วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > ฝันของ Medical Hub กลางสมรภูมิอุตสาหกรรมยาไทย

ฝันของ Medical Hub กลางสมรภูมิอุตสาหกรรมยาไทย

 
 
ความเจ็บป่วยเป็นสิ่งธรรมดาของมนุษย์ และเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องพยายามหาทางแก้ไข บำบัด เพื่อความอยู่รอด ยาถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ 
 
ธุรกิจยาเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ และมีมูลค่าสูงถึงหนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี ทั้งนี้ได้แบ่งเป็นตลาดยาในโรงพยาบาลประมาณ 80% และเป็นตลาดร้านขายยา ประมาณ 20% โดยที่ตลาดโรงพยาบาลนั้นแบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 80% โรงพยาบาลเอกชน 20% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดยานั้นยังคงเน้นไปที่โรงพยาบาลรัฐเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการใช้รักษาโรคต่อเนื่อง เช่น ยาเบาหวาน  ยาความดันโลหิต ยาโรคหัวใจ เป็นต้น
 
ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งผู้ผลิตไทยและต่างชาติ ปัจจุบันบริษัทผลิตยาในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ บริษัทผู้ผลิตยาข้ามชาติ (MNCs หรือ Multinational Companies)  อาทิ ยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น และบริษัทยาที่ผลิตในประเทศ  ซึ่งส่วนมากจะเป็นยาสามัญทั่วไป ในขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาพบว่ายอดขาย 70% ของตลาดยามาจากบริษัทข้ามชาติเพราะมักจะเป็นยาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ มีพื้นฐานมาจากการวิจัยพัฒนา ซึ่งมีการนำเข้าก็มี 2 แบบคือ การให้ license และการเข้ามาเปิดบริษัทตัวเองในแต่ละประเทศซึ่งการเข้ามาเปิดบริษัทเองนั้นก็มีทั้งแบบที่เข้ามาบริหารการตลาดเองและที่ผ่านตัวแทนจำหน่าย
             
อุตสาหกรรมยาของไทยในภาพรวมยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในภูมิภาคอาเซียน โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ 5 ลำดับแรก ในไตรมาสนี้ยังคงเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่ เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ มีมูลค่าการส่งออกรวม 46.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 64.97 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด
 
ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ มีปริมาณการผลิตยาในประเทศรวมทั้งสิ้น 6,810.05 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.15 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.99 โดยมีจำนวนโรงงานตามฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 396 แห่ง 
 
ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ายามีการปรับตัวสูงเช่นกัน โดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย ซึ่งไทยมีการนำเข้ายาจากสองประเทศนี้ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัทผู้ผลิตยาไทย ไม่ว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งอย่างบริษัท สยาม ฟาร์มาซูติคอล, บริษัท เบอร์ลิน ฟาร์มาซูติคอล อินดัสตี้, บริษัทไทยนครพัฒนา บริษัทไบโอฟาร์ม เคมิคอล จำกัด เป็นต้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของภาครัฐ ที่กำหนดให้ซื้อในราคาที่ถูกที่สุดในยาชนิดเดียวกันเท่านั้น จึงเป็นอุปสรรคให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า
 
โดยเฉพาะอินเดีย ทั้งนี้เมื่อ 40 ปีก่อนอินเดียล้าหลังกว่าไทยเรื่องการผลิตยา แต่วันนี้อินเดียกลายเป็นแหล่งผลิตทั้งยาต้นแบบและยาสามัญในระดับโลก อินเดียได้ผันตัวเองจากที่เคยเป็นผู้นำเข้ายาและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศมารับบทบาทเป็นผู้ผลิตยาสามัญจากต้นแบบเอง และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งออกไปยังตลาดใหม่ อาทิ ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรปตะวันตก กลุ่มประเทศละตินอเมริกา และแอฟริกา
 
ในขณะที่การพยายามผลักดันให้ไทย เป็น  Medical Hub ในอาเซียน เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ดึงดูดให้บริษัทยาชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา และผู้ประกอบการจากยุโรปหลายรายสนใจเข้ามาขยายตลาดในประเทศไทย ด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อว่าจ้างให้ผลิตยาแทนการนำเข้า ซึ่งบริษัทที่เข้ามาลงทุนแต่ละรายจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท แต่ไทยยังมีข้อจำกัดในด้านการร่วมลงทุนค่อนข้างมาก เนื่องจากโรงงานผลิตยาที่ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของยุโรปมีเพียง 10-20% เท่านั้น จากทั้งหมดกว่า 140 บริษัท เช่น บริษัทไบโอฟาร์มฯ เป็นผู้ผลิตรายเดียวในไทยที่ได้มาตรฐานการผลิตยาระดับโลก EU GMP (PIC/S) ทำให้มีนักลงทุนจากยุโรปและสหรัฐฯ ติดต่อว่าจ้างให้ผลิตยา
 
โดยภาพรวมเมื่อยาสามัญโดยเฉพาะกลุ่มยาสามัญใหม่ที่ยาต้นแบบสิทธิบัตรหมดอายุจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายแข่งขันกันสูง ขณะที่ยาสามัญของไทยแม้จะไม่สามารถแข่งกับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในตลาดยาโลกได้ แต่ตลาดกลุ่มประเทศอเมริกาใต้และแอฟริกาที่ยังต้องการยาสามัญมีคุณภาพ และราคาถูกก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
 
นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตยาชื่อสามัญรายสำคัญในประเทศไทย คือองค์การเภสัชกรรม ซึ่งมีส่วนแบ่งค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในตลาดโรงพยาบาล มีส่วนแบ่งมากถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาในประเทศ กว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรมจำหน่ายผ่านช่องทางโรงพยาบาล ซึ่งส่วนมากจะจัดซื้อยาผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐโดยใช้ราคาเป็นเกณฑ์หลัก 
 
ความท้าทายหลักในอุตสาหกรรมยาของไทยประการหนึ่ง คือภาคอุตสาหกรรมนั้นมักจะแข่งขันในด้านราคา ทำให้องค์กรผู้ผลิตยาของรัฐเช่นองค์การเภสัชกรรม มีความได้เปรียบและได้สิทธิประโยชน์ในช่องทางการจัดจำหน่ายมากกว่าบริษัทผู้ผลิตเอกชนภายในประเทศ
 
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศมีความสําคัญกับชีวิตของคนไทยทุกคน และทวีความสําคัญมากขึ้นในกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤตฉุกเฉินที่ไม่อาจพึ่งพายานําเข้าจากต่างประเทศได้ นอกจากนั้นยังสร้างรายได้ให้กับประเทศ ด้วยการส่งออกยาไปจําหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย จึงเป็นที่มาของนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยคาดหวังว่า ไทยจะพึ่งพาตนเองด้านยาได้ตั้งแต่การวิจัยพัฒนายาใหม่เพื่อตอบสนองปัญหาของคนไทย การผลิตวัตถุดิบทางยาที่สําคัญได้เองสามารถผลิตและควบคุมคุณภาพยาที่ได้มาตรฐานสากล เป็นที่เชื่อมั่นของคนในชาติและต่างชาติจนสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกมากขึ้น ลดการนําเข้ายาจากต่างประเทศ เป็นผู้นําเทคโนโลยีด้านยาในภูมิภาคนี้ในที่สุด
 
จากการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาจากโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจวิเคราะห์คุณภาพตามโครงการประกันคุณภาพยา ในปี 2557 พบว่ายาที่ผลิตในประเทศไทยเกือบทั้งหมดมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้ปัญหาคุณภาพยามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนผู้ใช้บริการในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่าได้รับยาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน และกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนายาอย่างต่อเนื่อง
 
ไทยจะก้าวขึ้นเป็น Medical Hub ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ของผู้ผลิตทั้งไทยและเทศ ในตลาดยาที่มีมูลค่ามหาศาลนี้คงต้องติดตาม