วันจันทร์, กันยายน 9, 2024
Home > Cover Story > แรงกระเพื่อมว่ายข้ามโขง กระตุ้นค้าชายแดน ท่องเที่ยว นครพนม-คำม่วน

แรงกระเพื่อมว่ายข้ามโขง กระตุ้นค้าชายแดน ท่องเที่ยว นครพนม-คำม่วน

แม้ว่าภารกิจการระดมทุนจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลนครพนมและโรงพยาบาลแขวงคำม่วน จากกิจกรรม “ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” จะจบลงไปแล้ว และมียอดบริจาคล่าสุด 68,143,636 บาท (วันที่ 25 ตุลาคม 2565)

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และกระแสดราม่านับตั้งแต่เริ่มต้น กระทั่งสิ้นสุดกิจกรรม โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า กิจกรรมดังกล่าวเต็มไปด้วยความเสี่ยง สร้างภาระให้ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมากกว่าจะเป็นการทำเพื่อช่วยเหลือ ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนมองว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้น่าจะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลทั้งสองฝั่งโขง รวมไปถึงประชาชนผู้ใช้บริการในอนาคต แม้ว่าภาครัฐทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม หรือแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะยืนยันว่าโรงพยาบาลไม่ได้ขาดแคลน และไม่ได้ร้องขอให้ผู้จัดกิจกรรมช่วยเหลือเพื่อระดมทุน แต่ก็ไม่ขัดศรัทธา

หากพิจารณาจากยอดบริจาคในขณะนี้น่าจะทำให้หลายคนได้ประจักษ์แล้วว่า การกระทำของบุคคลกลุ่มหนึ่งได้สร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างมากมาย ทั้งการมองมุมต่างที่ว่า การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลในการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ไม่ใช่การแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง และไม่ใช่หน้าที่หลักของพลเมือง หากแต่ควรเป็นหน้าที่หลักของฝ่ายบริหารบ้านเมือง แน่นอนว่าประเด็นนี้คงสร้างกระแสให้เกิดการขบคิดและแก้ปัญหาในอนาคต

นอกจากนี้ แรงกระเพื่อมจากการว่ายข้ามโขงในครั้งนี้น่าจะส่งผลต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดนครพนมไม่มากก็น้อย รวมไปถึงการค้าชายแดนที่น่าจะมีความคึกคักขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สปป.ลาว และประชาชนริมสองฝั่งโขงให้แน่นแฟ้นขึ้น จากภาพการต้อนรับอย่างอบอุ่นเมื่อ โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ว่ายไปขึ้นฝั่งที่ สปป.ลาว

ในแง่ของการค้าชายแดน นครพนมถือเป็นจังหวัดที่สำคัญต่อเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพราะนครพนมเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทาง R12 ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักสำหรับการขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่เวียดนามและจีนตอนใต้ เส้นทางที่ 1 เริ่มจากด่านนครพนม-ด่านท่าแขก (สปป.ลาว)-ด่านน้ำพาว-ด่านจาลอ (เวียดนาม)-ด่านหูหงิ-ด่านโหยวอี้กว่าน (จีน) หรือเส้นทางที่ 2 จากด่านนครพนม-ด่านท่าแขก (สปป.ลาว)-ด่านน้ำพาว-ด่านจาลอ (เวียดนาม)-ด่านหม่องก๋าย-ด่านตงชิน (จีน)

เส้นทาง R12 ยังถือเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังทางหลวง AH1 ซึ่งเป็นทางหลักที่มุ่งตรงไปสู่กรุงฮานอย และเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ของเวียดนามตอนกลาง เช่น เขตเศรษฐกิจวุงอ่าง อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับ Ho Chi Ming Highway ซึ่งเป็นเส้นทางหลักมุ่งสู่ทั้งเวียดนามเหนือและใต้

นอกจาก R12 จะเป็นเสมือนเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการกระจายสินค้า ยังเป็นเส้นทางที่ช่วยเชื่อมต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดในแถบชายแดนภาคอีสานของไทย เส้นทางนี้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวจากลาว เวียดนาม สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น และถือเป็นเส้นทางเชื่อมไปยังเวียดนามที่ใกล้ที่สุด

ด้วยระยะทางที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ด่านนครพนมจะถูกใช้เป็นสำคัญขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญ ผ่านจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) โดยมูลค่าการค้ารวมปี 2564 (มกราคม-ธันวาคม) มีมากกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นอันดับสองรองจากจังหวัดมุกดาหารเท่านั้น

มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่านจุดผ่านแดนถาวรนครพนมปี 2565

เดือนมกราคม มูลค่านำเข้า 2,645.32 ล้านบาท ส่งออก 3,041.60 ล้านบาท
เดือนกุมภาพันธ์ นำเข้า 1,954.62 ล้านบาท ส่งออก 2,951.98 ล้านบาท
เดือนมีนาคม นำเข้า 1,608.19 ล้านบาท ส่งออก 2,643.12 ล้านบาท
เดือนเมษายน นำเข้า 1,007.33 ล้านบาท ส่งออก 2,159.35 ล้านบาท
เดือนพฤษภาคม นำเข้า 1,669.43 ล้านบาท ลดลง 242.39 ล้านบาท ส่งออก 4,663.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,993.85 ล้านบาท

โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้สด เครื่องดื่มบำรุงกำลัง โซลาร์เซลล์ ขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ส่วนประกอบโซลาร์เซลล์ และปูนซีเมนต์

จากข้อมูลตัวเลขการค้าชายแดนของนครพนมที่สูงนับแสนล้านบาทในแต่ละปี ภาครัฐจึงเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากรายได้ที่มาจากภาษีสินค้าส่งออก ยังสร้างให้เกิดรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย กระทรวงพาณิชย์จึงพยายามผลักดันและออกนโยบายส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง

เมื่อครั้งที่นครพนมยังไม่มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 คำว่า “เมืองซอยตัน” ถูกบรรจุอยู่ในพจนานุกรมของจังหวัดนี้ แต่หลังจากมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพ 3 เมื่อปี 2554 ความเปลี่ยนแปลงค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้น ทั้งในแง่มุมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ท่องเที่ยว รวมไปถึงการขยายตัวทางด้านอสังหาริมทรัพย์

ความเป็นไปนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันส่งผลให้เมืองพระธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เฉิดฉาย รวมไปถึงศักยภาพในการสร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น “เมืองซอยตัน” ในอดีตถูกกลบด้วยการเป็นฮับโลจิสติกส์ที่สำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

การท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม อุดมไปด้วยวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ยึดโยงกับความเชื่อ ความศรัทธา เป็นจุดแข็งที่สร้างเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเลือกเป็นจุดหมายปลายทางอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงกิจกรรม “หนึ่งคนว่ายหลายคนให้” จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ทว่าสร้างชื่อเสียงให้จังหวัด และก่อให้เกิดเม็ดเงินจำนวนไม่น้อย เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบตามรอยโตโน่ ภาคิน ในช่วงเวลาหลังจากนี้

แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนมที่สำคัญนอกจากวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ที่ผู้คนมักจะเดินทางไปเพื่อสักการะ นอกจากพระธาตุพนมแล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุนคร และแลนด์มาร์กสำคัญ ปัจจุบันจุดเช็กอินที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้ คือ ลานพญาศรีสัตตนาคราช ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงซึ่งจะมองเห็นทัศนียภาพของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว

การท่องเที่ยวจังหวัดนครพนมพยายามเร่งกอบกู้สถานการณ์การท่องเที่ยวอย่างเต็มกำลังหลังจากที่ประสบกับภาวะซบเซามาอย่างยาวนาน โดยการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงสองฝั่งโขง นครพนม สกลนคร แขวงคำม่วน (สปป.ลาว) มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเมืองชายแดน สร้างความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของ 2 ประเทศ นอกจากนี้ ยังมองไกลด้วยการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งมิติที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยเส้นทาง R12 ทำให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ 3 ประเทศภายใน 1 วัน

นอกจากความพยายามเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของเมืองริมสองฝั่งโขงเข้าด้วยกันแล้ว ยังชูโรงด้วยการท่องเที่ยวแบบวิถีคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสู่ความปกติวิถีใหม่

ดูเหมือนว่ากิจกรรมว่ายข้ามโขง แม้จะสร้างให้เกิดดราม่าอยู่บ้าง แต่ผลที่ได้ทั้งจำนวนเงินบริจาคที่จะจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลสองฝั่งโขง รวมไปถึงผลดีที่น่าจะเกิดกับภาคการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน ถือว่าคุ้มค่าทีเดียว.