วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > On Globalization > ชีวิตระหว่างและหลังสงครามที่ฉนวนกาซา

ชีวิตระหว่างและหลังสงครามที่ฉนวนกาซา

 
Column: Women in wonderland
 
เป็นเวลาหนึ่งปีแล้วหลังจากเกิดความขัดแย้งขึ้นที่ฉนวนกาซา หลายคนน่าจะยังจดจำความรุนแรงในครั้งนั้นได้ เมื่ออิสราเอลและกลุ่มฮามาสได้ยิงถล่มกันอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นก็มีการเจรจาหยุดยิง และความรุนแรงในครั้งนั้นก็ยุติลง แต่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในบริเวณนั้นตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีความรุนแรงจนกระทั่งเหตุการณ์ยุติ ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร
 
ความรุนแรงที่ฉนวนกาซาในปี 2557 เริ่มต้นในเดือนมิถุนายนเมื่อมีการลักพาตัวและฆาตกรรมวัยรุ่นชาวอิสราเอล 3 คน ซึ่งรัฐบาลอิสราเอลได้ออกมากล่าวโทษกลุ่มฮามาส แต่กลุ่มฮามาสออกมาปฏิเสธว่า พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการลักพาตัวและฆาตกรรมวัยรุ่นชาวอิสราเอล 
 
ความขัดแย้งแย่ลงไปอีก เมื่อวัยรุ่นชาวปาเลสไตน์ถูกลักพาตัวและถูกเผาทั้งเป็น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากไม่พอใจ และออกมาประท้วงบนถนน เพราะพวกเขาเชื่อว่าวัยรุ่นชาวปาเลสไตน์คนนี้น่าจะถูกคนอิสราเอลฆ่าเพื่อแก้แค้นแทนวัยรุ่นชาวอิสราเอลที่ถูกฆ่าตายก่อนหน้านี้
 
วันที่ 7 กรกฎาคม 2557 กลุ่มฮามาสออกมายอมรับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยิงจรวดเข้าสู่พื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือนที่ผ่านมาที่มีการยิงจรวดระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล แล้วกลุ่มฮามาสออกมายอมรับว่าเป็นฝีมือของกลุ่มตัวเอง 
 
หลังจากกลุ่มฮามาสออกมายอมรับ วันถัดมาอิสราเอลก็ประกาศ “ปฏิบัติการปกป้องชายแดน” โดยอิสราเอลให้เหตุผลการโจมตีกลุ่มฮามาสว่า อิสราเอลมีเป้าหมายเพื่อต้องการหยุดการยิงจรวดและทำลายความสามารถของกลุ่มฮามาสไม่ให้สามารถโจมตีอิสราเอลกลับได้ ดังนั้นอิสราเอลจึงโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มฮามาสซึ่งอาศัยอยู่ในเขตกาซามากกว่าหนึ่งพันจุด และกลุ่มฮามาสเองก็มีการโจมตีกลับด้วยจรวดมากกว่าหนึ่งพันลูกเช่นกัน
 
จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ทำให้ประเทศต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งด้วยการดำเนินการทางการทูต เพื่อทำข้อตกลงหยุดยิง การเจรจาเพื่อทำการหยุดยิงระหว่างสองฝ่าย เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกลุ่มฮามาสมีความคิดว่าการหยุดยิงคือการยอมแพ้ จนในที่สุดกลุ่มฮามาสก็ยินยอมที่จะทำข้อตกลงหยุดยิงกับอิสราเอล หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
 
จากเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซา ถึงแม้บริเวณฉนวนกาซาจะมีพื้นที่ไม่ใหญ่นัก แต่ก็มีประชากรอาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก อิสราเอลให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ต้องโจมตีบริเวณนั้นเป็นเพราะสมาชิกระดับสูงของกลุ่มฮามาสอาศัยอยู่บริเวณนั้น และบ้านของสมาชิกระดับสูงบางคนถูกใช้เป็นศูนย์บัญชาการในการต่อสู้ นอกจากนี้อิสราเอลยังได้รับข้อมูลมาว่า กลุ่มฮามาสเก็บจรวดเอาไว้ภายในอาคารที่มีลักษณะเป็นบ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาล 
 
การต่อสู้ในครั้งนั้นใช้เวลาทั้งสิ้น 50 วัน ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 2,104 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวบ้านธรรมดาซึ่งโชคร้ายอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นถึง 1,462 คน (ผู้หญิง 253 คน และเด็ก 495 คน) และมีบ้านที่ถูกทำลายหรือเสียหายมากกว่าหนึ่งแสนหลัง
 
จากการสำรวจขององค์การสหประชาชาติพบว่า หลังจากที่กลุ่มฮามาสและอิสราเอลเจรจายุติการยิงได้สำเร็จจนกระทั่งถึงตอนนี้ เป็นเวลาหนึ่งปีแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ในการสร้างบ้านใหม่ ซ่อมแซมบ้าน หรือแม้กระทั่งสร้างที่อยู่แบบชั่วคราวเพื่อพักอาศัย ทำให้สหประชาชาติยังคงต้องใช้โรงเรียนหลายแห่งเป็นที่พักอาศัยแบบชั่วคราวให้กับชาวปาเลสไตน์
 
ช่วงที่เกิดความรุนแรงนั้น ชาวปาเลสไตน์ที่บ้านถูกทำลายหรือได้รับความเสียหาย จะหนีมาหลบภัยอยู่ที่ที่พักฉุกเฉินขององค์การสหประชาชาติ แต่ที่พักฉุกเฉินที่องค์การสหประชาชาติเตรียมไว้มีไม่เพียงพอ เพราะเตรียมไว้เพียงแค่ 50,000 คนเท่านั้น เนื่องจากความรุนแรงในครั้งก่อนหน้านี้ จำนวนเท่านี้เพียงพอต่อผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ แต่ครั้งนี้มีประชาชนมากกว่า 300,000 คนมาขอความช่วยเหลือ
 
ที่พักฉุกเฉินที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงตัดสินใจใช้โรงเรียนมากกว่า 92 แห่ง ในบริเวณฉนวนกาซาให้เป็นที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราว และแต่ละแห่งก็มีผู้คนเข้าไปพักอยู่มากกว่า 3,000 คน ที่แย่ไปกว่านั้น คือองค์การสหประชาชาติจะต้องดูแลผู้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษ และเด็กทารกที่เพิ่งคลอด ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ แต่หน่วยงานสามารถดูแลได้ไม่ดีนักในสถานการณ์เช่นนี้  เพียงแค่ช่วงเวลา 50 วัน ที่เกิดความรุนแรง บริเวณที่พักชั่วคราวก็ต้องดูแลเด็กแรกเกิดถึง 344 คน
 
Al-Jabda เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติที่ดูแลที่พักฉุกเฉินในช่วงเวลานั้นเล่าให้ฟังว่า มีผู้หญิงชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งที่มาขออาศัยอยู่ที่ที่พักฉุกเฉินในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เกิดความรุนแรงในพื้นที่ เธอมาถึงในตอนสายๆ และช่วยทำงานต่างๆ ตลอดทั้งวัน โดยไม่ยอมบอกสามีของเธอว่าเธอเริ่มเจ็บท้องคลอด เพราะกลัวจะถูกส่งไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล และอาจจะกลายเป็นเป้าหมายให้ทหารอิสราเอลมาทำร้ายเธอและลูก จึงอดทนจนกระทั่งเช้าวันใหม่และไปโรงพยาบาลเพื่อคลอดลูก หลังจากคลอดลูกได้เพียงแค่สองชั่วโมง เธอก็ขอออกจากโรงพยาบาลทันที และกลับมาพักที่ที่พักฉุกเฉิน
 
ที่แย่ยิ่งกว่านี้คือ โรงเรียนที่ใช้เป็นที่พักฉุกเฉินไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเด็กแรกคลอดและผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร ทำให้หญิงชาวปาเลสไตน์คนนี้ต้องนอนกับลูกของเธอบนไม้กระดาน และไม่สามารถอาบน้ำได้ เพราะที่พักไม่ได้สร้างห้องอาบน้ำสำหรับผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร ทำให้หญิงชาวปาเลสไตน์คนนี้ไม่สามารถอาบน้ำได้ และเธอได้อาบน้ำเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นในช่วงเวลามากกว่า 40 วัน ที่เธออาศัยอยู่ที่นี่ เมื่อเธอไปที่ศูนย์สุขภาพเพื่อเช็กร่างกายหลังจากคลอดบุตร
 
ตอนนี้แม้สงครามจะยุติลงได้หนึ่งปีแล้ว แต่ผู้คนชาวปาเลสไตน์ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดระหว่างที่เกิดปัญหาความรุนแรงและหลังเหตุการณ์ยุติก็คือ ผู้หญิงและเด็ก ปัญหาความรุนแรงในครั้งนี้ก็เช่นกัน องค์การสหประชาชาติพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กจากปัญหานี้คือ การแต่งงานเมื่ออายุยังน้อยและจบลงด้วยการหย่าร้างอย่างรวดเร็ว
 
การแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยถือเป็นปัญหาทางสังคมที่ต้องการแก้ไข มีเด็กผู้หญิงที่แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยประมาณ 31% และมีอัตราหย่าร้างถึง 24% หลังจากที่มีการแต่งงานได้เพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น เด็กผู้หญิงในฉนวนกาซาส่วนใหญ่จะแต่งงานตอนอายุ 13–15 ปี ซึ่งการที่ต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยนี้อาจส่งผลให้ผู้หญิงขาดความมั่นใจในตัวเองในอนาคต 
 
ผลที่ตามมาอีกอย่างก็คือ การตั้งครรภ์ในวัยที่ยังไม่พร้อมจะรับมือกับความเครียดต่างๆ รอบตัว อย่างเช่นในสถานการณ์ที่ยังไม่แน่ว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นอีกเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้น ก็จะทำให้คนเป็นแม่เกิดความเครียดและอาจจะไม่รู้ว่าจะแก้สถานการณ์ต่างๆ อย่างไร และทำให้เครียดมากขึ้นจนอาจจะทำให้แท้งได้ หรือในกรณีที่แย่ที่สุดคือ คนเป็นแม่อาจจะเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์หรือให้กำเนิดบุตร ในเขตฉนวนกาซาถือว่าเป็นบริเวณที่มีอัตราการเสียชีวิตของมารดาที่ให้กำเนิดบุตรค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณใกล้เคียงอย่างเวสต์แบงก์ ประเทศซีเรีย เลบานอน จอร์แดน โดยฉนวนกาซามีอัตราการเสียชีวิตของมารดาอยู่ที่ 26.4 คน ต่อการคลอดเด็ก 100,000 ครั้ง
 
ที่แย่ไปกว่านี้คือ มีผู้หญิงและเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากการถูกทำร้ายร่างกายจากคนใกล้ตัว มีผู้หญิงและเด็กไปแจ้งความเพราะถูกทำร้ายร่างกายมากถึง 795 คดี หลังจากที่ปัญหาความรุนแรงยุติ ซึ่งจากการเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง พบว่า มีจำนวนคดีผู้หญิงและเด็กถูกทำร้ายน้อยกว่า นี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบตัวเลขจากการที่ผู้หญิงและเด็กเข้าไปแจ้งความเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำร้ายมักจะไม่ค่อยกล้าไปแจ้งความ
 
นอกจากนี้สหประชาชาติยังพบว่า มีประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณฉนวนกาซามากกว่าหนึ่งล้านสองแสนคนจากประชากรทั้งหมดหนึ่งล้านแปดแสนคน ที่ยังคงต้องไปโรงพยาบาลหลังจากสงครามยุติลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้พวกเขาต้องเข้ารักษาตัวกับจิตแพทย์เป็นประจำ
 
ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสนั้น ชาวปาเลสไตน์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่กลับต้องได้รับผลกระทบเต็มๆ ที่สำคัญหลังจากความรุนแรงยุติ กลับไม่มีฝ่ายไหนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ทำให้ชีวิตของชาวปาเลสไตน์หลังสงครามต้องเผชิญกับปัญหาด้านจิตใจและสังคมเป็นจำนวนมาก
 
 
 
ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากต้องอาศัยอยู่ในโรงเรียนซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นที่พักฉุกเฉินชั่วคราว