอรี่จากจีนอย่างบริษัท เอสวีโอแอลที (SVOLT) ก็เพิ่งวางศิลาฤกษ์สร้างโรงงานแบตเตอรี่โมดูลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ จ.ชลบุรี ไปเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองกับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งการเข้ามาของเอสวีโอแอลทีที่ล้อไปกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนหลายค่ายที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทยก่อนหน้านั้น รวมถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง ปตท. ที่พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา และเมื่อประกอบกับนโยบายจากภาครัฐในการส่งเสริมการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และแรงผลักดันจากราคาน้ำมันด้วยแล้ว น่าจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคงต้องจับตามองกันในระยะยาว

ในขณะที่ “อัลเลน ทอม อับราฮัม” นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการขนส่งในเอเชียแปซิฟิกของบลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ เปิดเผยตัวเลขและแนวโน้มที่น่าสนใจว่า ปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในจีนและยุโรป ราคาแบตเตอรี่จะถูกลง และทำให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงรถยนต์สันดาป แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าจะช้ากว่า โดยไทยและสิงคโปร์จะเป็นผู้นำการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนเวียดนามและอินโดนีเซียจะเป็นผู้นำการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยผู้ผลิตจากจีนเป็นผู้ครองตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าในปี 2569 จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนแบ่งตลาดถึง 30% โดยยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านคันของยอดขายยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งบลูมเบิร์กมองว่าปัจจัยที่จะทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตอย่างรวดเร็วคือ มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และตัวเลือกของสินค้าที่หลากหลายในราคาที่เอื้อมถึง.