วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ฟื้นเศรษฐกิจแบบไทยไทย? ตามรอย Discover Thainess

ฟื้นเศรษฐกิจแบบไทยไทย? ตามรอย Discover Thainess

 
 
พลันที่เสียงระเบิดดังกึกก้องไปทั่วบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ควันไฟและเศษฝุ่นปูนที่ลอยคละคลุ้งอยู่ในอากาศเพิ่งจางหายไปไม่นาน นับเป็นเหตุการณ์ระทึกขวัญที่สร้างความตระหนกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่น้อย ส่งผลให้มีการยกเลิกการจองโรงแรมสำหรับเข้าพักในบางพื้นที่ ความวิตกปรากฏอยู่เพียงไม่นานเมื่อทุกชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นทันตา
 
แน่นอนว่าหลายฝ่ายเป็นกังวลต่อเหตุดังกล่าว ว่าจะส่งผลให้สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยที่กำลังขยายตัวอยู่อย่างต่อเนื่องชะลอตัวลง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของไทยกำลังน่าเป็นห่วง ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวอาจจะช่วยพยุงและหนุนนำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้บ้าง
 
ซึ่งหากดูจากสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2558 มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30.93 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 826,867.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.95 
 
โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามียุทธศาสตร์การปฏิรูปท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2558-2560 ซึ่งมุ่งเน้นในด้านมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสุดท้าย ทั้งนี้หลังจากเปิดระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่ายจึงได้ข้อสรุป 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. ยุทธศาสตร์ปฏิรูปด้านการตลาด 2. ยุทธศาสตร์ปฏิรูปด้านการพัฒนาสินค้าและบริหารท่องเที่ยว และ 3. ยุทธศาสตร์ปฏิรูปด้านการบริหารจัดการ
 
ปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย อีกหนึ่งแคมเปญที่ภาครัฐตั้งธงขึ้นมาเพื่อหวังให้เป็นหมากสำคัญที่จะทำคะแนนได้ ซึ่งแม้จะได้ผลอยู่บ้างจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างหนักหน่วง หากแต่เกิดคำถามขึ้นในเวลาที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า การท่องเที่ยวไทยมาถูกทางหรือไม่ จะดีกว่าไหมหากจะมองข้ามความงามอันฉาบฉวย แล้วหันกลับมามองให้ลึกถึงทรัพยากรที่มีอยู่และพัฒนาเพื่อผลประโยชน์อันจีรัง
 
นอกจากยุทธศาสตร์การปฏิรูปท่องเที่ยวไทยแล้ว กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ ยังผลักดันกลยุทธ์พัฒนาเชิงพื้นที่ 5 คลัสเตอร์ รีแบรนดิ้งพลิกโฉมท่องเที่ยวไทย ยกระดับจากแหล่งท่องเที่ยวราคาถูกสู่แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ โดยมีสาระสำคัญของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 5 คลัสเตอร์ ดังนี้ 1. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา) มีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาล้านนาเชิงสร้างสรรค์เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เชื่อมโยงไทย ลาว เมียนมา และจีน 
 
2. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล) มุ่งเน้นการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก บนฐานวัฒนธรรมอันดามัน พัฒนาให้จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดกระบี่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงและกระจายนักท่องเที่ยว 
 
3. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ (นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี) มีเป้าหมายหลักคือการท่องเที่ยวแห่งวิถีชีวิตอีสานใต้ร่วมสมัย เชื่อมโยงลาว กัมพูชา และเวียดนาม 
 
4. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) เน้นการท่องเที่ยวชายทะเล สีสันตะวันออกระดับสากล ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงสู่นานาชาติ 
 
และ 5. เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง) มีเป้าหมายหลักคือการท่องเที่ยวพักผ่อนเพื่อสุขภาพชั้นนำของโลก มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเน้นกลุ่มตลาดระดับบน
 
กระนั้นการพัฒนาอันรวดเร็วจนเกินความพอดีของอสังหาริมทรัพย์บนสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง กำลังส่งผลเสียต่อระบบนิเวศที่อาจถูกมองข้าม เมื่อมีเหตุผลในด้านการสร้างรายได้ในชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง หากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กำลังดำเนินไปตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างสุดท้าย การท่องเที่ยวไทยก็ไม่อาจจะเป็นแรงหนุนนำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
 
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของไทยกำลังมีความหวังครั้งใหม่เมื่อรัฐบาลประยุทธ์ปรับ ครม. อีกครั้ง โดยแต่งตั้งรองนายกฯ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจคนใหม่นาม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้เคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในยุครัฐบาลทักษิณ 
 
เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 7 เดือน ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนกรกฎาคม 2558 หดตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้การส่งออกสินค้าเกษตรยังมีมูลค่าลดลงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกโดยหดตัวร้อยละ 7.3 
 
ดูเหมือนว่าปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญอยู่จะท้าทายความสามารถของกุนซือคนใหม่ของรัฐบาลประยุทธ์ไม่น้อย ซึ่งสมคิดยังมองเศรษฐกิจไทยว่ายังไม่วิกฤต แม้จะยอมรับว่ามีสัญญาณอ่อนแอ อีกทั้งยังวิงวอนภาคเอกชนและประชาชนไม่ให้กังวลเกินเหตุ
 
กระนั้นสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับภูมิภาค ดังนั้นกองทุนหมู่บ้านนโยบายสมัยรัฐบาลทักษิณจึงถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งเป็นแนวทางในการเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจภายใน 3 เดือน
 
ดูเหมือนทีมเศรษฐกิจใหม่จะมีบทสรุปในการแก้ปัญหาอยู่ที่การปล่อยกู้ ซึ่งนั่นอาจทำให้ชีวิตชาวบ้านรากหญ้าหรือผู้ค้ารายเล็กยังคงวนเวียนอยู่กับหนี้สินและดอกเบี้ย เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยยังอนุมัติกรอบวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย
 
มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ด้วยการให้เงินกองทุนหมู่บ้านกู้จากรัฐบาล แล้วนำไปปล่อยกู้ต่อให้ผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกร วงเงิน 60,000 ล้านบาท มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชุน วงเงิน 36,000 ล้านบาท มีกระทรวงมหาดไทย (มท.) รับผิดชอบ โดยใช้จ่ายผ่านตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท และมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบภาครัฐ โดยจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น ภายในระยะเวลา 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 ทั้งนี้ หากไปดูในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 จะมีโครงการขนาดเล็กเช่นนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมเป็นเงินกว่า 16,000 ล้านบาท และยังมีอีกกว่า 24,000 ล้านบาท ที่แต่ละกระทรวงสามารถเสนอของบเพิ่มเติมเพื่อดำเนินโครงการขนาดเล็กได้ ส่วนนี้จะทำให้การใช้จ่ายภาครัฐมีมากขึ้น
 
เมื่อผลสรุปจากภาครัฐในการฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจไทยไม่ต่างจากการคาดการณ์ของบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย มากนัก ทั้งเรื่องการปล่อยเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น การช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งดูเหมือนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกก็กำลังเจอปัญหาที่ไม่ต่างกัน
 
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่ามาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลประยุทธ์จะมีผลลัพธ์อย่างไร หรือจะต้องฝากความหวังไว้กับผลงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานภาครัฐที่เต็มไปด้วยยุทธศาสตร์และกลยุทธ์