วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > ท่องเที่ยวหลวงพระบาง กับทิศทางแห่งการพัฒนา

ท่องเที่ยวหลวงพระบาง กับทิศทางแห่งการพัฒนา

 
 
ข่าวการมาเยือนไทยครั้งแรกของ ดร.ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเข้ารับตำแหน่ง ได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและ สปป.ลาว แล้ว ยังมีการหารือทวิภาคีของผู้นำทั้งสองประเทศ ในโอกาสที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันที่มีอยู่เดิม และความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงนาม MOU ในเรื่องแรงงาน ซึ่งทางการไทยเน้นย้ำชัดเจนในเรื่องการดูแลแรงงานจากทุกประเทศเพราะแรงงานเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย 
 
นอกจากนี้ ดร.ทองลุนยังได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “สปป.ลาว สู่อนาคตการพัฒนา” ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และการปาฐกถาครั้งนี้มีนัยสำคัญที่น่าสนใจมากมาย เสมือนเป็นการประกาศแนวทางนโยบายในการบริหารประเทศให้สาธารณชนได้รับรู้และเข้าใจ 
 
“ลาวและไทยมีความสัมพันธ์อันดีอย่างยาวนาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผ่านขบวนการต่อสู้โดยสันติวิธี กระทั่งปัจจุบันมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ 7 เพื่อขยายการผลิตและส่งออกประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมา แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับดังกล่าวกลับได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมหภาคที่ถูกคุกคามจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ปัจจุบันกำลังสร้างแผนเศรษฐกิจที่ 8 โดยมีเป้าหมายให้ลาวก้าวออกจากประเทศด้อยพัฒนาเป็นประเทศกำลังพัฒนา ให้แล้วเสร็จในปีคริสต์ศักราช 2020 ภายใต้วิสัยทัศน์ในการทำให้ชีวิตประชาชนลาวดีขึ้น โดยรายได้มวลรวมประชาชน หรือ GDP (Gross National Income) และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จะต้องสอดคล้องหรือไม่ส่งผลกระทบแง่ลบต่อดัชนีความสงบสุขของคนในประเทศ (Global Peace Index, GPI) นั่นหมายความว่า ลาวจะพยายามพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมภายใต้ความสุขของประชาชน”
 
เมื่อพิจารณาจากนโยบายที่ ดร.ทองลุน เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งสองฉบับแล้ว ทำให้เห็นว่าแม้การเข้าร่วมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของลาวจะมาเป็นชาติสุดท้าย แต่ความพยายามสร้างโอกาสเพื่อให้ประเทศของตนเองทัดเทียมประเทศอื่นๆ นั้น ดูจะอุดมไปด้วยกลยุทธ์ ที่จับเอาจุดแข็งของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์
 
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยังมีแนวทางการพัฒนาชาติลาวในอนาคตต่อว่า ในปีคริสต์ศักราช 2025 ต้องการพัฒนา GDP ให้เติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ต่อคนต่อปี พัฒนาให้ประชาชนมีรายรับระดับปานกลาง ภายใต้การคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการด้าน Green and Smart Campus 
 
และในปีคริสต์ศักราช 2030 ลาวจะพัฒนาให้ก้าวสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีรายรับปานกลางและขยายนโยบายลงทุนร่วมกับนักลงทุนชาวต่างชาติมากขึ้น ความยากจนของประชาชนจะต้องถูกขจัดออกไป ทรัพยากรมนุษย์ต้องก้าวทันประเทศอาเซียน ปัจจัยหลักที่ทำให้ลาวประสบความสำเร็จได้ตามแผนพัฒนาคือต้องสร้างเสถียรภาพทางการเมือง สังคม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งด้านแรงงาน วิชาการ คุณภาพการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องสามัคคี ปรองดอง เคารพกฎหมายบนพื้นฐานประชาธิปไตย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการลงทุนกับต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังดังกล่าวนับเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่เชื่อว่าทำได้หากได้รับความช่วยเหลือและร่วมมือจากประเทศไทย
 
ทั้งนี้หากดูจากเป้าประสงค์ในการที่จะนำพาประเทศออกจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนา มาเป็นประเทศกำลังพัฒนานั้น นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่ลาวมีจะทำให้ลาวเป็นประเทศที่สามารถนำเอาพลังงานเป็นสินค้าส่งออกได้แล้ว
 
การท่องเที่ยวอาจจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของลาว รวมไปถึงการสร้างรายได้ของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเมืองที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ นครหลวงเวียงจันทน์ อันดับสองคือ หลวงพระบาง 
 
หลวงพระบางมีพรมแดนติดกับจังหวัดน่านของไทย โดยได้รับการสถาปนาความสัมพันธ์เป็นเมืองคู่แฝด ทั้งนี้หลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1995 สภาพเมืองที่แวดล้อมไปด้วยแม่น้ำทั้งสองสาย อย่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นผ่านวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย สถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลที่ยังคงไว้ซึ่งเรื่องราวความเป็นไปของการได้รับอิทธิพลจากยุคล่าอาณานิคม ทำให้ทั้งเมืองได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ไม่ใช่เพียงแค่จุดใดจุดหนึ่งของเมือง อย่างเช่นมรดกโลกแห่งอื่น
 
ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองหลวงพระบางจะไม่สามารถพัฒนารูปแบบของเมืองเกินขอบเขตที่ยูเนสโกกำหนด ซึ่งนับเป็นข้อดีอย่างหนึ่งในอันที่จะทำให้เมืองหลวงพระบางยังสามารถคงเสน่ห์ได้เป็นอย่างดี
 
นอกจากนี้บุญเที่ยง สุลิวัน ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมหลวงพระบาง และประธานสมาคมท่องเที่ยว ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในหลวงพระบาง จากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังหลวงพระบาง 500,000 คนต่อปี เป็น 700,000 คนต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2020 
 
ทั้งนี้เมื่อมองถึงศักยภาพในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปัจจุบันและในอนาคต หลวงพระบางมีโรงแรมตั้งแต่ระดับ 2-5 ดาวไว้รองรับจำนวน 76 แห่ง และเกสต์เฮาต์ 317 แห่ง 
 
อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวหลวงพระบางได้คือความสามารถในการเชื่อมโยง ประเทศใน GMS Corridors เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ด้วยเส้นทางที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางจากไทยไปยัง สปป.ลาวได้ นอกจากเส้นทางถนนจากด่านห้วยโก๋นผ่านเมืองเงิน และเมืองหงสา อ้อมไปทางเมืองไซยะบูลีตรงไปหลวงพระบาง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 232 กิโลเมตร 
 
แต่ภายใต้การพัฒนาเส้นทางเชื่อมระหว่างไทยกับ สปป.ลาว (จ.น่าน-แขวงหลวงพระบาง) เป็นโครงการในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ส่งผลให้จังหวัดน่าน และแขวงทางตอนเหนือของ สปป.ลาว มีการคมนาคมติดต่อกันสะดวกมากขึ้น 
 
โดยความร่วมมือจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ เนด้า ในการก่อสร้างถนนที่จะช่วยย่นระยะทางจากด่านห้วยโก๋น จ.น่าน ไปยังเมืองหลวงพระบาง จาก 5-6 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง ด้วยระยะทางเพียง 114 กิโลเมตร ซึ่งเป็นความช่วยเหลือในรูปแบบวงเงินกู้ 80 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1,581 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี (ปลอดหนี้ 10 ปี) และเงินให้เปล่า 20 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 395 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าหากเส้นทางนี้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่คาดไว้ในปี พ.ศ. 2561 น่าจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างสองเมืองนี้
 
นอกจากถนนที่จะกลายเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อทั้งสองเมืองเข้าไว้ด้วยกันแล้ว ยังมีความคาดหวังจากทางภาคส่วนของหลวงพระบาง ในกรณีการพัฒนาเส้นทางจากถนนหลักสู่หมู่บ้านของเมืองหงสา ทั้งนี้เพื่อคาดหวังการสร้างอาชีพหรือเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมสองข้างทาง ซึ่งอาจรวมไปถึงการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
 
กระนั้นในการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “โอกาสทางเศรษฐกิจของแขวงหลวงพระบาง” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และทางการแขวงหลวงพระบาง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายฝ่ายจะแสดงความเป็นห่วงต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวหลวงพระบางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 
ทั้งนี้บุญเที่ยง สุลิวัน แสดงทัศนะที่น่าสนใจว่า “เราเดินทางไปศึกษาเมืองมรดกโลกของประเทศต่างๆ เรียนรู้รูปแบบการจัดการ และนำกลับมาพัฒนา เพื่อสร้างให้เป็นจุดแข็งของหลวงพระบาง รู้ว่าอะไรเหมาะ หรือไม่เหมาะกับเรา และไม่ห่วงว่าหลวงพระบางจะถูกดูดกลืนวัฒนธรรมเมื่อความเจริญหลั่งไหลเข้ามา” 
 
นอกจากนี้ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมหลวงพระบาง ยังมีแนวทางนโยบายในการฝึกอาชีพเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ทั้งในด้านการฝึกอบรมแรงงานสำหรับการบริการ โดยได้รับความช่วยเหลือจากโรงแรมระดับ 5 ดาวที่เข้ามาลงทุน และปรับปรุงเส้นทางการท่องเที่ยวธรรมชาติที่หลวงพระบางมีอยู่ถึง 108 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 86 แห่ง สถานที่ประวัติศาสตร์อีก 34 แห่ง
 
อย่างไรก็ตาม หลวงพระบางยังต้องการความร่วมมือและความช่วยเหลือจากไทยหรือนักลงทุนในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เป็นสินค้าที่ระลึกที่มีอัตลักษณ์ของเมืองหลวงพระบาง  ซึ่งหลวงพระบางเองมีความพร้อมในด้านวัตถุดิบ และแรงงาน แต่ยังขาดประสบการณ์ในด้านนี้อยู่มาก
 
ปัจจุบันเมืองหลวงพระบางมีรายได้การท่องเที่ยว 43 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของหลวงพระบาง โดยรายได้ของประชาชนต่อคนต่อปี 1,532 ดอลลาร์สหรัฐ
 
อีกปัจจัยที่จะสามารถผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลวงพระบางให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ คือการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐ ที่เปิดกว้างในการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับประเภทธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถลงทุนได้ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ธุรกิจเกสต์เฮาต์ ที่ทางการหลวงพระบางสงวนไว้เฉพาะคนท้องถิ่นเท่านั้น หรือการเปิดบริษัทท่องเที่ยว จำเป็นที่จะต้องอยู่ในเงื่อนไขของการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับคนท้องถิ่น 
 
หลวงพระบางเป็นเมืองที่มีการพัฒนามากที่สุดในบรรดา 12 เมืองของแขวงหลวงพระบาง ซึ่งทำให้การลงทุนมีการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสำหรับสองปีแรกของการดำเนินธุรกิจ
 
ทั้งนี้ สิลิพอน สุพันทอง หัวหน้าแผนกแผนงานและการลงทุน ประจำแขวงหลวงพระบาง อธิบายเพิ่มเติมว่า “กฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนใช้มาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งขณะนี้กำลังประชุมสภาถึงการปรับปรุงกฎหมาย รวมไปถึงกฎหมายการลงทุนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า” 
 
อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวมของแนวทางการพัฒนาและความคาดหวังถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว โดยเฉพาะเมืองหลวงพระบาง ที่ดูจะมีทิศทางและนโยบายที่ชัดเจน 
 
ซึ่งหมุดหมายแห่งการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนก้าวย่างสำคัญในครั้งนี้ หากจะพิศมองอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่า ภาครัฐของ สปป.ลาว ให้ความสำคัญต่อการเป็นเมืองที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แม้จะมีความต้องการให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน 
 
หากเปรียบเทียบกับเมืองท่องเที่ยวของไทยอย่างจังหวัดน่าน ที่มีอาณาเขตติดกับเมืองหลวงพระบางที่กำลังประสบปัญหาการสูญเสียป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวน่านและผู้คนริมน้ำเจ้าพระยา หรืออำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ถูกวัฒนธรรมต่างถิ่นดูดกลืนวัฒนธรรมจนแทบไม่เหลือเค้าเดิมที่อาจบ่งบอกถึงรากเหง้าที่แท้จริง ซึ่งภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดูจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของรายได้ที่จะเกิดจากการท่องเที่ยวจนหลงลืมไปว่า อะไรที่ควรรักษาไว้ ซึ่งถึงแม้ว่าวันนี้แนวทางการพัฒนาที่กำลังปรากฏให้เห็น จะเต็มไปด้วยแรงแห่งการอนุรักษ์และคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ของสถานที่นั้นๆ กระนั้นอาจมีคำถามผุดขึ้นในใจว่า สายไปหรือไม่
 
หรือจะดีกว่า หากเรามองเมืองท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงอย่างหลวงพระบาง และนำเอาเยี่ยงอย่างกลับมาพัฒนา โดยไม่หลงตนไปว่าเราเป็นประเทศที่พัฒนาไปแล้ว