วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
Home > New&Trend > TikTok รุกสร้างบรรทัดฐานใหม่ส่งเสริมคนไทยรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ผนึก 5 พันธมิตรเดินหน้าแคมเปญ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด

TikTok รุกสร้างบรรทัดฐานใหม่ส่งเสริมคนไทยรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ผนึก 5 พันธมิตรเดินหน้าแคมเปญ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด

ปัจจุบันคนทั่วโลกใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์เฉลี่ยกว่าวันละ 6 ชั่วโมง 40 นาที อ้างอิงจากรายงาน Digital 2023 Global Overview ทำให้อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต โดยจากรายงานสถิติการใช้สมาร์ทโฟนของ Exploding Topics ในภูมิภาคเอเชียมีอัตราการใช้เวลาบนสมาร์ทโฟนมากกว่าวันละ 5 ชั่วโมง เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พื้นที่อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย Internet Safer Day จึงถูกจัดขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดย TikTok ในฐานะแพลตฟอร์มวิดิโอสั้นที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้อินเทอร์เน็ตและพื้นที่ออนไลน์อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม

TikTok เชื่อว่าการให้องค์ความรู้ ทักษะ และความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) รวมทั้งเครื่องมือที่จำเป็นจะช่วยให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถป้องกันตนเองจากอันตรายหรือภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ และในปีนี้ TikTok จะเดินหน้าสร้างองค์ความรู้ทั้ง 4 ด้าน อันได้แก่ ความปลอดภัยของผู้เยาว์ (Minor Safety) การกลั่นแกล้งและคุกคามบนไซเบอร์ (Cyber Bullying and Harassment) การต่อต้านข้อมูลบิดเบือน (Misinformation) และการสร้างสุขภาวะที่ดีบนดิจิทัล (Digital Well-Being) เพื่อยกระดับให้พื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในชุมชน

เนื่องในวัน Thailand Safer Internet Day 2023 TikTok ในประเทศไทย ได้จับมือกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย (INET) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กเยาวชน (สสดย.) ผนึกกำลังร่วมกันจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักสาธารณะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้สามารถใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่เกิดความเสียหายหรือความสูญเสีย เพื่อร่วมสร้างสุขภาวะที่ดีแก่สังคมไทยโดยรวมและเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ดังกล่าว TikTok ได้มีการรณรงค์ผ่านแคมเปญ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด ที่รวบรวมข้อมูลสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการใช้สื่อออนไลน์ โดยให้ผู้ใช้เข้ามาร่วมแชร์ข้อมูลหรือเทคนิคที่เป็นประโยชน์ในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งมียอดเข้าชมสูงถึง 542 ล้านวิว นอกจากนี้ TikTok ยังได้สานต่อแคมเปญ SaferTogether 2.0 ต่อเนื่องจากปีที่แล้วเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ใช้ เพื่อร่วมสร้างความปลอดภัยให้ตนเองและชุมชนผ่าน 3 แนวทางดังนี้

– สร้างความเข้าใจเรื่องการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชีผู้ใช้งาน (Privacy setting): ในการรับมือกับความคิดเห็นที่หลากหลายและสร้างสุขภาวะที่ดีบนพื้นที่ออนไลน์ การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชีผู้ใช้และความเป็นส่วนตัวของวิดีโอเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีและสามารถทำได้ด้วยตนเอง เมื่อตั้งค่าบัญชีให้เป็นส่วนตัวจะมีเพียงคนที่ได้รับอนุมัติเท่านั้นที่จะสามารถติดตามผู้ใช้ กดถูกใจ หรือเข้าถึงวิดีโอ Live-streaming ประวัติของบัญชีผู้ใช้ รายชื่อที่กำลังติดตามและผู้ติดตามได้ สำหรับบัญชีผู้ใช้งานสาธารณะสามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของแต่ละวิดีโอเพื่อเลือกว่าใครสามารถรับชมแต่ละวิดีโอได้บ้าง ซึ่งการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของวิดีโอและบัญชีผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

– สร้างพื้นที่ปลอดภัยผ่านการตั้งค่าเพื่อกรองความคิดเห็นในแง่ลบ (Comment filters): ผู้ใช้สามารถตั้งค่ากรองความคิดเห็น โดยเลือกอนุญาตให้ผู้ใดสามารถแสดงความคิดเห็นได้บ้าง เช่น ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น เฉพาะเพื่อนที่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือเฉพาะผู้ติดตามที่สามารถแสดงความคิดเห็น นอกจากการกรองความคิดเห็นแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถรายงานความคิดเห็นที่มีแนวโน้มละเมิดแนวทางปฏิบัติของชุมชนได้อีกด้วย

– กำหนดเวลาหน้าจอประจำวันที่เหมาะสม (Daily screen time): สุขภาวะที่ดีสามารถเริ่มต้นจากการตั้งค่าเวลาหน้าจอประจำวัน จะมีการแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาที่ถูกตั้งค่าไว้บน TikTok การจำกัดเวลาหน้าจอนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว และสำหรับผู้ปกครองสามารถกำหนดเวลาหน้าจอประจำวันของบุตรหลานในแต่ละวันได้โดยตรง หากมีการตั้งค่าการควบคุมโดยผู้ปกครองไว้

TikTok จะยังคงเดินหน้าให้องค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) อย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นไปที่ 4 ประเด็นสำคัญ ซึ่งจากสถิติได้ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้

1. ความปลอดภัยของผู้เยาว์ จากสถิติสำนักงานตำรวจแห่งชาติแสดงให้เห็นว่ามากกว่าร้อยละ 20 ของเด็กในประเทศไทยมีความเสี่ยงถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศออนไลน์ หรือ Online Child Exploitation และมีสัดส่วนผู้กระทำผิดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับเยาวชนไทย TikTok จึงมุ่งมั่นที่จะให้องค์ความรู้กับเด็กและผู้ปกครองเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

2. การกลั่นแกล้งและคุกคามบนไซเบอร์ ตามที่มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยและศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เผยว่าเยาวชนอายุระหว่าง 9-18 ปี จำนวนถึง 31,965 คน เคยโดนกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างความเข้าใจในเรื่องการกลั่นแกล้งและคุกคามบนไซเบอร์แล้วนั้น TikTok ยังผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมอันดีในการเคารพความแตกต่าง ร่วมถึงแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์

3. การต่อต้านข้อมูลบิดเบือน อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในช่วงปีที่ผ่านมามีการรับแจ้งเบาะแสและติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม และพบว่ามีข้อความข่าวที่ต้องการการคัดกรองถึง 517,965,417 ข้อความ ซึ่งเป็นประเด็นที่ TikTok ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เรามีมาตรการในการรับมือเพื่อตรวจสอบข้อมูล พร้อมทั้งให้ความรู้ในการคัดกรองข้อมูลกับผู้ใช้ควบคู่ไปด้วย

4. การสร้างสุขภาวะที่ดีบนดิจิทัล โดยสถิติจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีคะแนนสุขภาวะดิจิทัลที่ดี (Digital Well-being) ที่ 68 คะแนน แต่มีเพียงร้อยละ 18.8 มีสุขภาวะดิจิทัลในระดับดีมาก ดังนั้นการเพิ่มองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีบนดิจิทัลของคนไทยจึงเป็นอีกสิ่งที่เราให้ความสำคัญ

ทั้งหมดนี้เพราะ TikTok เชื่อว่าเมื่อผู้ใช้งานมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานดิจทัลที่ดีแล้วนั้น จะนำมาซึ่งการยกระดับสังคมออนไลน์ในหลากหลายมิติตั้งแต่การคัดกรองข้อมูลที่บิดเบือน การหลีกเลี่ยงภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ตลอดจนการมีสุขภาพจิตที่ดีบนโลกออนไลน์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วปัญหาเหล่านี้อาจลดลงได้หากเราเข้าใจและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดเพื่อร่วมสร้างสรรค์ชุมชนของเราให้เข้มแข็ง เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ และพลังในแง่บวก เพราะอำนาจการใช้สื่อบนสังคมออนไลน์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและลงมือปฏิบัติของผู้ใช้ ดังนั้นการสร้างสุขภาวะที่ดีบนดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกคน